ระยองระดมทุกภาคส่วนจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ‘เตรียมคนระยองสู่สากล’ รองรับ EEC
เร่งพัฒนาทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล ทักษะอารมณ์สังคม สู่การทำงานในโลกยุคใหม่

ระยองระดมทุกภาคส่วนจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ‘เตรียมคนระยองสู่สากล’ รองรับ EEC

11 กันยายน 2566 ที่โรงแรมโนโวเทล ระยอง สตาร์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง (Rila) จัดเวทีเสวนา ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อเตรียมคนระยองสู่สากล’ โดยมีคณะทำงานการศึกษาเชิงพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู รวมถึงผู้มีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษาจังหวัดระยองเข้าร่วมกว่า 150 คน

สืบเนื่องจาก กสศ. ดำเนินงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยด้วยรูปแบบ ‘การบริหารจัดการแบบย่อส่วน’ เพื่อเชื่อมต่อการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกฝ่ายในพื้นที่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด

นับตั้งแต่ปี 2563 กสศ. ได้จับมือกับธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกำหนดแผนงานส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ มุ่งค้นหาและพัฒนาระบบส่งเสริมพัฒนาทักษะ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงโอกาสพัฒนาศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองในโลกสมัยใหม่ และมีทักษะจำเป็นสอดรับกับการทำงานในศตวรรษที่ 21 ผ่าน ‘โครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน’ (Adult Skills Assessment in Thailand) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสำรวจและประเมินทักษะการอ่าน ทักษะดิจิทัล ทักษะอารมณ์และสังคม ในประชากรวัย 15-64 ปี พร้อมนำข้อมูลมาใช้กำหนดกลยุทธ์การจัดการศึกษา ยกระดับทักษะทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ กสศ. และธนาคารโลก จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคนโยบายและภาควิชาการ เพื่อต่อยอดการทำงานข้างต้น จัดทำ ‘โครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานระดับจังหวัด’ (Provincial Adult Skills Assessment in Thailand: PASAT) ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ระยอง พะเยา และปัตตานี โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสำรวจระดับสากล เพื่อขับเคลื่อนการทำงานระดับจังหวัด ให้มีการสังเคราะห์ข้อมูล ออกแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ และยกระดับสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย และนำมาสู่การจัดเวทีเสวนาการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อเตรียมคนระยองสู่สากลในครั้งนี้ 

เวทีนี้ถือเป็นเป็นเวทีแรกของการรับฟัง ระดมความคิดเห็น และรวมสรรพกำลังคนทั้งจังหวัดระยอง มาร่วมแลกเปลี่ยนเสนอแนะแนวทางเดินหน้าจัดการศึกษา เพื่อเตรียมศักยภาพคนระยองทุกช่วงวัย ให้มีทักษะและความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองโลก และบุคลากรผู้มีทักษะการทำงานในระดับสากล

อนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า งานด้านการจัดการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีความรู้ความเข้าใจทุกฝ่าย จังหวัดระยองจึงมีการจัดตั้งสถาบัน Rila ที่มีบทบาทการทำงานดูแลการศึกษาของประชากรทุกช่วงวัย ซึ่งดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 จนชัดเจนในแนวทางการทำงานระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนสำหรับอนาคตยังต้องมีการสื่อสารพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานและคนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ว่านโยบายการศึกษาของจังหวัดควรปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก

อนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง

สำหรับระยองที่โดดเด่นเรื่องการเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกับสถานประกอบการถือว่ามีความสำคัญ เพราะสถาบันการศึกษาต้องรู้ว่าทักษะและคุณสมบัติที่สถานประกอบการต้องการคืออะไร ซึ่งขณะนี้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกำลังบอกว่าเราไม่ได้ต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่เครื่องจักรที่ทันสมัยจำเป็นต้องใช้ ‘คน’ ที่มีทักษะ มีความเข้าใจ และชำนาญงาน 

