ผู้เชี่ยวชาญอังกฤษชี้ล็อกดาวน์กระทบพัฒนาการเด็กนานร่วมหลายปี
โดย : Becky Johnson - Sky News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผู้เชี่ยวชาญอังกฤษชี้ล็อกดาวน์กระทบพัฒนาการเด็กนานร่วมหลายปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการสื่อสารในอังกฤษเปิดเผยผลการศึกษาในในเบื้องต้น พบว่า การล็อกดาวน์และจำกัดให้เด็กเล็กในระดับอนุบาลหรือก่อนวัยเรียนให้อยู่แต่ภายในบ้าน ไม่ได้ไปโรงเรียนหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น จะส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาและทักษะการสื่อสารของตัวเด็กเอง อีกทั้งผลกระทบดังกล่าวจะสร้างความเสียหายกินเวลานานร่วมหลายปี กว่าที่จะสามารถฟื้นทักษะการสื่อสารให้มีศักยภาพเหมาะสมตามพัฒนาการวัยของเด็กตามที่ควรจะเป็นได้

ทั้งนี้ สำนักข่าวสกายนิวส์ของอังกฤษเปิดเผยผลการศึกษาของซาราห์ โบเนตติ (Sarah Bonetti) ซึ่งพบว่า พัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารที่ล่าช้ากลายเป็นเรื่องปกติสามัญที่เริ่มพบเห็นได้ทั่วไปในเด็กเล็กทั่วประเทศอังกฤษมากขึ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาล่าช้าเป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดไม่ให้เด็กสามารถเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ตามปกติ

ความเห็นของโบเนตติสอดคล้องกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญอีกหลายสำนักที่ออกมาเตือนตรงกันว่า ผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่มีต่อเด็กเล็กจะกินเวลายาวนานร่วมหลายปี กว่าที่จะสามารถฟื้นฟูกลับมาจนอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดได้ โดยโบเนตติย้ำชัดว่า การล่าช้าในพัฒนาการด้านการสื่อสารจะส่งผลกระทบทางลบต่อศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็กคนนั้นในอนาคต

ทั้งนี้ นอกจากทักษะทางภาษาและการสื่อสารแล้ว โบเนตติกล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าสถาบันนโยบายการศึกษาด้านพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียนว่า การล็อกดาวน์ยังส่งผลกระทบทางลบต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมรณ์ พฤติกรรมปฏิสัมพันธ์การโต้ตอบกับเพื่อนร่วมวัย ระเบียบวินัยในตนเอง และการจัดการความกังวลของตัวเด็กเอง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เด็กขาดความเอาใจใส่ หมดความสนใจ ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเรียน ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าวิตกกังวลไม่แพ้กับความล่าช้าในพัฒนาการด้านทักษะทางภาษและการสื่อสาร

“มันไม่ใช่แค่จำนวนคลังคำศัพท์ของเด็กเท่านั้นที่หายไป มันยังหมายรวมถึงความจำในเรื่องของรูปทรงตัวอักษร การออกเสียงก็ติดขัด หรือเลือนหายไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น เรียกได้ว่า เป็นการหดหายของกระบวนการเรียนรู้หนังสือทั้งหมด” ซาราห์ โบเนตติ กล่าว

โดยโบเนตติย้ำว่า การที่เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีทางเหมือนกับการที่เด็กได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งการล็อกดาวน์ในช่วงเวลามากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เด็กก่อนวัยเรียนเหล่านี้พลาดช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับเพื่อน รวมถึงการเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เด็กถูกตัดขาดจากการเรียนรู้ที่จะได้เริ่มอยู่ร่วมกับสังคมโลก

ทั้งนี้ กลุ่มเด็กที่โบเนตติเป็นห่วงมากที่สุดก็คือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและยากจนในสังคม เพราะสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตัวเด็กและครอบครัวทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของตัวเด็กกับเพื่อนร่วมวัยถ่างกว้างมากขึ้นจนน่าวิตก

