ผลวิจัยชี้สายสัมพันธ์ครอบครัวเหนียวแน่นปูทางเด็กประสบความสำเร็จในชีวิต
โดย : Megan Marples-CNN
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผลวิจัยชี้สายสัมพันธ์ครอบครัวเหนียวแน่นปูทางเด็กประสบความสำเร็จในชีวิต

ผลการศึกษาวิจัยฉบับล่าสุดในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่น และรักใคร่กลมเกลียวกันดี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กคนนั้นเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิตในภายหลัง เนื่องจากความรักความเข้าใจของคนในครอบครัวจะทำให้เด็กมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจที่จะเผชิญกับอุปสรรคและปัญหา รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือความก้าวร้าวรุนแรง 

ดร.โรเบิร์ต วิตเทคเกอร์ (Dr.Robert Whitaker) ผู้อำนวยการโครงการวิจัย Columbia-Bassett แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กซิตี้ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัวช่วยลดโอกาสที่เด็กจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี เช่น การใช้ยาเสพติด แต่สำหรับการศึกษาฉบับล่าสุดนี้ บ่งชี้ได้ว่า ความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัวยังจะช่วยให้ผลทางบวกในชีวิตแก่เด็กด้วยเช่นกัน 

“สิ่งที่แตกต่างไปจากการศึกษาครั้งนี้คือการแสดงให้เห็นว่าสายสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้าของเด็ก ไม่ใช่แค่การช่วยให้เด็กเอาตัวรอดหรือหลีกเลี่ยงอันตรายเท่านั้น”  วิตเทคเกอร์ กล่าว

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาด้วยการลงมือสำรวจเด็กวัยรุ่นตอนต้น อายุระหว่าง 11=13 ปีมากกว่า 37,000 ใน 26 ประเทศทั่วโลกครอบคุลม ยุโรป แอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้ ระหว่างปี 2016-2019 พบว่าเด็กวัยรุ่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวแทบทั้งหมดล้วนประสบความสำเร็จในชีวิต

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ (Pediatrics) โดยเป็นโครงการสำรวจสุขภาพเด็กนานาชาติ หรือ International Survey of Children’s Well-Being ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิจาคอบส์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มุ่งเน้นการจัดหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนทั่วโลกเพื่อช่วยให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จ

แถลงการณ์ของทีมงานวิจัย อธิบายว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ย 5 ประเภท ได้แก่ การดูแล การสนับสนุน ความปลอดภัย ความเคารพ และการมีส่วนร่วม สำหรับแต่ละหัวข้อ ผู้เข้าร่วมการสำรวจจะได้รับคำอธิบายและขอให้ประเมินว่าพวกเขาเห็นด้วยมากน้อยเพียงใด โดยให้คะแนนจากศูนย์ (ไม่เห็นด้วย) ถึง 4 (เห็นด้วยอย่างยิ่ง)

ยกตัวอย่างเช่น หากจะวัดในเรื่องของการดูแลเอาใจใส่ (Care) เด็กๆ ก็จะถูกถามว่า เห็นด้วยกับข้อความ “ฉันรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ที่บ้าน” เป็นต้น

ดร.วิตเทคเกอร์ กล่าวว่า แก่นแท้ของความสัมพันธ์ในครอบครัวคือเด็กๆ จะรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับและเลี้ยงดูจากที่บ้าน ซึ่งช่วยให้พวกเขาเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในช่วงวัยที่เด็กเหล่านี้กำลังสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมา

ขณะที่ความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง จะกำหนดด้วยเกณฑ์คะแนนเฉลี่ย 6 ประเภท คือ การยอมรับตนเอง, เป้าหมายในชีวิต, ความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น, การเติบโตส่วนบุคคล, ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นอิสระได้รับสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง (autonomy) ซึ่งโครงสร้างของแบบสำรวจมักลักษณะเหมือนกับตัววัดระดับความสัมพันธ์ในครอบครัว ยกเว้นค่าการให้คะแนนเริ่มตั้งแต่ 0 ถึง 10

“เมื่อพูดถึงความเจริญรุ่งเรือง เด็ก ๆ จะต้องยอมรับจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง แล้วจึงสามารถใช้จุดแข็งของตนเองเพื่อค้นหาเป้าหมายในชีวิตได้” ดร.วิตเทคเกอร์ ระบุ 

