ติดตามดูแลนักเรียนใกล้ชิดช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

ติดตามดูแลนักเรียนใกล้ชิดช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทุ่มเททำงานอย่างเข็งขันเพื่อต่อสู้ช่วยให้ประชาชนปลอดภัยแล้ว ในอีกมุมหนึ่งของสังคม คุณครู และ บุคลากรทางการศึกษาอีกจำนวนไม่น้อยก็กำลังทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้น​เพื่อติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงรอบด้าน

​โดยเฉพาะผลกระทบจาก COVID-19 ที่กำลังส่งผลรุนแรงในหลายมิติ ผู้ปกครองในหลายพื้นที่รายได้ลดลง หลายรายต้องตกงานขาดรายได้ กระทบต่อมาถึงปัญหาปากท้องของนักเรียน​บางครอบครัวต้องให้บุตรหลานหยุดเรียนออกมาช่วยทำงานหารายได้อีกทางหนึ่ง แม้เบื้องต้น กสศ​.จะมีเงินช่วยเหลือพิเศษในนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการส่วนเดียว ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ที่ความร่วมไม้ร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสู้กับความท้าทายที่อยู่ตรงหน้าในเวลานี้

ติดตามดูแลนักเรียนใกล้ชิด ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเสี่ยงหลุดจากระบบสูง

สาวิตรี สาและบู นักวิชาการศึกษา สพป. ปัตตานี เขต 2 เล่าให้ฟังว่า ​เดิมก่อนเกิดโควิดผู้ปกครองในพื้นที่ก็ต้องประสบปัญหาราคายางตกต่ำทำให้รายได้น้อยลง ทั้งคนที่มีสวนยางของตัวเอง และคนที่ไปรับจ้างกรีดยางเมื่อมีสถานการณ์​โควิดระบาดยิ่งทำให้เดือดร้อนหนักขึ้น บางคนที่เคยออกไปรับจ้างทำงานที่อื่นก็ไปไม่ได้ คนที่เคยออกไปทำงานมาเลเซียก็ตัวกลับมาไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้

“สถานการณ์ตอนนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กนักเรียนจะหลุดจากระบบการศึกษาสำหรับนักเรียนจบป.6 ขึ้นม.1 ก็อาจมีโอกาสหลุดน้อยกว่า แต่นักเรียนที่จบ ม.3 จะยิ่งมีโอกาสสูงกว่ามาก ทำให้ช่วงนี้เราต้องเริ่มติดตามดูนักเรียนว่ามีปัญหาอุปสรรคตรงไหน สำหรับผู้ปกครองที่เดือดร้อนจริงๆ แล้วส่งบุตรหลานเรียนต่อไม่ไหวก็ยังมีโรงเรียนประชารัฐ ที่เป็นโรงเรียนกินนอนที่จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มีระบบช่วยติดตามทำให้ลงไปดูแลเด็กนักเรียนได้สะดวกขึ้น​” สาวิตรีกล่าว

เมื่อเด็กมา รร.ไม่ได้ ครูต้องลงไปหาเด็กเอง ปรับการสอนให้ยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์

ไม่ต่างจาก เยาวลักษณ์ เที่ยงกระโทก นักวิชาการศึกษา สพป. กาญจนบุรี เขต 3 ที่อธิบายสถานการณ์ในพื้นที่ว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดทำให้เด็กที่เป็นเด็กช่วงรอยต่อข้ามแดนกลับมาเรียนไม่ได้จำนวนมาก ก่อนหน้านี้เด็กหลายคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งประเมินแล้วปีนี้น่าจะมียอดนักเรียนที่ออกกลางคันมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งครูทั้งเขตพื้นที่ต้องร่วมกันทำงานอย่างหนักเพื่อสกัดไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“ทั้งครู ทั้งเขตพื้นที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างหนักยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องมีการปรับตัว ในหลายด้านทั้งเรื่องกระบวนการเรียนการสอน จากเดิมที่เด็กต้องมาโรงเรียนทุกวัน บางคนมาไม่ได้เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงานเพราะรายได้ไม่พอ เราก็ต้องหาวิธีที่มียืดหยุ่น เช่น ถ้าเด็กมาโรงเรียนไม่ได้ครูก็ต้องลงไปหาเด็กเอง เอาแบบฝึกไปให้เขา เอาใบงานไปให้เขาแล้วเช็คเวลาเรียนให้เขา ซึ่งการัดการเรียนการสอนมีหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถออกแบบให้กับเด็กที่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน”​

ระบบสารสนเทศช่วยติดตามเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่นเดียว กับ อำนาจ กิจเดช เจ้าหน้าที่ ICT สพป.เชียงใหม่เขต 6 กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดในพื้นที่ตอนนี้ ในแง่ของสุขภาพไม่น่าเป็นห่วงมากนักเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล  แต่ในมุมของเศรษฐกิจผู้ปกครองหลายคนได้รับผลกระทบรุนแรง รายได้ลดลง ทั้งสินค้าเกษตรที่ขายได้ลดลง เพราะไม่มีคนสั่ง คนที่เคยออกไปรับจ้างช่วงนี้ก็ไม่มีคนจ้าง กระทบถึงเงินที่มาใช้จ่ายในครอบครัว อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำเป็นต้องลงไปช่วยติดตามดูแลนักเรียนในช่วงนี้

“ยิ่งปัจจุบันมีระบบสารสนเทศที่ดีทำให้สะดวกกับครูที่จะลงไปติดตาม ดูว่าใครมีความสุ่มเสี่ยง ทั้งข้อมูลการมาเรียน ทำให้รู้ว่านักเรียนคนไหนขาดหายไปนานเกินไป ต้องไปติดตาม หรือข้อมูลอื่น ๆ ทั้งน้ำหนักส่วนสูง ทำให้สามารถวางแผนช่วยเหลือนักเรียนได้ง่าย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ที่มีข้อมูล หน่วยงานต้นสังกัด ครู ผู้บริหาร เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนในสถานการณ์นี้”  อำนาจกล่าว

ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กช่วยเหลือรวดเร็วทันท่วงที

สำหรับ วิภาดา ผ่านชมภู ครูชำนาญการ โรงเรียนผาสุกประชานุกูล จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตั้งแต่การระบาดของโควิดรอบแรกผู้ปกครองได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง หลายรายที่ไปทำงานในเมืองต้องหยุดงานและกลับมาอยู่บ้าน หางานรับจ้างทำในพื้นที่ไปเรื่อยๆ บางวันก็มีงาน บางวันก็ไม่มีงาน ทำให้รายได้ที่เคยมีลดลง กระทบกับกับความเป็นอยู่ของครอบครัว บางคนต้องย้ายลูกจากโรงเรียนในเมืองกลับมาเรียนโรงเรียนแถวบ้าน

“ครูต้องช่วยกันดูแลให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ เทอมที่ผ่านมามีเด็กย้ายจากโรงเรียนในเมืองกลับมาเรียนที่บ้าน ครูก็รีบลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านสำรวจคัดกรองเข้าระบบ ทำให้ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. ได้ทันเวลา ทำให้เด็กๆ สามารถมีเงินไปโรงเรียน มีค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งครูเองก็ต้องพยายามสอดส่องดูแลเด็กๆ ว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไรเพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที” วิภาดากล่าว