UNICEF ลั่นโควิด-19 เป็นภัยคุกคามเด็กที่หนักที่สุดเท่าที่เคยเผชิญมา
โดย : UNICEF
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

UNICEF ลั่นโควิด-19 เป็นภัยคุกคามเด็กที่หนักที่สุดเท่าที่เคยเผชิญมา

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ ออกโรงเตือนรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกออกมาตรการที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับสวัสดิภาพของเด็ก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ควบคู่ไปกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนยอมรับว่า โควิด-19 ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กที่ยูนิเซฟเคยประสบมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กรเมื่อ 75 ปีที่แล้ว

แถลงการณ์ของยูนิเซฟยังกล่าวเตือนอีกว่า แม้สถานการณ์โดยรวมจะคลี่คลาย แต่ผลกระทบจากการระบาดจะฝังรากลึกและไม่ได้หายไปภายในระยะเวลาอันสั้น โดยความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะอยู่ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามต่อสิทธิเด็กอย่างรุนแรง

เฮนเรียตตา โฟเร (Henrietta Fore) กรรมการผู้อำนวยการของยูนิเซฟระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 คือภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กในรอบ 75 ปีที่ยูนิเซฟได้ก่อตั้งขึ้นมา เพราะในขณะนี้จำนวนเด็กหิวโหย หลุดออกจากระบบการศึกษา ถูกล่วงละเมิด ถูกบังคับให้แต่งงาน และต้องอยู่อย่างอดอยากข้นแค้นเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ จำนวนเด็กที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้รับอาหารเปี่ยมโภชนาการที่เพียงพอ และเข้าถึงบริการสาธารณะสำคัญๆ กลับลดน้อยลงเรื่อยๆ

“ช่วงเวลาสำคัญที่เราควรไตร่ตรอง มอง และวางแผนไปข้างหน้า พวกเรากลับก้าวถอยหลัง” กรรมการผู้อำนวยการยูนิเซฟกล่าว

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของยูนิเซฟได้สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญในการจัดการเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลก โดยพบว่า :

เด็กมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกใช้ชีวิตอย่างยากจน

โดยรายงานที่ชื่อ Preventing a lost decade: Urgent action to reverse the devastating impact of COVID-19 on children and young people (ปกป้องศตวรรษที่สูญหาย : มาตรการเร่งด่วนเพื่อพลิกความเสียหายจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเด็กและเยาวชน) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา อันเป็นช่วงเฉลิมฉลองครบรอบการก่อตั้งองค์การยูนิเซฟ ระบุชัดว่า โควิด-19 ทำให้เด็กมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกยากจนมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 10 % หรือพูดได้ว่า นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ปี 2020 จนถึงช่วงต้นเดือนธันวาคม ปี 2021 จะมีเด็กยากจนเพิ่มขึ้น 2 คนในทุกๆ วินาที

ทั้งนี้ ยูนิเซฟคาดการณ์ว่า หากคิดในแง่ดีที่สุดคือ การดำเนินการฟื้นฟูเป็นไปได้อย่างราบรื่น การที่จะทำให้ตัวเลขเด็กยากจนกลับไปอยู่ในระดับเท่าเดิมก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ยังต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 8 ปี

ปัญหาชัตดาวน์ทางการศึกษา

นอกจากตัวเลขเด็กยากจนจะเพิ่มขึ้นแล้ว ยูนิเซฟยังพบว่ามีเด็กอีกกว่า 60 ล้านคนอยู่ในครอบครัวที่ประสบภาวะขัดสนทางการเงิน และมากกว่า 23 ล้านคนไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็น นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ ก่อนหน้าเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์ ยูนิเซฟพบว่าเด็กและเยาวชนทั่วโลกประมาณ 1,000 ล้านคน ต้องประสบกับภาวะขาดแคลนปัจจัยสำคัญหรือการเข้าถึงสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอย่างน้อย 1 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย โภชนาการ สุขอนามัย และน้ำสะอาด

