บทเรียนจากโควิด-19 เมื่อการระบาดกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ปฏิรูปการศึกษา ทว่าการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงยังคงเป็นเรื่องยาก
โดย : The Economist
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

บทเรียนจากโควิด-19 เมื่อการระบาดกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ปฏิรูปการศึกษา ทว่าการลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงยังคงเป็นเรื่องยาก

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส และในทุกหายนภัยที่เกิดขึ้น แม้มีความสูญเสีย แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ 

ย้อนไปในอดีต ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจสั่งยกเลิกการเก็บค่าเทอมชั่วคราวและขยายเวลาการศึกษาภาคบังคับ เพื่อแบ่งเบาภาระของบรรดาแม่ม่าย เช่นเดียวกับเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรัฐนิวออร์ลีนส์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพลิกวิกฤตครั้งนั้น  ด้วยการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่  ส่งผลให้ 9 ปีต่อมา อัตราการจบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9 – 13%

แม้ว่าการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้จะทำให้เกิดภาวะชะงักงัน (ดิสรัปชั่น) ทางการศึกษาทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่บรรดานักการศึกษาและนักปฏิรูปทั้งหลายต่างคาดหวังว่า ภาวะชะงักงันรุนแรงในครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกับหลายๆ โรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความเป็นธรรมเท่าเทียมมากขึ้น

ผลการศึกษาของ McKinsey พบว่าช่วงกลางเดือนเมษายน ปี 2020 มากกว่า 90% ของนักเรียนนักศึกษาทั่วโลกไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้ และการปิดโรงเรียนนานร่วมหลายเดือนเป็นภัยคุกคามต่อการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก

ขณะที่บรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาในปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มแยกผู้เรียนตามช่วงวัยที่เหมาะสม กระนั้นรูปแบบการสอนของโรงเรียนก็ยังคงเป็นแบบธรรมเนียมนิยมที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพด้วยคะแนนสอบ และพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่ต้องอยู่ในระเบียบวินัย 

ดังนั้นเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งใหญ่เปิดฉากขึ้น หลายฝ่ายจึงตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาของหลายประเทศ รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วที่เชื่อกันว่ามีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพที่สุด เนื่องจากคะแนนการทดสอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) พบว่า เด็กในประเทศร่ำรวยเหล่านี้ยังคงมีผลคะแนนไม่แตกต่างจากที่เคยทำไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่การปฏิรูปการศึกษาสมควรที่จะทำให้เด็กเหล่านี้สามารถทำคะแนนการทดสอบได้ดีขึ้น แถมการใช้จ่ายงบประมาณทางการศึกษาต่อเด็กหนึ่งคนก็สูงมากขึ้นกว่าอดีต แต่จนแล้วจนรอดประสิทธิภาพการเรียนของเด็กกลับไม่ต่างจากเดิม และมีแนวโน้มแย่ลงเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือผลการสำรวจของ Gallup ในปี 2017  ที่พบว่า เด็กส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อหน่ายห้องเรียน และมีเพียง 1 ใน 3 ของเด็กมัธยมอเมริกันที่รู้สึกว่ามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนที่ตนเรียนอยู่

ทั้งนี้ไวรัสโควิด-19 และการปิดโรงเรียนส่งผลให้ครูจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปดำเนินการเรียนการสอนทางไกลโดยปริยาย สิ่งที่ครูต้องทำภายในเวลาไม่กี่วัน มีตั้งแต่การจัดการแพลตฟอร์มการสอนออนไลน์ด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ และปรับหลักสูตรการสอนที่ใช้กันอยู่ โดยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศตัดสินใจยกเลิกการสอบ ขณะที่โรงเรียนในสหรัฐฯ ยกเลิกการให้คะแนนทั้งหมดทุกวิชาในภาคการศึกษาบางเทอมของปี 2020 แล้วเปลี่ยนใช้ระบบ “ผ่าน” กับ “ไม่ผ่าน” แทน 

การเรียนออนไลน์ไม่เพียงแต่ทำให้ครูต้องปรับตัวแบบฉับพลันเท่านั้น สำหรับตัวเด็กนักเรียนเองก็ต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ย่ำแย่เกินทนไม่ต่างกัน โดยครอบครัวส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ให้นิยามการเรียนออนไลน์ว่าอยู่ระหว่างหายนะกับความผิดหวัง 

จัสติน ไรค์ (Justin Reich) จากห้องแล็บปฏิบัติการระบบการสอนของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้รวบรวมข้อมูลผลการสอนออนไลน์จากทั่วโลกพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วเด็กส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ได้น้อยกว่าปกติที่เรียนในห้องเรียนทั่วไป ซึ่งจนถึงเดือนมีนาคมปี 2021 นักเรียนโรงเรียนประถมในอังกฤษเรียนล้าหลังไป 3 เดือน เช่นเดียวกันกับผลการสอบของเด็กเบลเยียมเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ส่วนการศึกษาของนักเรียนในเนเธอร์แลนด์พบว่า ระหว่าง 8 สัปดาห์ของการเรียนออนไลน์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 พบว่าเด็กนักเรียนไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แต่อย่างใด 

