โควิด-19 ทำสหรัฐฯ เผชิญวิกฤตขาดแคลนครู-บุคลากรทางการศึกษา
โดย : JOCELYN GECKER
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

โควิด-19 ทำสหรัฐฯ เผชิญวิกฤตขาดแคลนครู-บุคลากรทางการศึกษา

แม้ก่อนหน้าวิกฤตการระบาดของโควิด-19 แวดวงการศึกษาของสหรัฐฯ จะมีปัญหาเรื่องการว่าจ้างตำแหน่งครูในระดับชั้นต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว กระนั้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษาต่างออกโรงเตือนว่า การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายระบุตรงกันว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าวเอพี (AP) รายงานว่า ปัญหาการขาดแคลนครูได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่โรงเรียนทั่วสหรัฐฯ ทยอยเปิดโรงเรียนให้นักเรียนกลับสู่ห้องเรียนในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ แต่โรงเรียนหลายแห่งพบว่า ถึงจะให้นักเรียนกลับมาเรียนที่ห้องเรียนได้ สุดท้ายกลับไม่มีครูรับหน้าที่สอน เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ครูเลือกที่จะเกษียณอายุและลาออกเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากไม่สามารถแบกรับความเครียดและภาวะกดดันที่เกิดขึ้นได้

วิชาที่ขาดแคลนครูมากที่สุดยังคงเป็นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การศึกษาพิเศษ และภาษา ขณะที่โรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนครูมากที่สุดยังคงเป็นโรงเรียนรัฐบาล โดยโรงเรียนส่วนใหญ่ต่างประกาศรับสมัครครูไม่จำกัดจำนวน รวมถึง ครูพิเศษ (ติวเตอร์) และผู้ช่วยสอนทั้งหลาย เพื่อหวังจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญอย่างการฟื้นฟูภาวะสูญเสียการเรียนรู้ที่หายไปให้กลับคืนมา โดยมีครูส่วนหนึ่งตัดสินใจผันตัวเองไปมุ่งสอนออนไลน์เต็มตัว เพราะไม่มั่นใจที่จะกลับมาสอนที่โรงเรียน

ทั้งนี้ เขตการศึกษาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ต่างรายงานปัญหาการขาดแคลนครูไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ได้รับทราบ โดยในเทนเนสซี นิวเจอร์ซีย์ และเซาท์ดาโกตา มีรายงานว่า โรงเรียนแห่งหนึ่งครูไม่พอ และต้องเปิดเทอมพร้อมประกาศรับสมัครครูกว่า 120 ตำแหน่ง ขณะที่ในรัฐเท็กซัส เขตการศึกษาหลักๆ ในเมืองฮิวส์ตันและวาโก มีรายงานว่า มีการเปิดรับสมัครครูหลายร้อยตำแหน่งตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า โรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศจำเป็นต้องปิดการเรียนการสอนเพราะจำนวนครูไม่เพียงพอ

รายงานระบุว่า โรงเรียนในชุมชนอีสต์พอยต์ รัฐมิชิแกน จำเป็นต้องปรับระบบการเรียนการสอนด้วยการเปลี่ยนให้เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกลับไปเรียนออนไลน์เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม เนื่องจากขาดครูผู้สอน ส่วนเขตการศึกษาเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงดีทรอยต์ยังคงเปิดรับครู 43 ตำแหน่ง โดยคิดเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 4 ของครูทั้งหมด

แคทลีน ไคนิทซ์ (Caitlyn Kienitz) โฆษกหญิงของเขตการศึกษานี้กล่าวว่า ทันทีที่มีรายงานว่าครูระดับมัธยมต้นในพื้นที่พร้อมใจกันลาออกหลายสิบชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางเขตการศึกษาก็ตัดสินใจเริ่มชั้นเรียนออนไลน์ทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ครูที่ไม่มีประสบการณ์มาสอนแทน โดยยอมรับว่า ถึงจะไม่ใช่วิธีจัดการที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กนักเรียนจะได้รับความรู้จากครูที่มีวุฒิรับรองการสอนในแต่ละสาขาวิชา

“ไม่ใช่ว่าใครก็สอนได้ เราต้องการครูที่สามารถสอนและส่งต่อความรู้ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายได้จริง ดังนั้นการคัดสรรและตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนที่เราเลือกมีวุฒิครูเฉพาะทางจึงเป็นสิ่งจำเป็น” ไคนิทซ์กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจนักการศึกษาจำนวน 2,690 คน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยสมาคมการศึกษาแห่งชาติ (National Education Association) พบว่า ครู 32% ระบุชัดว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากอาชีพครูเร็วกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ผลการสำรวจของแรนด์ครอป (RAND Corp.) พบว่า โควิด-19 ทำให้บุคลากรครูมีความเครียดสูงและมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ใหญ่ในวิชาชีพอื่นๆ ถึง 3 เท่า

ลินดา ดาร์ลิง-แฮมมอนด์​ (Linda Darling-Hammond) ประธานคณะกรรมการการศึกษาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า ภาวะขาดแคลนครูนี้เป็นวาระระดับชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ท่ามกลางเขตการศึกษาหลายแห่งที่กำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

