เปลี่ยนที่ว่างเป็นสวนเมืองและห้องเรียนเสริมความรู้นอกชั้นเรียน
โดย : VOA news
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เปลี่ยนที่ว่างเป็นสวนเมืองและห้องเรียนเสริมความรู้นอกชั้นเรียน

City Blossoms องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกาเดินหน้าผลักดันโครงการเปลี่ยนพื้นที่สวนหรือพื้นที่ว่างในหลายเมืองใหญ่ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อใช้เป็นห้องเรียนเสริมความรู้นอกชั้นเรียนให้เด็กๆ ในเมืองได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้มากขึ้น

เนื่องจากข้อเสียเปรียบหนึ่งสำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองก็คือการไม่มีพื้นที่ให้เรียนรู้และใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างแท้จริง ดังนั้น City Blossoms องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในวอชิงตัน จึงตั้งเป้าหมายในการนำธรรมชาติมาสู่เด็กๆ ที่อาจขาดแคลนพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ โดย City Blossoms จะมีนักการศึกษาในองค์กรที่คอยสอนบทเรียนให้แก่เด็กๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องการทำสวนและธรรมชาติ

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมา City Blossoms ได้ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับโรงเรียนประถมศึกษา 7 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 2 แห่ง และศูนย์เด็กปฐมวัยอีก 18 แห่งทั่วกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แล้ว

ทารา แมคเนอร์นีย์ (Tara McNerney) ผู้อำนวยการองค์กร City Blossoms และอดีตครูกล่าวว่า บทเรียนขององค์กรจะมุ่งเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทักษะการใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะและดีต่อร่างกายและจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น การทำอาหาร และการแสดงออกทางด้านศิลปะ 

ในแต่ละครั้งเหล่าเด็กนักเรียนจะได้เข้าไปเรียนรู้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมภายในสวนที่ City Blossoms จัดทำขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่การเรียนรู้วงจรชีวิตของพืช หรือระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อม ขณะที่ครูผู้สอนสามารถใช้พื้นที่สวนสีเขียวในการเป็นห้องเรียนกลางแจ้งเพื่อสอนวิชาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อมก็ได้ อย่างการพาเด็กๆ มานั่งใต้ร่มไม้ เพื่อสอนวิชาการอ่าน และอาจทำให้การอ่านสนุกขึ้นด้วยการเลือกหยิบหนังสือที่เกี่ยวกับสวนหรือเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับธรรมชาติ หรืออาจสอนวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเลยอย่างวิชาคณิตศาสตร์ก็ได้เช่นเดียวกัน

แมคเนอร์นีย์กล่าวว่า ส่วนของ City Blossoms เป็นพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนที่สามารถปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่คุณครูทั้งหลายต้องการจะสอนได้ทั้งสิ้น

สื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯ รายงานว่า ทาง City Blossoms จะทำงานในลักษณะการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนในท้องถิ่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-4 ปี ในการช่วยให้โรงเรียนสร้าง ปรับแต่งและดูแลสวน เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวได้อย่างเต็มที่ โดยที่ทางโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลสวนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแมคเนอร์นียกล่าวว่า ตนเองได้ร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ ที่ตระหนัก เข้าใจและเห็นความสำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียน และต้องการให้สวนเหล่านี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี เพื่อให้อยู่กับโรงเรียนไปอีกนานหลายปี

“พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การจัดการสวนเป็นโครงการที่ทางโรงเรียนทำขึ้น และ City Blossoms เข้าไปเป็นกำลังหลักในการช่วยสนับสนุน เราไม่ต้องการให้พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ กลายเป็นสวนเมืองที่ตั้งประดับเมืองไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งานหรือให้ประโยชน์ใดๆ กับโรงเรียนและชุมชน” ผู้อำนวยการองค์กร City Blossoms กล่าว

นอกจากเข้าไปช่วยจัดการแนะนำเพื่อให้โรงเรียนสามารถดูแลบริหารสวนได้อย่างดีแล้ว ทาง City Blossoms ยังให้ความช่วยเหลือในการดูแลสวนและจัดกิจกรรมธรรมชาติสำหรับชุมชนในสวนชุมชนอีก 5 แห่ง เพียงแต่เรื่องพื้นที่ต่างๆ ยังคงเป็นหน้าที่ของชุมชนที่เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการ

