มอบ ‘ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา’ โรงเรียนนำร่องชุมชนคลองเตย

มอบ ‘ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา’ โรงเรียนนำร่องชุมชนคลองเตย

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้กำหนดเปิดเทอมต้องเลื่อนออกไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายน ขณะที่การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิด ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ และส่งผลต่อการเรียนรู้ในระยะยาว

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จับมือกับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดทำ ‘ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา’ ซึ่งบรรจุสื่อการเรียนรู้หลากหลาย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสำหรับช่วงวัยต่าง ๆ พร้อมด้วยสิ่งของจำเป็นในการป้องกันตัวเองให้พ้นจากโคโรนาไวรัส และวางแผนมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเป็นโรงเรียนนำร่องที่สามารถติดตามผลและเก็บข้อมูลกลับมาปรับปรุงพัฒนาให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นทั่วประเทศในโอกาสต่อไป 

‘ความเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียด้านการเรียนรู้’

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากงานวิจัยที่ติดตามผลกระทบด้านการศึกษาตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 รอบแรก ระบุว่าเมื่อโรงเรียนต้องปิด เด็กจะตกอยู่ในภาวะสูญเสียด้านการเรียนรู้ (Learning Lost) ซึ่งหมายถึงความรู้ในตัวเด็กจะถดถอยลงเนื่องจากไม่ได้มีการใช้งานหรือทบทวน ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวจะทำให้ระดับความพร้อมที่จะรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลจากงานวิจัยในปีที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมมีเด็กที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวราว 20 – 25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การปิดโรงเรียนจากการแพร่ระบาดในระลอก 2 และ 3 ได้ทำเปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มนี้ขยับสูงขึ้น

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

กรณีนี้ กสศ. ในฐานะที่มีภารกิจด้านการดูแลช่วยเหลือพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มองเห็นว่า เด็กและเยาวชนทั้งที่อยู่ในชุมชนเมืองต่าง ๆ หรือกลุ่มที่อยู่ห่างไกลออกไปในพื้นที่ชนบทกำลังได้รับผลกระทบที่หนักหน่วงจากวิกฤต COVID-19 จึงมีโครงการที่จะเข้าไปทดลองทำกับโรงเรียนทั้งสองรูปแบบ เพื่อให้ได้แนวทางว่าเด็กและเยาวชนในแต่ละพื้นที่ต้องการการกระตุ้นหรือเครื่องมือการเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ต้องหยุดเรียนอย่างไร

‘ขยับโรงเรียนเข้าไปหาเด็ก ๆ’

ดร.อุดมกล่าวว่า เมื่อได้โจทย์สำคัญแล้วว่า ‘จะทำอย่างไรให้เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนสามารถเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วยตนเองหรือทำร่วมกับผู้ปกครองได้’ จึงนำมาสู่แนวคิดเรื่องการ ‘นำโรงเรียนใส่ถุงไปมอบให้เด็กที่บ้าน’ โดยหลังจากผ่านการประชุมหารือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยต้องการการเรียนรู้ที่ต่างกันอย่างไรบ้าง จนได้ออกมาเป็นถุงยังชีพเพื่อการศึกษาที่จำแนกออกตามระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งนี้ ถุงยังชีพเพื่อการศึกษาจะมุ่งไปที่การมอบให้กับโรงเรียนนำร่องโครงการ เริ่มที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ ในเขตคลองเตย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลจะเริ่มต้นที่จังหวัดน่านและตาก

“การได้นำถุงยังชีพเพื่อการศึกษามามอบให้เด็ก ๆ ทำให้สัมผัสได้ว่าแม้ต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่น้อง ๆ ยังมีความตื่นตัวเรื่องการศึกษา เขาแสดงออกว่าตื่นเต้น อยากรู้อยากเรียน เมื่อได้รับถุง ผู้ปกครองหลายคนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจและพยายามศึกษาออกแบบเครื่องมือที่เด็กจะเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองได้ และถ้าผู้ปกครองจะเข้ามามีส่วนร่วม เขาก็สามารถทำได้” 

