การช่วยเหลือประคับประคองกันในยามลำบาก คือการสร้างกำลังใจให้เด็กไปต่อ ไม่ทิ้งการเรียน
วรรณา ควรคำนึง : ครูโรงเรียนบ้านโชคนาสาม จ.สุรินทร์

การช่วยเหลือประคับประคองกันในยามลำบาก คือการสร้างกำลังใจให้เด็กไปต่อ ไม่ทิ้งการเรียน

“การเข้าถึงเด็กเป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยเริ่มจากการตามไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ไปดูให้เห็นพื้นฐานครอบครัวของเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรด้านไหนบ้าง บางครั้งปัญหาที่พบก็ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน จะเป็นเรื่องปัญหาครอบครัวหรือชีวิตความเป็นอยู่ การตามไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา สามารถสร้างความไว้ใจจากเด็ก ทำให้พวกเขากล้าเล่าปัญหาต่าง ๆ ให้ฟังทุกเรื่อง การสนทนาทักทาย ซักถามชีวิตความเป็นอยู่ เช่นถามว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ได้กินข้าวมาหรือยัง การสานสัมพันธ์ระหว่างกัน จะนำไปสู่โอกาสในการช่วยเหลือประคับประคองชีวิตพวกเขา”

ครูวรรณา ควรคำนึง แห่งโรงเรียนบ้านโชคนาสาม จ.สุรินทร์ เปิดประเด็นฐานใจเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ในโอกาสที่มาร่วมกิจกรรมในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ กสศ. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ครูวรรณาบอกกับเราว่า การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะครูยิ่งต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งตัวเองค่อนข้างจะได้เปรียบกรณีนี้เพราะเป็นครูที่อยู่ในพื้นที่มานาน ทำให้รู้จักคุ้นเคยกับทุกคนในชุมชน จนทราบฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กทุกคน โรงเรียนของเราอยู่ในพื้นที่ชนบท เด็กหลายคนมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ไม่มีเงินมาโรงเรียนครูก็ต้องช่วยให้มีเงินกินข้าว จัดหาทุนช่วยเหลือ จากแหล่งทุนต่าง ๆ

“การเข้าไปช่วยเหลือประคับประคองอย่างเหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญที่สามารถช่วยให้เด็กมีกำลังใจในการเรียน เด็กที่มีสถานะค่อนข้างลำบาก มักจะขาดกำลังใจที่จะไปต่อ หากครูไม่สามารถให้การช่วยเหลือให้ตรงกับปัญหา เด็กก็อาจจะถอดใจเลิกเรียนต่อ หากพบเจอเด็กคนไหนไม่ไหวจริง ๆ ก็จะแนะนำว่า อย่าทิ้งการเรียน เพราะการเรียนจะช่วยหาทางออกเรื่องอาชีพการงานที่ดีขึ้นได้ในอนาคต เรียนในระบบไม่ไหว ก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ เช่น เรียนกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เกิดอะไรขึ้นก็อย่าทิ้งการเรียน มาปรึกษาครู มาช่วยกันหาทางออก”