ไอซ่า แซมบราโน (Isa Zambrano) หนึ่งในเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ชุมชนให้กับ City Blossoms กล่าวว่า ในท้ายที่สุดแล้วทางองค์กรก็ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบพื้นที่เหล่านี้ แต่ชุมชนเป็นผู้ออกแบบ โดยทุกๆ สวนจะสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบและรากเหง้าวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ ที่ยังมีหลงเหลือตกทอดกันมาอยู่จนถึงปัจจุบัน

ด้านเคนดรา ฮาเซล (Kendra Hazel) อีกหนึ่งผู้ทำหน้าที่ดูแลสวนชุมชนให้กับ City Blossoms กล่าวว่า บรรดาเด็กเล็กและผู้สูงวัยต่างมีส่วนร่วมกับพื้นที่สีเขียวของชุมชนอย่างเต็มที่ เช่น ในระหว่างที่เรียนทำอาหาร คนในชั้นเรียนจะบอกเล่าแลกเปลี่ยนข้อมูลของอาหารที่มีความพิเศษเฉพาะในวัฒนธรรมของตน

นอกจากจะเป็นชั้นเรียนกลางแจ้งที่ตอบโจทย์การเรียนในยุคโควิด-19 ระบาดแล้ว การทำสวนชุมชนยังแสดงถึงความหลากหลายของกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นเหมือนกับการรวบรวมผู้คน วัฒนธรรม และละแวกต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอีกทางหนึ่งด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การจัดทำสวนชุมชนยังได้ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ การทำให้ชุมชนมีคลังอาหารธรรมชาติ โดยเฉพาะสำหรับชุมชนในเมืองในย่านที่ได้ชื่อว่าเป็น “Food deserts” คือ ขาดแคลนหรือเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้ยาก โดยพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจนที่ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ซึ่ง City Blossoms พบว่า ลำพังแค่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ห่างออกไปจากชุมชนกว่า 1.6 กิโลเมตร และในสองพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของวอชิงตัน ดี.ซี. คือ โซน 7 และ 8 มีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เพียง 3 แห่งเท่านั้นต่อการรองรับประชากรจำนวน 160,000 คน

ทั้งนี้ แมคเนอร์นีย์ ผู้อำนวยการของ City Blossoms กล่าวว่า สวน 7 แห่งภายใต้การร่วมดูแลของ City Blossoms ตั้งอยู่ในสองโซนที่ยากจนที่สุดดังกล่าว ทำให้ภารกิจขององค์กรส่วนหนึ่ง คือการปลูกพืชกินได้ในพื้นที่ที่อาจขาดแคลนพื้นที่สีเขียว และอาจไม่มีอาหารสด เปี่ยมโภชนาการและดีต่อสุขภาพอย่างเพียงพอ โดยพืชกินได้ก็คือ ผักต่างๆ พืชสวนครัวและสมุนไพร

ในส่วนของนักเรียนที่โตแล้ว เช่น ที่โรงเรียนมัธยม 2 แห่งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลที่เพาะปลูกผ่านหลักสูตร Mighty Green ที่ทาง City Blossoms ออกแบบขึ้น โดยผลผลิตที่ได้จะให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้นำไปขายในตลาดเกษตรกรท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของทาง City Blossoms จะเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียนทั้งหลาย แต่สมาชิกครอบครัวหรือชมุชนในวัยผู้ใหญ่หรือบรรดาผู้สูงอายุที่สนใจก็สามารถเข้าร่วมเรียนกับเด็กๆ ลูกหลานของตนเองได้เช่นกัน เนื่องจาก City Blossoms มีเป้าหมายจัดทำบทเรียนการทำสวนให้กับคนทุกเพศทุกวัย

ทั้งนี้ ฮาเซลยอมรับว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญและต้องการใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อสัมผัสธรรมชาติกันมากขึ้น โดยผู้คนต่างตระหนักและตื่นตัวกับข้อเท็จจริงที่ว่าพื้นที่สีเขียวมีความสำคัญอย่างมากในชุมชนของตน ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงผลดีของการได้อยู่นอกบ้าน ละวางตัดขาดการเชื่อมต่อกับโลกเทคโนโลยีบ้าง และท้ายที่สุดได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้มือเปื้อนดินโคลนบ้าง

ที่มา : City Gardens Educate, Create Community