ในส่วนขั้นตอนดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ กทม. ได้รับการตอบรับที่ดีจากสำนักงานเขตทุกแห่ง และเห็นถึงความพร้อมในเรื่องการช่วยเหลือดูแลนักเรียนในแต่ละชุมชน ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กสศ. มีการทำงานร่วมกับภาคีต้นสังกัดโรงเรียนต่าง ๆ ทั้ง สพฐ. อปท. และ ตชด. มาตลอด และในช่วงจังหวะของการขยายผลรับการเปิดเทอมที่จะถึงนี้ ก็จำเป็นต้องมองหาความเป็นไปได้ร่วมกันในการส่งสื่อการเรียนรู้ที่จำเป็นเข้าไปหาเด็ก ๆ รวมถึงเฟ้นหา อสม. การศึกษาที่จะเป็นตัวช่วยครูเพื่อให้การเรียนรู้ยังเดินหน้าต่อไปได้ 

“เพราะถุงยังชีพเพื่อการศึกษายังต้องปรับปรุงและมีการจัดทำที่ต่างกันสำหรับช่วงปิดเทอมและเปิดเทอม ซึ่งจากวันนี้เราจะติดตามผลอย่างต่อเนื่องว่าเปิดเทอมแล้วจำเป็นต้องเติมอะไรเพิ่มให้เด็ก นอกจากนี้ยังเป็นการมองเผื่อด้วยว่าแม้จะเปิดเทอมแล้ว ทุกอย่างก็ยังไม่ปกติ ต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่ผสมผสาน สลับวันเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงด้วย” 

ฟื้นฟูความรู้เดิม เสริมเติมความรู้ใหม่ 

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ถุงยังชีพเพื่อการศึกษา เปรียบได้กับความห่วงใยที่ส่งลงไปถึงเด็ก ๆ ว่าเขาจำเป็นต้องมีเครื่องมือการเรียนรู้ เพื่อใช้เวลาที่ต้องอยู่กับบ้านฟื้นฟูพัฒนาทักษะอ่านเขียนคิดคำนวณตามช่วงวัย ซึ่งทางคณะผู้จัดทำได้ชักชวนครูของนักเรียนแต่ละระดับชั้นเข้ามาร่วมปรึกษาและออกแบบสิ่งของที่จำเป็นสำหรับเด็ก ๆ ให้เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“ส่วนหนึ่งเราต้องมีหนังสือเพื่อฟื้นฟูทักษะภาษา ส่งเสริมการอ่าน ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจและช่วยให้เขาได้ความรู้เพิ่มเติม และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการฝึกทักษะสร้างสรรค์ การระบายสี ปั้นดินน้ำมัน พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดคือการฟื้นฟูและต่อยอดการเรียนรู้ออกไป

“การพูดคุยกับครูแต่ละระดับชั้นที่เข้าใจเด็ก รู้จักบริบทของเด็กชั้นเล็กและเด็กโตเป็นอย่างดี ทำให้สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กแต่ละชั้นเหมาะสมกับวัยของเขาจริง ๆ เช่น แบบฝึกหัดคณิตศาสตร์จะมีมากกว่า 30 แบบ ไล่ระดับตั้งแต่พื้นฐานจนถึงโจทย์ที่มีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้นเด็กเขาจะมีความท้าทายที่จะเรียนรู้ไต่ระดับของตนเองไปเรื่อย ๆ”

กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีกล่าวว่า นอกจากในส่วนของการเรียนรู้ ถุงยังชีพเพื่อการศึกษายังบรรจุอุปกรณ์ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากโรค ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ โดยวันนี้เป็นการนำเข้ามาให้เด็กชุดแรกจำนวน 150 ถุง ก่อนจะเพิ่มเติมและปรับปรุงให้มีสิ่งของที่ใช้ประโยชน์ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป

“นี่คือความห่วงใยและกำลังใจที่เราส่งไปถึงเด็ก ๆ เราอยากให้เขายิ้มได้พร้อมกับเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้รับในสิ่งที่ขาดหายไป ซึ่งสื่อการเรียนรู้ทุกอย่างเราได้ออกแบบไว้ให้เขาได้ใกล้ชิดกับการเรียนรู้ และมีความตื่นตัวที่จะเปิดรับบทเรียนใหม่ ๆ แม้ว่ายังต้องรอคอยการเปิดเรียนในลักษณะปกติต่อไปก็ตาม”