ในทัศนะมุมมองของโบเนตติเชื่อว่า การวางกลยุทธ์จัดการการศึกษาในระยะยาวเป็นหนึ่งในแนวทางที่จำเป็นเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กเล็กเหล่านี้สามารถมีพัฒนาการได้ทัดเทียมเพื่อนร่วมวัยคนอื่นๆ ได้ ไม่เช่นนั้น โบเนตติเตือนว่า หากไม่วางแผนแก้ปัญหาในระยยาว ผลลัพธ์ทางลบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจะคงอยู่นานหลายปี และจะส่งผลต่อวิถีชีวิตรวมถึงขัดขวางวิธีการเรียนรู้ในอนาคตของตัวเด็กเองด้วย

ความกังวลข้างต้นของโบเนตติได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาคม National Day Nurseries Association โดยปูร์นิมา ทานูกา (Purnima Tanuku) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ดูแลเด็กของศูนย์ดูแลเด็กเล็กในเครือของสมาคมทั่วประเทศอังกฤษ สังเกตเห็นว่า พฤติกรรมของเด็กและพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็กได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างเห็นได้ชัดเจน

“เจ้าหน้าที่ต้องอุทิศเวลามากกว่าเดิมในการตามประกบเด็กเล็กแบบตัวต่อตัวเพื่อช่วยปรับให้พื้นฐานของเด็กให้รู้สึกมั่นคงและมั่นใจมากขึ้น” ปูร์นิมากล่าว ก่อนเสริมว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม่เอาใจใส่กับการเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกลของเด็กเล็ก แต่การที่พ่อแม่ต้องทำงานไปด้วย (work from home) ทำให้ไม่สามารถตามประกบเพื่อสอนลูกวัยเด็กของตนได้อย่างเต็มที่

ขณะนี้สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล รวมถึงเนิร์สเซอรี่ Little Pioneers ต่างเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถกลับมาทำการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัยในปีหน้า โดยฮอลลีย์ บาร์นาเคิล (Hollie Barnacle) กล่าว่า เจ้าหน้าที่ของสถานรับเลี้ยงเด็กในเบอร์นิงแฮมต่างตั้งใจเตรียมหลักสูตรและอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้พร้อมต่อการกลับมาสอนเด็กเล็กในช่วงยุคที่โควิด-19 ยังระบาดได้อย่างปลอดภัยทั้งกับตัวผู้สอนละผู้เรียนเอง โดยจะมุ่งให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมวัยมากขึ้น

“เราพยายามเพิ่มทักษะการสื่อสารและภาษาของเด็กๆ ผ่านการเล่าเรื่อง ร้องเพลง และเพลงคล้องจอง เพื่อแนะนำภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้นให้กับเด็กๆ” บาร์นาเคิลจากเนิร์สเซอรี่ Little Pioneers กล่าว

รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้โรงเรียนหลายแห่งทั่วอังกฤษต่างเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณของความล่าช้าในพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่เริ่มไม่สอดคล้องกับวัย 

ทั้งนี้ สเตฟานี โรพิค (Stephanie Ropic) นักบำบัดด้านการพูดและการใช้ภาษา ซึ่งทำงานร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษาหลายแห่งทั่วเมืองเบอร์มิงแฮม กล่าวว่า ความต้องการนักบำบัดด้านการพูดและภาษาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพราะผลกระทบจากการล็อกดาวน์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พัฒนาการทางการพูดของเด็กล่าช้ากว่าวัย

ในฐานะนักบำบัด โรพิคกล่าวชัดเจนว่า ปัญหาของพัฒนาการการพูดที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดโอกาสในการสื่อสารกับผู้คนที่หลากหลายของตัวเด็กเอง ซึ่งการติดอยู่แต่ในบ้าน ทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะการขาดโอกาสดังกล่าวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกัน การติดอยู่แต่ในบ้านกับพ่อแม่ แม้จะได้พูดคุยกับพ่อแม่ แต่การที่เด็กขาดโอกาสเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ก็ให้ผลลัพธ์พัฒนาการเรียนรู้ที่ล่าช้าเช่นเดียวกัน

ในส่วนของโรพิคเอง เจ้าตัวเล่าว่า เฉพาะในส่วนของโรงเรียนที่ร่วมทำงานอยู่ เธอพบว่า 80% ของเด็กที่เริ่มต้นการรับเข้าเรียนไม่มีทักษะทางภาษาที่เหมาะสมกับวัย เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40%

ที่มา : COVID-19: Impact of lockdown on children’s development will ‘last for years and years’