กูรูแจงเบื้องหลังทำไมเด็กเกลียดโรงเรียน ชี้ “ความโดดเดี่ยว” และ “ความน่าเบื่อ” คือปัญหาหลัก
โดย : Arthur C. Brooks
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กูรูแจงเบื้องหลังทำไมเด็กเกลียดโรงเรียน ชี้ “ความโดดเดี่ยว” และ “ความน่าเบื่อ” คือปัญหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการพฤติกรรมและแนวทางการดำเนินชีวิตเผยรายงานการศึกษา พบ “ความโดดเดี่ยว” ที่นักเรียนประสบพบเจอในโรงเรียนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบโรงเรียน จนพานไม่อยากไปเรียนหนังสือหรือทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมใดๆ กับโรงเรียน และเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กเกลียดโรงเรียนมากกว่าการต้องเรียนหนักหรือทำการบ้านเยอะๆ เสียอีก ทั้งนี้ความโดดเดี่ยวในโรงเรียนถือเป็นปัจจัยหลักให้เด็กหมดความสนใจจนไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่อีกต่อไป

อาเธอร์ ซี. บรูกส์ (Arthur C. Brooks) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ “How to Build a Happy Life” (วิธีการสร้างชีวิตเปี่ยมสุข) ได้เขียนรายงานพิเศษว่าด้วยการรวบรวมข้อมูลการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยตอบคำถามพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงกระตุ้นให้คุณครูและสถาบันการศึกษาตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่อยากไปโรงเรียน หรือเกลียดโรงเรียน ว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่ว่าเด็กๆ ไม่อยากเรียนหนังสือแต่อย่างใด เพราะแม้เด็กจะขยาดกับการเรียนหนักและต้องทำการบ้านเยอะ แต่ปัจจัยเพียงเท่านี้ไม่สามารถทำให้เด็กเกลียดโรงเรียนได้

แน่นอนว่า เด็กๆ ต่างรู้ดีว่าการไปโรงเรียนมีประโยชน์ต่ออนาคตของตนเอง โดยมีงานวิจัยหลายชิ้น รวมถึงงานวิจัยในปี 2015 ของ อีริคช์ สไตรส์นิก (Erich Striessnig) นักวิจัยชาวออสเตรีย ซึ่งศึกษาข้อมูลประชากรใน 85 ประเทศทั่วโลก พบว่า คนที่จบการศึกษาจากชั้นมัธยมปลายมีความสุขมากกว่าคนที่เรียนไม่จบ โดยการวัดความสุขนี้ได้ตัดเรื่องปัจจัยด้านรายได้ออกไป ขณะที่คนซึ่งเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยมีระดับความสุขมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 30%

เหตุผลเพราะการเรียนรู้นั้นกระตุ้นอารมณ์เชิงบวกขั้นพื้นฐานที่ทรงพลัง นั่นคือ “ความสนใจ” โดยแคร์รอลล์ ไอซาร์ด (Carroll Izard) นักวิจัยด้านอารมณ์ ให้นิยาม “ความสนใจ” ไว้ว่า คือ “แรงจูงใจหลักที่ทำให้คนเราอยากมีส่วนร่วมสร้างสรรค์และปลุกปั้นบางสิ่งเพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดี”

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า การที่คนเราสามารถเข้าถึงไอเดียและแหล่งความรู้ จะทำให้คนคนนั้นมีเครื่องมือในการสร้างความสุขอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผู้ใหญ่จะพยายามปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือ เนื่องจากการอ่านเป็นการเสริมสร้างความรู้ที่จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติหรือมุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อโรงเรียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับความสุขที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง ทั้งนี้งานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และความสุขเผยให้เห็นว่า ความรู้สึกของเด็กเกี่ยวกับโรงเรียนไม่เกี่ยวข้องกับอายุ เชื้อชาติ หรือภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ขึ้นอยู่ ปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการคือ มิตรภาพและความสนใจ (friendship and interest) เป็นหลัก

ในการสำรวจนักเรียนมัธยมปลายชาวอเมริกันกว่า 21,000 คนในปี 2020 พบว่า ความรู้สึก 2 อันดับแรกที่นักเรียนบอกว่า มักจะเผชิญที่โรงเรียนคือ “ความเครียด” (79.8%) และ “ความเบื่อหน่าย” (69.5%) มีเพียงบางคนเท่านั้นที่มีมุมมองเชิงบวกต่อโรงเรียน เช่น ความภาคภูมิใจและความร่าเริง แต่โดยรวมแล้วเกือบ 75% ระบุความรู้สึกของตนเองที่มีต่อโรงเรียนไปในทางลบ