มิติใหม่ทางการศึกษาที่ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ชุมชน

ชาญวิทย์ พวงมาเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์โดยรวมในพื้นที่คลองเตยยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่ทางโรงเรียนมีเด็กนักเรียนทั้งหมด 765 คน ทั้งหมดอาศัยอยู่ในละแวกชุมชนแฟลตคลองเตย นี่คือสิ่งที่ทางโรงเรียนต้องเตรียมแผนรับมือ โดยที่ผ่านมาในการปิดเรียนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทุกครั้ง จะใช้วิธีให้ผู้ปกครองมารับใบงานและแบบฝึกหัดไปทำที่บ้าน ส่วนบุคลากรโรงเรียนจะสลับวันกันเข้ามาทำงาน สิ่งที่ทำได้คือการจัดการไปตามสถานการณ์ โดยยึดถือการเว้นระยะห่างและลดการพบปะเป็นสำคัญ

สำหรับถุงยังชีพทางการศึกษา นับว่าเป็นสื่อการเรียนรู้ที่จัดทำขึ้นมาได้อย่างถูกเวลาและตรงจุด เพราะเบื้องต้นเกิดจากการสื่อสารทำความเข้าใจบริบทและความต้องการจริงจากครูผู้ดูแลเด็กในพื้นที่ จนได้ออกมาเป็นชุดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันสำหรับชั้นอนุบาล 1 ถึง ป.6   

“ผมมองว่านี่คือมิติใหม่ทางการศึกษา ทั้งในด้านการทบทวนการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้เด็ก คือป้องกันได้ทั้งภาวะความรู้ถดถอย รวมถึงให้เด็กได้เรียนรู้ไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงความรู้บางอย่างที่ไม่อยู่ในหลักสูตรปกติ ที่หมายถึงการได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้นสำหรับเด็กกลุ่มนี้”  

ชาญวิทย์ พวงมาเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ

ผอ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ครอบครัวของเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมมากนัก บางบ้านยังไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือไม่มีอินเทอร์เน็ต การได้สื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจึงช่วยพวกเขาได้มาก ทั้งในเรื่องของการสร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน การสร้างจินตนาการกับการทำศิลปะเล็ก ๆ เป็นการพัฒนาความรู้ในองค์รวม นี่คือโอกาสดีที่เขาจะได้ทบทวน ทำกิจกรรมตามใบความรู้ มีหนังสือให้อ่านเปิดโลกในด้านต่าง ๆ มากมาย จากสื่อที่วิเคราะห์มาแล้วว่าเด็กต้องการอะไร แต่ละระดับชั้นมีพื้นฐานความรู้ความสามารถแค่ไหน หรือบริบทครอบครัวของเด็กในโรงเรียนเป็นอย่างไร เพื่อให้สิ่งที่นำมามอบให้ตอบโจทย์ตรงจุดมากที่สุด  

“สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เรามองเห็นว่ายังมีคนที่ให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ อีกมาก และพร้อมเข้ามาช่วยเหลือชุมชนของเรา มีภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีจิตอาสา มีใจเมตตาเข้ามาช่วยกันดูแล จัดหาสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการช่วยพยุงสังคมของเราเอาไว้ โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวของเด็ก ๆ ในชุมชน น้ำจิตน้ำใจต่าง ๆ ที่ส่งมอบเข้ามาถึงนี้ จะทำให้พวกเขายังดำรงชีวิตอยู่ได้ ดำเนินชีวิตต่อไปได้ ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องตกงาน ต้องรอคอยอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นที่มาจากความช่วยเหลือภายนอก ต้องขอบคุณมากจริง ๆ ครับ” ผอ.โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ กล่าว

หลากความเห็นจากผู้ปกครอง ถุงยังชีพฯ ช่วยลดความกังวลว่าเด็กจะออกห่างจากการเรียนรู้

