แนะแนวทางเปิดสถานศึกษาทั่วสหรัฐฯ เตรียมความพร้อมปกป้องความปลอดภัยเด็กนักเรียน
โดย : Dr. Nathan Chomilo, Chelsea Clinton, Dr. Judith Guzman-Cottrill, and Dr. Neil A. Lewis, Jr.
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

แนะแนวทางเปิดสถานศึกษาทั่วสหรัฐฯ เตรียมความพร้อมปกป้องความปลอดภัยเด็กนักเรียน

ชวนส่องแนวทางการเปิดสถานศึกษาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องเร่งปรับตัวเตรียมความพร้อมครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายไม่เพียงแค่เตรียมความพร้อมรอต้อนรับเด็กกลับมาเรียนหนังสือเพิ่มเติมความรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่เด็กได้รับการปกป้อง ให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถยืนหยัดเผชิญหน้ากับสังคมในปัจจุบันและอนาคตได้

แม้วิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 จะสร้างความเสียหายในทุกมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ทว่า แรงกระแทกที่เกิดขึ้นกลับส่งผลต่อแต่ละกลุ่มคนในสังคมแตกต่างกัน โดยกลุ่มคนยากจนและกลุ่มคนด้อยโอกาสคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้มีรายงานว่าชาวอเมริกันหลายล้านคนกลายเป็นคนยากจน ไร้บ้าน และสูญเสียความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัว

ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ บรรดาเด็กวัยเรียน เยาวชน และวัยรุ่นทั่วสหรัฐฯ ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวรายได้น้อยและเด็กในกลุ่มผิวสี ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับเด็กก็คือ ประเด็นการศึกษาเล่าเรียนนั่นเอง

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ เด็กนักเรียนมากกว่า 55 ล้านคนจึงไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ และต้องหันไปเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลเพื่อความปลอดภัย กระนั้น ก็ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าการเรียนทางไกลช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังกลับกลายเป็นว่าการเรียนออนไลน์ยิ่งทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากว้างมากขึ้น 

สาเหตุเพราะนักเรียนแต่ละคนไม่เพียงอยู่ในเงื่อนไขที่จะเรียนออนไลน์ได้เท่ากันเท่านั้น แต่การที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ยังทำให้เด็กได้รับสวัสดิการพื้นฐานจากรัฐไม่เท่ากันตามไปด้วย หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ต้องฉีดตามช่วงวัย เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น

แน่นอนว่า เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดได้ตามปกติในปี 2021 นี้ แม้จะยังคงมีรายงานการระบาดของโควิด-19 อยู่ก็ตาม เนื่องจากอย่างน้อยสถานการณ์ในขณะนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี: CDC) ได้เรียนรู้แนวทางการป้องกันการระบาด ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสม การรักษาความสะอาดและสุขอนามัย รวมถึงการเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้ออย่างสะดวกและสม่ำเสมอ

ดังนั้น เพื่อให้การเปิดโรงเรียนและให้เด็กนักเรียนทั่วสหรัฐฯ กลับมาเรียนที่ห้องเรียนอย่างวางใจและมั่นใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากสถาบันบรู๊กกิงส์ (Brookings) แนะนำว่า บรรดานักการศึกษาและผู้มีสิทธิ์กำหนดนโยบายและแนวทางการศึกษาของโรงเรียน ควรคำนึงถึงปัจจัย 4 ข้อ เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ซึ่งจะช่วยปกป้องเด็กจากโควิด-19 และหลีกห่างจากการเป็นแหล่ง “คลัสเตอร์” ระลอกใหม่ ได้ดังนี้

ปัจจัยข้อแรก
การร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกซึ่งช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างเท่าทัน ทั้งนี้เพื่อปกป้องนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนนั่นเอง โดยโรงเรียนควรร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขตรวจสอบอัตราการฉีดวัคซีนและสถิติการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน รวมถึงค้นหาสถิติอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น สถิติการเข้าถึงวัคซีนตัวอื่นที่ฉีดเป็นประจำทุกปี (นอกเหนือจากวัคซีนโควิด-19) หรือติดตามผลกระทบของโควิด-19 ต่อนักเรียนและเจ้าหน้าที่ ว่ามีกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ข้อมูลที่รวบรวมได้เหล่านี้จะช่วยให้โรงเรียนจัดการปัจจัยข้ออื่น ๆ ด้านล่างได้ดีขึ้น