เด็กๆ กลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุด โดยผลการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ยังพบอีกว่า ภาวการณ์สูญเสียการเรียนรู้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 50% สำหรับครอบครัวที่มีพ่อแม่ความรู้น้อย ขณะที่จนถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เด็กอายุ 8 – 9 ปีในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐฯ มีผลการเรียนภาษาอังกฤษถดถอยประมาณ 3 ส่วนของส่วนที่ต้องเรียนในหนึ่งปี เมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนที่เคยเรียนมาก่อนหน้า แถมผลการสอบของนักเรียนผิวสียังลดต่ำลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับเด็กผิวขาว

ปัจจุบัน แนวทางการสอนของโรงเรียนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่ต่างอะไรกับแม่นกที่คอยป้อนอาหารให้ลูกนกตลอดเวลา อีกทั้งยังสอนเป็นระบบเดียวกันหมดให้กับนักเรียนทุกคน มองข้ามอัตลักษณ์ตัวตนของเด็กคนนั้น ดังนั้นระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้เอื้อที่จะทำให้นักเรียนคนหนึ่งเจริญเติบโตได้ตามแนวทางศักยภาพของตนเองที่ควรจะเป็น ซึ่งน่าจะถึงเวลาที่ต้องเกิดการปฏิรูปทั้งระบบทั่วประเทศ

โควิด-19 สู่การจัดระบบโรงเรียนใหม่

การปิดโรงเรียนทำให้หลายฝ่ายตระหนักดีว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนมีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก ผลการสำรวจในหลายประเทศพบว่าหลังจากที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เยาวชนประสบปัญหารอบด้าน ไม่เฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น โดยในอิตาลี เด็กเหล่านี้กินอาหารโภชนาการต่ำ และอีกหลายประเทศมีรายงานเด็กถูกล่วงละเมิด คุกคามหรือถูกทำร้ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากครู ผู้เป็นคนแรกที่มักตรวจพบความผิดปกติของเด็ก ไม่ได้อยู่ในภาวะที่จะสังเกตหรือเข้าถึงตัวเด็กได้ 

โยชินางะ ซากุระ ครูมัธยมต้นในเมืองนูมาซุ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า เมื่อโรงเรียนปิด เด็กจะถูกทิ้งให้อยู่บ้านเพียงลำพัง เพราะพ่อแม่ยังต้องออกไปทำงาน ซึ่งครูซากุระเชื่อว่าความโดดเดี่ยวที่ต้องเผชิญเป็นสาเหตุให้เด็กคิดทำร้ายตัวเองมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ยวน มอร์ตัน (Euan Morton) ครูมัธยมปลายในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า นักเรียนบางคนไม่อาจรับมือกับการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีวุฒิภาวะเพียงพอ และพฤติกรรม รวมถึงทัศนคติของเด็กนักเรียนไม่ได้เป็นไปตามที่ครูคาดหวังไว้ คือพัฒนาการด้านสังคมไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางวิชาการ 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีข้อดีที่มองเห็นได้อยู่ กล่าวคือวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ขมวดความเชื่อมโยงระหว่างครูกับผู้ปกครองให้แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งความใกล้ชิดดังกล่าวมีผลต่ออัตราการเข้าเรียนของเด็กและผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์พบว่า ครูใหญ่ของโรงเรียนอเมริกันมากกว่าครึ่งมีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับบรรดาผู้ปกครองมากขึ้นกว่าตอนก่อนที่โรงเรียนจะปิด 

วิกฤตการระบาดทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้านการศึกษา แต่การปรับประยุกต์ใช้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปได้ช้า โรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะไร้ทางเลือกนอกจากเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ รวมถึงพิจารณาการให้แท็บเล็ตและการติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดย Holon IQ บริษัทวิจัยข้อมูลเปิดเผยว่า เหล่าบริษัทด้านการลงทุนต่างเข้าไปลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีทางการศึกษา และเพิ่มเงินลงทุนมากกว่าสองเท่าจาก 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 มาอยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 

เด็กบางคนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ขี้อายและไม่กล้าพูดในห้องเรียนบางคน ก็รู้สึกว่าการเรียนผ่านวิดีโอคอล และ chat-boxes ทำให้ตนสะดวกใจที่จะพูดคุยแสดงความเห็นมากกว่า ซึ่ง Jal Mehta นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดว่าการเรียนออนไลน์อาจจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ การเรียนของเด็กนักเรียนบางส่วนให้มีแรงจูงใจในการเรียนและสนุกที่จะได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และบางส่วนอาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับสังคมภายในโรงเรียน ขณะที่ครูในบอสตันเผยว่า นักเรียนบางคนในชั้นเรียนเข้าเรียนมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ส่วนหนึ่งของนักเรียนที่เมืองบรอนซ์ นิวยอร์ก สหรัฐฯ ยอมรับว่า ออนไลน์ทำให้เข้าร่วมชั้นเรียนสะดวกขึ้น โดยเฉพาะในวันที่สภาพอากาศแย่และลำบากที่จะเดินทาง 