บรูกส์อธิบายว่า ประเด็นน่าสนใจที่ค้นพบจากงานวิจัยคือ 80% ของเด็กที่ไม่ชอบโรงเรียน ไม่เพียงเป็นเพราะมีการบ้านเยอะเกินไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต้องเผชิญภาวะโดดเดี่ยวขั้นสุด ซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวนำไปสู่ความเบื่อหน่าย หงอยเหงา ไม่กระตือรือร้น กระทั่งทำให้เด็กถอยตัวเองออกมา และมีมุมมองเชิงลบต่อการเข้าสังคม

กล่าวได้ว่า ความโดดเดี่ยวเป็นตัวพิฆาตหรือบั่นทอนความสนใจที่เด็กๆ มีต่อโรงเรียนก็ไม่นับว่าเกินจริงแม้แต่น้อย

ในทางกลับกัน “มิตรภาพหรือเพื่อน” ที่โรงเรียนกลายเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงมุมมองและพฤติกรรมเชิงบวกของนักเรียนที่มีต่อโรงเรียน โดยบริษัทแกลลัพ (Gallup) ซึ่งสำรวจประเด็นนี้ในนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5 และมัธยมศึกษาปีที่ 5 พบว่า การมีเพื่อนสนิทที่โรงเรียนถือเป็นปัจจัยที่ช่วยบ่งชี้ความรู้สึกของเด็กต่อโรงเรียนได้ ว่าพวกเขาจะรู้สึกเชิงบวกหรือลบต่อการมาโรงเรียน

ขณะเดียวกัน การศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเลม มหาวิทยาลัยวอร์วิก และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่มี “เพื่อนสนิท” หรือคู่ซี้ที่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับในความสัมพันธ์นั้นอย่างเท่าเทียม มีแนวโน้มที่จะสนุกกับการไปโรงเรียนและประสบความสำเร็จในห้องเรียนมากขึ้น

ทั้งนี้ หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดความเหงาหรือโดดเดี่ยวในโรงเรียนยังคงเป็นปัญหาเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ซึ่งข้อมูลจากศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (National Center for Education Statistics) พบว่า 20.2% ของเด็กนักเรียนอเมริกันอายุระหว่าง 12-18 ปี ต้องเผชิญกับการถูกรังแกในโรงเรียน โดยการรังแกครอบคลุมตั้งแต่การทำร้ายร่างกายไปจนถึงการทำร้ายคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

ยิ่งไปกว่านั้น การรังแกยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียนจบของเด็กคนหนึ่งตามมา เพราะเด็กไม่มีความปรารถนาที่จะตั้งใจเรียนในห้องเรียน กระทั่งกลายเป็นการขาดเรียนในที่สุด

บรูกส์เตือนว่า สถานการณ์ความเหงาของเด็กมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เมื่อในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เด็กนักเรียนต้องต่อสู้กับความเหงาที่ทำให้ตนเองต้องแยกตัวจากห้องเรียนและเพื่อนฝูง ตลอดจนต้องหยุดเรียนเพราะโควิด-19 ระบาด โดยการสำรวจในปี 2020 ของ Common Sense Media พบว่า 42% ของนักเรียนวัยรุ่นรู้สึก “เหงามากกว่าปกติ”

แบบสำรวจเดียวกันนี้ยังพบว่า วัยรุ่นเกือบ 1 ใน 4 หรือ 24% กล่าวว่า ตนเองติดต่อกับครูประจำชั้นน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง หลายคนใช้เวลาเรียนมัธยมปลายในช่วงที่ผ่านด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายและหงอยเหงา บางรายรุนแรงถึงขนาดหมดใจที่จะไปรับประกาศนียบัตรสำเร็จหลักสูตรการศึกษา   

“หากเราต้องการช่วยให้เด็กได้รับความสุขจากการศึกษาในระยะสั้นและระยะยาว เราต้องเตรียมทรัพยากรเพิ่มเพื่อเอื้อต่อการสานต่อมิตรภาพ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะแก้ปัญหาทั้งความเหงาและความเบื่อหน่ายได้” บรูกส์ระบุ ก่อนชี้ให้เห็นว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการทำให้เกิดมิตรภาพได้ง่ายขึ้นสำหรับนักเรียนทุกคนอยู่มากมาย