ในมุมมองของดร.วิตเทคเกอร์ เด็กๆ ต้องสามารถเติบโตก้าวไปข้างหน้าสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้ ไม่ใช่แค่ดำรงชีวิตให้อยู่รอดเพียงอย่างเดียว ซึ่งการศึกษาพบว่า เด็กที่มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวเหนียวแน่นในระดับสูงสุดมีโอกาสเติบโตและก้าวหน้ามากกว่าเด็กที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบห่างเหินถึง 49% 

อีเลน รีส (Elaine Reese) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลียโอตาโก (University of Otago) ในเมือง Dunedin ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ลำพังแค่การไม่มีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลไม่เพียงพอต่อการมีชีวิตที่ดีได้

“ชีวิตที่ดีต้องมีความรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายและความหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดผลได้ในการศึกษานี้” ศาสตราจารย์อีเลนแสดงความเห็น 

รายงานระบุว่า ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและความเจริญก้าวหน้ามาจากเด็กที่กล่าวว่าพวกเขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้า 2 คน มีอาหารเพียงพอหรือครอบครัวไม่มีเรื่องทางการเงินให้ต้องกังวล

จากนั้น ทางทีมนักวิจัย ได้ควบคุมข้อมูลในด้านระดับความยากจนของครอบครัว ตลอดจนสถานการณ์ทางการเงินและความไม่มั่นคงด้านอาหาร เพื่อขจัดผลกระทบที่อาจมีต่อผลลัพธ์ของการศึกษาในครั้งนี้ โดยหลังจากควบคุมปัจจัยดังกล่าวแล้ว ผลปรากฎว่าความเข้มแข็งของสายสัมพันธ์ในครอบครัวยังคงส่งผลต่อจำนวนเด็กที่มีชีวิตเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วจะมีวิธีการอย่างที่ทำให้สายสัมพันธ์ภายในครอบครัวแน่นแฟ้นแข็งแกร่ง 

ดร.วิตเทคเกอร์กล่าวว่า กุญแจสำคัญก็คือบรรดาผู้ใหญ่ในครอบครัว โดย ผู้ใหญ่มีอิทธิพลอย่างมากต่อบรรยากาศทางอารมณ์ในบ้าน ดังนั้น การสร้างพื้นที่ที่เด็กจะรู้สึกว่าถูกมองเห็นและได้ยินจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ในความเห็นของวิตเทคเกอร์ โอกาสที่ดีในการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวคือช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวนั่งล้อมวงบนโต๊ะอาหาร ที่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เด็กรู้สึกสบายใจที่จะพูดอย่างอิสระ โดยในขณะที่เด็กพูด พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ควรแสดงให้เห็นว่าตนสนใจสิ่งที่เด็ก ๆ พูดอย่างแท้จริงและพยายามระงับการแสดงความเห็นในชิงตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ 

ด้าน ศาสตราจารย์รีส เสริมว่า พ่อแม่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทางเกินจริงเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับลูก ๆ ของตน และการสนทนาที่มีความหมายมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวมากกว่าการได้ไปเที่ยวสุดหรูราคาแพงด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ดร.วิตเทคเกอร์ ยังเห็นว่า ความเงียบก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่ทรงพลัง โดยเด็กและผู้ปกครองหรือผู้ดูแลใช้เวลาร่วมกันอย่างเงียบๆ หรือแม้แต่ทำธุระหรือทำงานบ้านด้วยกันแบบไม่ได้พูดจากัน ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้

“เราไม่จำเป็นต้องเติมช่วงเวลาเหล่านั้นด้วยการพูดคุยเสมอไป” ดร.วิตเทคเกอร์กล่าว 

สำหรับในอนาคต ดร.วิตเทคเกอร์กล่าวว่า ทีมนักวิจัยมีแผนที่จะเดินหน้าวิจัยผลกระทบที่สมาชิกในชุมชน เช่น ครู มีต่อเด็ก

“เราสงสัยว่าความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่พ่อแม่อาจเพิ่มโอกาสที่วัยรุ่นจะเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองได้” ดร.วิตเทคเกอร์ ระบุ 

เคลลี-แอน เอลเลน (Kelly-Ann Allen) นักจิตวิทยาด้านการศึกษาและพัฒนาการและอาจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ภายนอกมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยทารกและเด็กปฐมวัย

“ถ้าเด็ก ๆ ได้สัมผัสกับรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตนเองสามารถไว้วางใจได้ตั้งแต่เนิ่นๆ พวกเขามักจะสร้างความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจได้อย่างสมบูรณ์ในฐานะผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อโอกาสในการสร้างความสำเร็จและความก้าวหน้าในอนาคต” เอลเลน กล่าวปิดท้าย 

ที่มา : Children are more likely to succeed if they live in this type of environment