มีรายงานว่า เขตการศึกษาในพื้นที่เวสต์คอนทราคอสต้า (West Contra Costa) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังพิจารณาจ้างครูวิชาคณิตศาสตร์จากนอกรัฐมาสอนทางออนไลน์ ในขณะที่ครูผู้ช่วยจะคอยดูแลนักเรียนในชั้นเรียนให้

โทนี โวลด์ (Tony Wold) รองผู้อำนวยการเขตการศึกษาพื้นที่เวสต์คอนทราคอสต้ากล่าวว่า เขตการศึกษากำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานครูที่รุนแรงที่สุดที่เคยมีมา โดยมีตำแหน่งครูว่างถึง 50 อัตรา ซึ่งหมายความว่าจะมี 50 ชั้นเรียนที่ไม่มีครูประจำ นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับครูผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษและครูสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษอีก 100 ตำแหน่ง ทั้งยังขาดแคลนพนักงานทำความสะอาด พนักงานบริการด้านอาหาร และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินการของโรงเรียน

ด้านแชนนอน ฮาเบอร์ (Shannon Haber) โฆษกหญิงของรัฐบาลท้องถิ่นรัฐแคลิฟอร์เนียเปิดเผยว่า นับสถิติแค่กรุงแอลเอ ซึ่งถือเป็นเขตการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีนักเรียนกว่า 600,000 คน ก็พบว่า แอลเอมีตำแหน่งครูว่างมากกว่า 500 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 5 เท่า

แม้โรงเรียนหลายแห่งจะพยายามหาตัวแทน เช่น ครูพิเศษ (ติวเตอร์) เข้ามาช่วยแก้ปัญหาชั่วคราว แต่จำนวนครูพิเศษ หรือผู้ช่วยฝึกสอนก็อยู่ในภาวะขาดแคลนเช่นกัน โดยพบว่าจากจำนวนผู้สมัครกว่า 1,000 คน ที่ยื่นสมัครสอนในเขตการศึกษาทางตอนกลางของรัฐแคลิฟอร์เนีย (มีนักเรียนอยู่ทั้งหมด 70,000 คน) มีเพียง 1 ใน 4 ของตัวแทนครูที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์

ภาวะขาดแคลนครูทำให้ครูที่ยังอยู่ในระบบต้องรับหน้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ครูเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟในการทำงานอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเป็นสาเหตุหลักๆ ให้ครูหลายคนตัดสินใจลาออก ซ้ำเติมภาวะขาดแคลนครูให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ปัจจัยเรื่องเงินเดือนครูไม่ใช่ปัญหาหลักของสถานการณ์ขาดแคลนครูในขณะนี้อีกต่อไป เห็นได้จากการที่เขตการศึกษาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ได้รับงบประมาณอัดฉีดสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการจ้างครูและพนักงานเพิ่มเติมในอัตราที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเงินเดือนในสาขาอาชีพอื่นๆ แต่ปัญหาหลักกลับอยู่ที่การมีคนสมัครงานไม่เพียงพอ

ไมค์ เกลเบอร์ (Mike Ghelber) ผู้ช่วยผู้กำกับเขตการศึกษาในโมรองโกกล่าวว่า “เราประกาศรับสมัครกว่า 200 ตำแหน่ง แต่ดูเหมือนว่าอุปสงค์จะมากกว่าอุปทาน ไม่ใช่ผู้สมัครที่แย่งกันหางาน แต่เป็นตำแหน่งงานต่างหากที่ต้องการคนอย่างเร่งด่วน ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะเข็ดขยายและไม่อยากสอนในยุคโควิด-19 และไม่ใช่แค่ตำแหน่งครูเท่านั้น ตำแหน่งบุคลากรต่างๆ ในโรงเรียน ทั้งผู้ช่วยด้านการศึกษาพิเศษ ผู้ดูแล ภารโรง คนงานที่โรงอาหารก็หายากเช่นกัน”

สำหรับเขตการศึกษาโมรองโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีนักเรียนอยู่ 8,000 คนนั้น ได้ทุ่มเทประกาศรับสมัครงานผ่านทุกช่องทาง ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโซเชียลมีเดีย แถมครูยังแนบข้อความเขียนว่า “Now Hiring” ลงในกล่องอาหารกลางวันของนักเรียน เพื่อกระจายข่าวสารอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ทำให้ทางโรงเรียนต้องขยายขนาดชั้นเรียนให้ใหญ่ขึ้น ดังเช่นที่เขตการศึกษาเมานท์ ไดอะโบล ยูนิไฟด์ (Mount Diablo Unified School District) รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เริ่มทำ โดยเขตนี้มีจำนวนนักเรียนมากถึง 28,000 คน ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจเพิ่มนักเรียนประถมต่อชั้นเรียนเป็น 32 คนต่อห้อง ซึ่งเป็นจำนวนนักเรียนมากที่สุดที่ชั้นประถมจะสามารถมีได้ และกลายเป็นภาระหนักให้กับครูผู้สอนที่ต้องรับมือกับเด็กจำนวนมากขึ้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลก็คือภาวะขาดแคลนครูอาจทำให้โรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตยากจน ตัดสินใจจ้างครูที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมาสอน ทำให้คุณภาพทางการศึกษาของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะยาว

ที่มา : COVID-19 creates dire US shortage of teachers, school staff