นอกจากนี้ ข้อมูลในภาคอุตสาหกรรมระยองบ่งชี้ว่า กำลังมีโรงงานอุตสาหกรรมทยอยเข้ามาตั้งใหม่เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของโอกาสและการแข่งขัน แนวทางหนึ่งที่สภาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจังหวัดระยองวางแผนไว้ล่วงหน้า คือร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดการศึกษาแบบทวิภาคี เพื่อให้โอกาสนักศึกษาเรียนรู้ในสถาบัน พร้อมกับการฝึกงานในสถานประกอบการ ดังนั้นเมื่อจบการศึกษา สถาบันจะได้บุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนจนชำนาญงานแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการลดการผลิตคนที่ไม่ตรงกับงาน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของประเด็นสำคัญในงานเสวนาครั้งนี้ ชาวระยองต้องมาคุยกันว่าภาคอุตสาหกรรมในอนาคตจะเติบโตไปในทิศทางใด จังหวัดระยองต้องการบุคลากรที่มีคุณสมบัติอย่างไร และต้องผลิตคนจำนวนแค่ไหน ก่อนที่จะสำรวจคุณลักษณะของประชากรในช่วงวัย 15-64 ปี เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์การจัดการศึกษาและพัฒนาทักษะ เพื่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในลำดับถัดไป

ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และ ประธานกรรมการสถาบัน Rila กล่าวว่า ระยองเป็นจังหวัดเล็ก มีประชากรหลักแสน แต่ได้รับโอกาสจากรัฐบาลให้เป็นที่ตั้งของเขตนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard Industrial Estate: ESIE) ตั้งแต่ปี 2537 แต่ปรากฏว่าคนระยองไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร เพราะขาดการเตรียมความพร้อมเรื่องคน จนการมาถึงของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จังหวัดระยองจำเป็นต้องทบทวนว่าจะพัฒนาคนให้มีศักยภาพสอดรับกับโอกาสอย่างไร เพื่อการเติบโตของจังหวัด เพราะ ณ ปัจจุบัน ระยองไม่ได้มีแต่เพียงคนในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ยังมีกลุ่มประชากรที่หลั่งไหลมาจากที่อื่นเพื่อการทำงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรวัยเรียนตามไปด้วย

ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และ ประธานกรรมการสถาบัน Rila

“สิ่งที่เราต้องค้นให้เจอในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือเด็กเยาวชนควรได้รับการส่งเสริมผลักดันในด้านใดถึงจะมีศักยภาพเหมาะสมกับการใช้ชีวิตและทำงานในพื้นที่ สำหรับระยองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม การเตรียมคนให้ไปถึงระดับสากลอย่างแรกต้องมีจุดเด่นเรื่องภาษา ณ วันนี้เราจึงมีโรงเรียน อบจ. ที่ปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น รวมถึงภาษาทางเลือกอื่น ๆ ให้เด็กเลือกเรียนตามความสนใจ และจากจุดเริ่มต้นนี้ ผลที่งอกเงยคือ ความเปลี่ยนแปลงของเด็กระยองที่สามารถสอบได้คะแนนภาษาระดับท็อปในการสอบ O-net

“ส่วนอีกประเด็นซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือแนวทางการดูแลเด็กและเยาวชนให้ไปได้ไกลที่สุดในระบบการศึกษา โรงเรียนจึงต้องเป็นที่พึ่งพิงที่พร้อมเปิดประตูรับเด็กทุกคน เริ่มจากเก็บข้อมูลของเด็กในทุกมิติ ครูต้องเยี่ยมบ้านทุกหลังเพื่อรู้จักครอบครัวเด็ก และจัดทำแผนช่วยเหลือเด็กได้เป็นรายคน นอกจากนี้ โรงเรียนต้องพร้อมผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่างที่ขัดแย้งต่อการเปิดโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาตนเองของเด็ก”

นายก อบจ. ระยอง กล่าวว่า ระยองเป็นจังหวัดเศรษฐกิจที่มีรายได้ประชากรต่อหัว (GPP) สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้โอกาสที่มีอยู่นี้กระจายไปถึงประชากรทุกคน เพราะโจทย์สำคัญที่คนระยองและประเทศไทยต่อสู้อยู่ในนาทีนี้ คือภาวะสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังขาดวัยแรงงานก้าวขึ้นมาทดแทน ขณะที่ประชากรกลุ่มที่เป็นฐานภาษีก็มีจำนวนลดลง ดังนั้นเด็กและเยาวชนทุกคนจึงมีคุณค่ายิ่ง พวกเขาสมควรได้เรียนหนังสือ ได้พัฒนาศักยภาพในตัวเองจนสุดทาง เพราะหากปล่อยให้เด็กหลุดออกไปแม้อีกเพียงคนเดียว นั่นย่อมหมายถึงจังหวัดระยองและประเทศไทยจะต้องลงทุนทรัพยากรอีกมหาศาล เพื่อกู้อนาคตกลับมา

โคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่า ทักษะพื้นฐานในทุนทรัพยากรมนุษย์ ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเมือง ๆ หนึ่ง หรือประเทศ ๆ หนึ่ง การพัฒนาทักษะของประชากรจึงไม่ใช่เรื่องของการลงทุนในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษาเท่านั้น แต่ต้องพึ่งพาการลงทุนระยะยาวด้านการศึกษา นับตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงวัยชรา และต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกระบบไปพร้อมกัน

โคจิ มิยาโมโตะ (Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก

สำหรับระยองที่เป็นพื้นที่ EEC มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และมีศักยภาพของภูมิภาคในระดับสูง การพัฒนาฐานทรัพยากรมนุษย์จึงต้องมีการพยากรณ์และวางผังแรงงาน เพื่อนำทางผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาคน ส่งเสริมและผลิตบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการป้อนเข้าสู่ EEC ในอนาคต ทุนมนุษย์เหล่านี้จะต้องมีทักษะอาชีพเฉพาะทาง ขณะเดียวกันในท่ามกลางความผันแปรของกระแสสังคมโลก ทักษะอาชีพอาจมีความสำคัญสูงสุดเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่การแทรกแซงของเทคโนโลยีดิจิทัลก็จะทำให้ทักษะนั้น ๆ ตกยุคตกสมัยไป การพัฒนาประชากรจึงต้องคำนึงถึง ‘ความเสี่ยง’ และ ‘โอกาส’ ไปพร้อมกัน โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ อันจะเป็นต้นทุนในการเข้าถึงโอกาส และช่วยรับมือกับความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้

ผลการศึกษาระบุว่า ‘ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่’ หรือ Foundational Skill แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ความสามารถในการอ่านและทำความเข้าใจ (Literacy Skill) 2. ความสามารถในการจัดการข้อมูลและใช้เครื่องมือ ICT (Digital Skill) และ 3. ทักษะทางอารมณ์สังคม (Socio-Emotional Skill) โดยทักษะพื้นฐานทั้ง 3 ประการ จะส่งเสริมให้ทรัพยากรมนุษย์พัฒนาตนเองเป็นลำดับขั้น เริ่มจากอ่านออก-เขียนได้ ทำความเข้าใจและสื่อสารเป็น ไปสู่การต่อยอดความอยากรู้ ความเข้าใจข้อมูลข่าวสาร จนสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพจนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และพร้อมผลักดันตนเองไปสู่การจ้างงานที่มีรายได้สูงขึ้น หรือในภาคของผู้ประกอบการก็สามารถเพิ่มผลผลิตและนวัตกรรมได้มากขึ้น โดยนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกระบุว่า ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่นั้น ในบางสถานการณ์นับว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าทักษะอาชีพเฉพาะทางเสียอีก

สมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่สุดของการทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง คือ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ 2. พัฒนาผลสัมฤทธิ์ 3. กระจายอำนาจ และ 4. พัฒนากลไกความร่วมมือในพื้นที่ ซึ่งหมายถึง ภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม จะต้องร่วมมือกันจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้จังหวัดระยองเป็นพื้นที่นำร่องในการ ‘เตรียมคน’ สู่ระดับสากล

สมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

งานเสวนาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่บุคลากรซึ่งข้องเกี่ยวกับการศึกษาทั้งโดยตรงและโดยอ้อมทั่วทั้งจังหวัดระยองมาพบกัน ดังนั้นคำถามสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบ คือ ระยองจะวางแนวทางพัฒนาการจัดการศึกษาไปในทิศทางใด ขณะเดียวกัน ถ้าระยองจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาคน นอกจากการศึกษาในระบบแล้ว ยังต้องมีพื้นที่สำหรับประชากรวัยแรงงานเพื่อให้สามารถยกระดับทักษะฝีมือจนมีค่าตอบแทนสูงขึ้น 

วันนี้จังหวัดระยองในนามสถาบัน Rila จึงเชิญแต่ละภาคส่วนที่ประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้ดูแลระบบ นักการศึกษา รวมถึงสถานประกอบการภาคเอกชน ที่จะเป็นปลายทางในการรับคนเข้าไปเติมเต็มในระบบ มาร่วมวงสนทนา สำรวจทุนพื้นฐาน และกำหนดทิศทางพัฒนาไปด้วยกัน โดยหวังว่างานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นว่า คนระยองสามารถใช้การศึกษาเพื่อ ‘สร้าง’ และ ‘กำหนดทิศทาง’ การเติบโตของเมืองได้ด้วยพลังของทุกคน