สำหรับแนวทางเริ่มต้นในการสร้างโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่มีความสุขก็คือการจัดการกับกรณีกลั่นแกล้งรังแกอย่างเด็ดขาด โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โครงการที่ทำงานเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนสามารถลดปัญหาได้ประมาณ 20% ทั้งนี้ครูกับเจ้าหน้าที่ทั้งหลายไม่ควรทำตัวเป็นฝ่ายอยู่นิ่งเฉยโดยหวังให้ปัญหาคลี่คลายไปเอง เพราะกลยุทธ์ในการจัดการกับการกลั่นแกล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการไม่เพิกเฉยต่อปัญหาและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา

ขณะเดียวกัน ต้องเปิดโอกาสและพื้นที่ให้นักเรียนเจอเพื่อนและก่อร่างสร้างมิตรภาพระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบทางไกลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถทดแทนการสร้างสายสัมพันธ์ฉันเพื่อนได้เหมือนกับการพบปะเจอหน้า ซึ่งจะช่วยขจัดความเหงาและเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีได้ หากครูและเจ้าหน้าที่ไม่หาวิธีที่จะทำให้โรงเรียนเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ความทุกข์ทรมานของเด็กก็จะยิ่งทวีคูณ ทั้งนี้สถานการณ์ความห่างเหินระหว่างเด็กๆ นั้นมีมาก่อนโควิด-19 จะระบาดอยู่แล้ว เนื่องจากเด็กอเมริกันจำนวนไม่น้อยใช้เวลากับหน้าจอมือถือ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กีดขวางการผูกมิตรกับเพื่อนใหม่นั่นเอง

ทั้งนี้ การหาเพื่อนคือความท้าทายสำหรับคนทุกเพศทุกวัยเสมอ ซึ่งสำหรับเด็ก (หรือผู้ใหญ่) ที่ต้องการแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการหาเพื่อนใหม่ บรูกส์ได้หยิบยกงานวิจัยล่าสุดบางฉบับที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์พอสมควร โดยข้อมูลบ่งชี้ว่า การชื่นชมผู้อื่นอย่างเปิดเผย (พยายามสังเกตและมองหาข้อดีของคนนั้น) และการหยอกล้อ (เช่น ร่วมหัวเราะกับผู้อื่น) เป็นวิธีที่ดีในการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์

“แต่ในฐานะของคนคนหนึ่ง สามัญสำนึกมักจะเป็นตัวบอกให้เรารู้ว่าเราจะสามารถหาเพื่อนได้อย่างไร เพียงแต่ครูจำเป็นต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ความรู้สึกพื้นฐานเหล่านี้ อาจจะยกตัวอย่างในหนังสือ How to Win Friends and Influence People (วิธีเอาชนะใจเพื่อนและจูงใจผู้คน) ที่เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) อาจารย์และนักเขียนชื่อดังได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1936 ก็ได้ โดยในหนังสือคลาสสิกเล่มนั้น คาร์เนกีได้เอ่ยถึงข้อปฏิบัติ 37 ข้อที่คนทั่วไปนำไปฝึกได้ เช่น การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยความเคารพ และเต็มไปด้วยความรัก ซึ่งการนำหนังสือที่เต็มไปด้วยเทคนิคเข้าสังคมมาสอนเด็ก อาจทำให้เด็กๆ สนุกกับการหาเพื่อนและเข้าสังคมได้มากขึ้น”

บรูกส์ย้ำว่า โรงเรียนยังคงต้องเป็นสถานที่ให้ความรู้และทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อเด็ก รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เด็กค้นพบว่าตนเองชอบและไม่ชอบอะไร แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนหรือเลิกเรียนกลางคัน

ด้วยมิตรภาพที่มากขึ้น นักเรียนจะพบกับความสุขและเพิ่มพูนความสนใจได้มากขึ้น ซึ่งอาจเปลี่ยนความทุกข์ยากจากการเรียนหนักให้กลายเป็นเพียงเรื่องน่ารำคาญเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากโรงเรียนสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าสนุกและเต็มไปด้วยมิตรภาพได้จริง ในท้ายที่สุดเด็กก็จะรักการมาเรียนหนังสือ และจะทำให้พวกเขาได้รับประโยชน์จากการการศึกษา ทั้งในเชิงความรู้และความสุขในชีวิต ตามที่งานวิจัยของสไตรส์นิกได้เสนอไว้นั่นเอง

ที่มา : The Real Reason Kids Don’t Like School
เครดิตภาพ : grandbrothers / Shutterstock.com