จิตธาดาและวรรณา บุตรศรี ผู้ปกครองของน้องแก้ม ชั้น ป.1 และน้องแกรนท์ ชั้น อ.1 กล่าวว่า หลังจากได้เห็นสิ่งของที่อยู่ในถุง ตนและลูก ๆ ชื่นชอบกันมาก เพราะเด็ก ๆ ชอบดูหนังสือภาพ ชอบอ่านนิทาน และชอบวาดรูปอยู่แล้ว ขณะที่คุณแม่คือคุณวรรณาก็ตื่นเต้นไปด้วย เนื่องจากในช่วงเวลานี้ต้องทำหน้าที่แทนคุณครูคอยแนะนำการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ

“คิดว่าสื่อการเรียนมีประโยชน์มากกับวัยของลูก เพราะเป็นช่วงที่เขากำลังพัฒนาการวาดการเขียน เริ่มจับดินสอให้แข็งแรง ลากเส้นตรงเส้นโค้ง หรือเขียน ก. ไก่ ฉะนั้นพอเห็นเล่มที่มีกิจกรรมวาดเส้นเราก็ชอบเลย แล้วลูกก็ชอบด้วย” 

ธันวา ทองน่วม ผู้ปกครองของน้องเกรซ ชั้น ป.1 กล่าวว่า การเรียนรู้และความจำของเด็กคือสิ่งที่เกิดจากการทำซ้ำบ่อย ๆ จำเป็นต้องมีการทบทวน ดังนั้นเมื่อเด็กต้องหยุดเรียนหลายเดือน ก็กังวลว่าเด็กจะลืมบทเรียนที่เคยเรียนไปแล้ว และจะไม่พร้อมกับการเปิดเทอมใหม่ ถุงที่ได้รับจึงน่าจะช่วยได้ในเรื่องของการทบทวนและเสริมพัฒนาการช่วงที่โรงเรียนยังเปิดไม่ได้

“อย่างน้อยลูกได้อ่านนิทานก็จะช่วยให้เขาได้ฝึกสะกดตัวหนังสือ ได้ใช้ความจำ เขาชอบเล่มที่เป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ พืชผักสวนครัว เราเป็นผู้ปกครองก็สามารถเรียนรู้ช่วยสอนคำศัพท์ต่าง ๆ ไปด้วยกันกับลูกได้ด้วย ต้องขอบคุณคนที่คิดเรื่องสิ่งของที่นำมามอบให้เด็ก ๆ มา ณ โอกาสนี้ ที่สร้างสรรค์สื่อที่เหมาะสมกับวัยและช่วยให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่เปิดกว้างไปจากหนังสือเรียน” 

วาสนา โพธิ์เกษม ผู้ปกครองของน้องเบล ชั้น ป.3 และน้องโบ ชั้น ป.6 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนต้องปิดไป 2 – 3 ครั้ง คิดว่าการเรียนรู้ของลูกก็สะดุดตามไปด้วย ในฐานะผู้ปกครองเราไม่ได้มีความรู้มากพอที่จะช่วยเขาได้ พอได้รับถุงเพื่อการเรียนรู้ ก็เห็นว่ามีประโยชน์มาก ๆ ลูกจะได้เรียนจากที่บ้าน ส่วนเราเองก็จะได้ทำความเข้าใจไปพร้อมกันด้วย ยิ่งตอนนี้ต้องหยุดงานเพราะสถานการณ์ COVID-19 สื่อการเรียนรู้นี้จะทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูกมากขึ้นด้วย

ทางด้าน ‘น้องโบ’ วรัญญา โพธิ์เกษม ชั้น ป.6 กล่าวว่า หลังเปิดถุงมาแล้วเจอหนังสือ ปากกา ของเล่น เจลล้างมือ และขนม ก็รู้สึกตื่นเต้น คิดว่าของเหล่านี้จะช่วยได้มากในตอนที่ต้องอยู่กับบ้าน 

“ปกติหนูจะใช้เวลากับการอ่านหนังสือ พอมีหนังสือมีสื่อการเรียนมาเพิ่มก็ดีใจค่ะ ที่จะได้ความรู้ใหม่ ๆ ขอขอบคุณหน่วยงานที่นำสิ่งของมามอบให้ โดยเฉพาะหนังสือที่หนูจะได้มีอ่านในช่วงเวลาแบบนี้ ขอบคุณค่ะ” น้องโบกล่าว