ปัจจัยข้อที่สอง
การบังคับใช้มาตรการเพื่อสุขภาพตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยของซีดีซี (CDC) อย่างเคร่งครัด โดยนอกจากความจำเป็นที่ต้องบังคับเด็กให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายรั้วโรงเรียนแล้ว ทางโรงเรียนยังต้องร่วมมืออย่างแข็งขันกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้คัดแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาได้ทันที และดำเนินมาตรการกักตัวเพื่อลดระดับความรุนแรงของการแพร่เชื้อได้ทันการณ์ 

นอกจากนี้ เมื่อมีนักเรียนมารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 โรงเรียนอาจจะใช้โอกาสนี้ช่วยให้เด็ก (ที่อายุถึงเกณฑ์) รวมถึงครอบครัว ได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน (หากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน) โดยโรงเรียนสามารถช่วยอธิบายขั้นตอนการลงทะเบียนและการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองที่สนใจได้ อีกประเด็นที่ควรใส่ใจคือ ควรเตรียมข้อมูลไว้สื่อสารในหลากหลายภาษา เพราะบางพื้นที่ของสหรัฐฯ มีผู้คนหลายเชื้อชาติหลากภาษาอาศัยอยู่

ปัจจัยข้อที่สาม
หากเป็นไปได้ ก็ให้อำนวยความสะดวกในการฉีดวัคซีนที่โรงเรียน ซึ่งตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า อุปสรรคเชิงโครงสร้างเป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสยังคงไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถช่วยขจัดอุปสรรคเหล่านี้ได้โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อรณรงค์ให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง รวมถึงควรหาทางรณรงค์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้นักเรียนและผู้เกี่ยวข้องได้เข้าถึงวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่ฉีดตามปกติในรอบปีด้วย

โรงเรียนควรตระหนักว่า โรงเรียนไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับให้นักเรียนได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อสร้างชุมชนและเติบโตไปด้วยกัน กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานกีฬาสีหรือกิจกรรมศิลปะการแสดง อาจเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

และปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงประการที่สี่
แม้จะกลับมาเปิดรั้วโรงเรียนตามปกติแล้ว แต่โรงเรียนควรคงทางเลือกในการเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แม้การเปิดโรงเรียนจะสำคัญ แต่ต้องตระหนักว่ายังมีนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่อาจไม่พร้อมมาโรงเรียน หรือมีความเปราะบางทางการแพทย์ จนเป็นอุปสรรคต่อการมาเรียนได้ โรงเรียนไม่ควรละเลยคนเหล่านั้น หรือผลักไสให้อยู่ในสถานะชั้นสองที่ได้รับประสบการณ์การศึกษาที่ด้อยกว่าได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การศึกษาในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนจำนวนมากมีประสบการณ์และองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับการสอนทางไกล ดังนั้นโรงเรียนควรทำอย่างดีที่สุดเพื่อส่งมอบการสอนที่มีคุณภาพแก่ผู้ที่ไม่สามารถมาเรียนได้ด้วยตนเอง โดยนี่ถือเป็นหัวใจและองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของแนวคิดการศึกษาอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ระบบสังคมเชื่อมโยงกันอย่างไร และระบบในวงกว้างเหล่านั้นส่งผลต่อการทำงานของสังคมในวงกว้างและผู้คนภายในสังคมอย่างไร ดังนั้นโรงเรียนจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สนับสนุนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์คนหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาให้คำแนะนำปิดท้ายว่า โรงเรียนต้องยอมรับและให้ความสำคัญกับสุขภาพเท่า ๆ กับการให้ความสำคัญด้านความเท่าเทียมทางการศึกษา และใช้บทเรียนในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ปลอดภัย เท่าเทียม และเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่ทุกคนมากขึ้น


หมายเหตุ : ขอชี้แจงแก่ผู้อ่านว่า ข้อเสนอที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นการกล่าวถึงโดยอิงบริบทสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยในสหรัฐฯ นั้น วัคซีนโควิด-19 ถูกกระจายอย่างทั่วถึง แต่ประชาชนบางส่วนอาจเลือกปฏิเสธการฉีดวัคซีนด้วยปัจจัยความเชื่อหรือปัจจัยอื่น ๆ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ


ที่มา : How schools can protect our children and their future when reopening