ยูนิเซฟเตือนว่า การฟื้นตัวของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันจะส่งผลให้จำนวนเด็กที่ขาดแคลนข้างต้นเพิ่มจำนวนสูงขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ยูนิเซฟวิตกมาที่สุดก็คือการศึกษา เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กนักเรียนทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคน ไม่สามารถไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ 

แรงงานเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ยูนิเซฟรายงานว่า เพราะปัญหาจากสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ทำให้เด็กและเยาวชนในครอบครัวหลายคนตัดสินใจหางานทำเพื่อจุนเจือช่วยเหลือครอบครัว นอกจากประเด็นเรื่องการถูกล่วงละเมิดหรือถูกเอารัดเอาเปรียบแล้ว สิ่งที่ยูนิเซฟห่วงก็คือ การที่มากกว่า 13% ของเยาวชนอายุระหว่าง 10-19 ปี มีแนวโน้มจะมีปัญหาทางสุขภาพจิต โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ ซึ่งรายงานของยูนิเซฟจนถึงเดือนตุลาคม 2020 พบว่า บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตถึง 93% ในหลายประเทศต้องหยุดชะงักนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ มีการคาดการณ์ว่าเด็กหญิงมากถึง 10 ล้านคนทั่วโลกจะถูกบีบบังคับให้แต่งงานภายในสิ้นทศวรรษนี้เพราะวิกฤตการระบาด ขณะที่จำนวนแรงงานเด็กจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 160 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 8.5 ล้านคนในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ความยากจนที่เพิ่มขึ้นทำให้เด็กชายและเด็กหญิง 9 ล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง

แถลงการณ์ของยูนิเซฟยังเตือนถึงผลกระทบจากปัญหาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการระบาดของโควิด-19 นั่นคือ สงครามความขัดแย้งทางการเมืองและเชื้อชาติในประเทศต่างๆ และผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อน โดยคาดการณ์ว่าเด็กเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก หรือราว 1,000 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ยูนิเซฟยังเตือนว่า การระบาดจะทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์หรือถูกละเมิดสิทธิพิเศษต่างๆ โดยมีเด็กประมาณ 426 ล้านคนทั่วโลก หรือเกือบ 1 ใน 5 อาศัยอยู่ในเขตสงครามความขัดแย้ง ซึ่งเด็กหญิงและผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงสุดในการตกเป็นเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญอุปสรรคมากมายเพียงใด ยูนิเซฟได้ใช้โอกาสนี้ให้คำมั่นที่จะเดินหน้าทำงานเพื่ออนาคตที่ดีของเด็ก พร้อมวิงวอนให้รัฐบาลทั่วโลกจัดสรรมาตรการโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนมากขึ้น โดยที่ทางยูนิเซฟพร้อมจะให้ความร่วมมือสนับสนุนโครงการและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลนานาประเทศ เพื่อเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่

“เรากำลังมาถึงทางแยกที่สำคัญ ในขณะที่เราเดินหน้าทำงานร่วมกับรัฐบาล ผู้บริจาค และกลุ่มองค์กรทั้งหลายอย่างเต็มที่ เราก็ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเด็กเป็นลำดับแรกเสมอ” โฟเร กรรมการผู้อำนวยการยูนิเซฟกล่าว

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางวิกฤตการะบาดของโควิด-19, ความขัดแย้ง และภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้นานาประเทศเดินหน้าลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานเพื่อสวัสดิการสังคม รวมถึงการวางมาตรการที่ฟื้นฟูโดยต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังใช้โอกาสนี้กระตุ้นให้นานาประเทศร่วมด้วยช่วยกันกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงมากขึ้น พร้อมให้คำแนะนำปิดท้ายว่า การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน หมายถึงการสร้างหลักประกันว่าเด็กทุกคนต้องเข้าถึงคุณภาพทางการศึกษา และสุขภาวะทีดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนคิดหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อวางมาตรการป้องกันหรือตอบสนองต่อวิกฤตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อเด็กๆ ในอนาคต

ที่มา : COVID-19 is biggest threat to child progress in UNICEF’s 75-year history