ขณะเดียวกัน การที่โรงเรียนปิดยังทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอันที่จริงนั้นมีมาก่อนที่จะเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยซ้ำ โดยผลการศึกษาพบว่า นักเรียนอายุ 16 ปีจากครอบครัวยากจนในอังกฤษเรียนล้าหลังกว่าเพื่อนที่มีฐานะถึง 18 เดือนหรือ 1 ปีครึ่ง ส่วนทักษะการคิดคำนวณระหว่างเด็กที่เก่งที่สุดกับเด็กที่อ่อนที่สุดก็ยิ่งต่างกันชัดเจน โดยส่วนหนึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากฐานะทางบ้านของเด็ก และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่โรงเรียนต้องเร่งจัดหาอุปกรณ์อย่าง แล็ปท็อป ตัวเชื่อมสัญญาณเน็ต และมื้ออาหารให้กับนักเรียนยากจนนอกรั้วโรงเรียน  เหล่านี้คือภาพบรรยายที่ชัดเจนที่สุดว่า ความไม่พร้อมที่เด็กต้องเผชิญนอกรั้วโรงเรียนส่งผลถึงการพัฒนาความสามารถของเด็กได้อย่างไร 

คงไม่เร็วเกินไปที่จะถามว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีส่วนยกระดับคุณภาพโรงเรียนในอนาคตได้อย่างไร และประสบการณ์จากไวรัสโควิด-19 จะทำให้บรรดานักปฏิรูปทั้งหลายมีความกล้ามากพอที่จะผลักดันให้โรงเรียนออกแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้เด็กมีวิธีการรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างยืดหยุ่น สามารถพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนออนไลน์ หรือใช้เทคโนโลยีหาความรู้ด้วยตนเองในกรณีที่เกิดภาวะดิสรัปชั่นเพราะเหตุไม่คาดฝันในอนาคตได้อย่างไร 

นักการศึกษาหลายสำนักต่างยกมือสนับสนุนกรณีที่จะให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่าแนวทางการเรียนดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่ต้องมาโรงเรียน เพราะอย่างน้อยที่สุดโรงเรียนและห้องเรียนก็ให้ทักษะทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงการสื่อสารที่ห้องเรียนออนไลน์ให้ไม่ได้ และแม้เด็กจะสามารถปรับตัวเรียนออนไลน์ได้ดีแล้ว ครูผู้สอนก็ยังมีความจำเป็นในฐานะที่ปรึกษาที่จะคอยให้คำแนะนำ โดยเฉพาะสำหรับเด็กบางคนที่ยังไม่ถนัดใช้อุปกรณ์ออนไลน์ในการเรียน

ความพยายามที่จะช่วยเหลือเด็กนักเรียนทั้งหลายให้เรียนตามทันหลักสูตรยังจะเป็นโอกาสในการวางรากฐานระบบทางการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลายประเทศเริ่มวางแผนช่วยเหลือเด็กด้วยการติวตัวต่อตัว หรือการติวแบบกลุ่มเล็กๆ แล้ว หลังจากผลการศึกษาพบว่าการเรียนเสริมพิเศษช่วยให้เด็กฟื้นฟูวิชาความรู้และทักษะการคิดคำนวณกับการอ่านได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่โครงการติวพิเศษสำหรับเด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐพอสมควร โดยมีงานวิจัยในไอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า โรงเรียนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเพียงพอสามารถจัดสรรแผนช่วยเหลือสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนสามารถรับมือกับความยากลำบากในการเรียน ปัญหาด้านจิตใจ ปัญหาสุขภาพ และปัญหาทางบ้านได้อย่างเหมาะสม 

ยกตัวอย่างเช่นโรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่นำทุนที่ได้มาจัดทำฐานข้อมูลเพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถติดต่อกับเด็กนักเรียนได้เร็วที่สุดเพื่อประสานบริการความช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ เช่น ธนาคารอาหาร ธนาคารเสื้อผ้า บริการปรึกษาสุขภาพจิต หรือการตรวจสุขภาพตา เป็นต้น 

หรือกรณีของ Reach Academy โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองเฟลแธม ในลอนดอนตะวันตก ทำโครงการ “Children’s Hub” ที่จะให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเด็กนักเรียนแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานและที่อยู่อาศัย รวมถึงป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน 

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโรงเรียนต้องคิดหาแนวทางนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริม และช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้ครูทั้งหลายใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้สื่อการสอนอื่นๆ โดยก่อนหน้านั้น หน่วยงานรัฐจะต้องยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พร้อมสำหรับคนทุกคน 

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง ระบบการเรียนการสอนของหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม อย่างน้อยก็ในสหรัฐฯ เนื่องจากมีผลการสำรวจโดย Rand (บริษัทด้านการวิจัยและค้นคว้าที่ไม่หวังผลกำไร) พบว่า 1 ใน 5 ของเขตการศึกษาในสหรัฐฯ กำลังพิจารณาให้ห้องเรียนออนไลน์เป็นทางเลือก หลังจากที่มีเด็กนักเรียนส่วนหนึ่งชื่นชอบและมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนออนไลน์

ที่มา : How covid-19 is inspiring education reform