แอฟริกาใต้จัดชั้นเรียนธุรกิจให้นักเรียนระดับมัธยม
โดย : Kempton Express, Business Tech
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

แอฟริกาใต้จัดชั้นเรียนธุรกิจให้นักเรียนระดับมัธยม

กระทรวงศึกษาธิการแอฟริกาใต้จัดชั้นเรียนธุรกิจให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศ โดยประเดิมที่โรงเรียนในเขต Gauteng ภายในกรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผู้เรียนจะได้เรียนรู้การตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ การออม การพัฒนาแผนธุรกิจที่ธนาคารสามารถยอมรับได้ การยื่นขอทุนและการจัดตั้งธุรกิจของตนได้

ทั้งนี้ แผนกการศึกษาของ Gauteng (GDE) ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับทางศูนย์ Sci-Bono Discovery Centre ซึ่งรับหน้าที่ในการจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจที่จะกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวทั่วแอฟริกาใต้ในการก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ

รายงานระบุว่า ตัวหลักสูตรนอกจากจะกระตุ้นความต้องการอยากเป็นผู้ประกอบการของเหล่าวัยรุ่นชาวแอฟริกาใต้ ยังเป็นการสอนและขัดเกลาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ และสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยใยการลดอัตราการว่างงานในแอฟริกาใต้ซึ่งอยู่ในระดับสูงอย่างมากในเวลานี้

Chuma Siswana โฆษกของศูนย์ Sci-Bono Discovery Centre กล่าวว่า หลักสูตร Integrated Entrepreneurship นี้จะนำมาสอนในโรงเรียนใน Gauteng ทั้งหมด 18 แห่ง เพื่อเปลี่ยนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กลายเป็นผู้ที่สามารถสร้างการจ้างงานภายในอนาคต 

“โครงการนี้รวมถึงการฝึกสอนผู้ประกอบการตามหลักสูตรที่กำหนด ซึ่งผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ตรงในการบริหารบริษัทขนาดเล็กของตนเอง พร้อมด้วยความรู้ทางการเงิน และการฝึกอบรมทักษะชีวิตอย่างมืออาชีพ” Siswana กล่าว

ด้าน  Anele Davids รักษาการหัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของศูนย์ Sci-Bono Discovery Center กล่าวว่า หนุ่มสาวชาวแอฟริกาใต้รุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความคิดที่จะอยากเป็นผู้ประกอบการสักเท่าไรนัก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว หนุ่มสาวเหล่านี้มีความสามารถในการหาเงินและเก็บสะสมเงินตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างตัดเสื้อ ทำผม หรือให้บริการรถรับจ้าง เพียงแต่น่าเสียดายว่า หนุ่มสาวเหล่านี้ไม่รู้จักวิธีต่อยอดนำเงินที่เก็บออมมาใช้ประโยชน์

“กระนั้น หนุ่มสาวเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ที่ดีสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจให้เติบโตและเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ สร้างธุรกิจเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำหรับผู้ก่อตั้ง ตลอดจนเป็นแหล่งสร้างงานอย่างดี โดยโครงการ Integrated Entrepreneurship ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำทางธุรกิจแห่งอนาคต ถือเป็นการลงทุนในอนาคต” Davids กล่าว

รายงานระบุว่า ขณะนี้ ทางแผนกศึกษาธิการ GDE และ ศูนย์ Sci-Bono ต่างกำลังคัดเลือกหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ประกอบการ หรือ JA Entrepreneurshipให้กับบรรดาโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้เรียนทั้งหมด 1,230 คน ที่เรียนอยู่ระดับเกรด 8-11 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 – 5) จะเข้าร่วมโครงการในฐานะเป็นวิชานอกหลักสูตรภาคบังคับที่ต้องเรียนเพิ่มเติม

แถลงการณ์ระบุว่า โปรแกรมผู้ประกอบการแบบบูรณาการ (Integrated Entrepreneurship Programme) ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักสูตรหลายประกาศนียบัตร ของ GDE และเป็นองค์ประกอบของแผนพัฒนาแห่งชาติที่มุ่งขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำภายในปี 2030

“กลยุทธ์นี้ส่งเสริมโปรแกรมความพร้อมในการทำงานสำหรับคนหนุ่มสาว ซึ่งจัดส่งผ่านแผนกของโรงเรียนชำนาญการพิเศษ (Schools of Specialisation) และเสนอการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กับผู้เรียน” Siswana กล่าว

ขณะที่ Davids กล่าวเสริมว่า การให้ความรู้ในด้านธุรกิจเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้หนุ่มสาวชาวแอฟริกาใต้รุ่นใหม่ให้กล้าคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการ และมองสถานะตนเองในฐานะผู้สร้างงานที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

“แทนที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ที่มีอยู่ทั่วประเทศจะเป็นแค่ลูกจ้าง เราได้สนับสนุนให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงานที่แตกต่างกันออกไป เป็นการค้นหาศักยภาพแฝงของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ซึ่งในมุมมองของเรา หนุ่มสาวกลุ่มนี้เพียงแค่ต้องได้รับความรู้ด้านการฝึกสอนอย่างเป็นทางการเพื่อเปลี่ยนความสามารถและความสนใจของหนุ่มสาวเหล่านี้ให้กลายเป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรือง” Davids อธิบาย

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่ทางกระทรวงศึกษาธิการพื้นฐาน (Department of Basic Education : DBE) กำลังวางแผนที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั่วแอฟริกาใต้เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ในการเตรียมเหล่านักเรียนให้มีความพร้อมสำหรับโลกการทำงาน

แถลงการณ์ของ DBE ระบุชัดว่า ผู้เรียนควรมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการสร้างงานซึ่งตอบสนองต่อการถ่ายทอดทักษะด้านการศึกษาในอนาคต โดยจะเน้นที่การพัฒนาทักษะของผู้เรียนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ ความรู้ทางด้านการเงินและวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับทักษะทางด้านซอฟท์สกิลอย่าง การคิดอย่างมีวิจารณญาณในการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และความร่วมมือ

นอกจากนี้ แผนปฏิรูปยังครอบคลุมถึงการเตรียมครูผู้สอนให้มีความพร้อมสำหรับการแปลงหลักสูตรให้เป็นดิจิทัล ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนและการเรียนรู้และการบูรณาการทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ได้ดียิ่งขึ้น

ที่มา :