จีนเล็งขยายหลักสูตรทางเลือกมุ่งเน้นอาชีวะ หวังตอบโจทย์ความถนัดผู้เรียนที่หลากหลาย
โดย : Shuli Ren - Bloomberg
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

จีนเล็งขยายหลักสูตรทางเลือกมุ่งเน้นอาชีวะ หวังตอบโจทย์ความถนัดผู้เรียนที่หลากหลาย

หลังจากที่ทางรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เดินหน้าปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง โดยการศึกษาถือเป็นหนึ่งในเสาหลักที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ เพราะมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการตัดวงจรและขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศ ซึ่งการเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาส่งผลให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่งในจีนหันมาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลาย และเน้นไปทางด้านอาชีวศึกษามากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เรียน รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกเส้นทางการศึกษาของตนเองที่ตรงตามความถนัดและตรงตามความต้องการของโลกในยุคดิจิทัลมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาของจีนส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่การอัดความรู้ด้านวิชาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะวิชาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา ทำให้ไม่เพียงสร้างความกดดันให้กับผู้เรียน และพ่อแม่ที่ต้องเคร่งครัดกับการเรียนของลูกๆ จนพ่อแม่ชาวจีนถูกขนานนามว่าเป็น “พ่อเสือแม่เสือ” เท่านั้น แต่หลักสูตรดังกล่าวยังทำให้ธุรกิจติวเตอร์หรือโรงเรียนสอนพิเศษเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงกลับนำมาสู่ปัญหา เนื่องจากมีเด็กเรียนเก่งและสำเร็จการศึกษาออกมามากมาย แต่กลับยังมีคนว่างงานอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับอยู่ก็มีมากในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน สะท้อนให้เห็นว่า หลักสูตรการศึกษาของจีนในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดงาน และอาจไม่ตอบโจทย์กับความต้องการผู้เรียน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหลายสำนักกล่าวว่า การเดินหน้าจัดระบบสถาบันสอนพิเศษของรัฐบาลจีนอย่างจริงจังในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้พ่อแม่ชาวจีนส่วนหนึ่งกลับมานั่งทบทวนแผนการศึกษาของลูกๆ อย่างจริงจัง จนตระหนักว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเป็นเด็กเรียน หรือเป็นหัวกะทิ ที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเสมอไป

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่งหันมาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปในด้านที่เอื้อให้ผู้เรียนได้ค้นหาความชอบและความถนัดของตนเอง

รายงานระบุว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการปรับรูปแบบด้วยประยุกต์หลักสูตรในต่างประเทศมาใช้มากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือหลักสูตรของเยอรมนีที่ให้ความสำคัญกับการเรียนอาชีวศึกษา 

โดยสำหรับโมเดลการศึกษาของเยอรมนีนี้ แทนที่จะเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา เหล่าคนหนุ่มสาวชาวเยอรมันจำนวนมากจะเข้าสู่ระบบการเรียนด้วยการการฝึกงานที่เรียกว่า “การฝึกอบรมแบบคู่ขนาน” ซึ่งจะแบ่งเวลาระหว่างการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนที่โรงเรียนอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมภาคปฏิบัติที่บริษัทเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ

ถือเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมสำหรับคนหนุ่มสาวที่จะได้งานที่ดี ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ก็ได้แรงงานทักษะฝีมือขั้นสูงที่ตรงกับความต้องการ โดย 80% ของหนุ่มสาวชาวเยอรมันล้วนเข้าร่วมการฝึกอบรมแบบคู่นี้

ความเคลื่อนไหวของบรรดาสถาบันการศึกษาในจีนเพื่อปรับหลักสูตรมีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางสภาแห่งชาติจีน ซึ่งมีอำนาจในบริหารประเทศและกำหนดนโยบายสูงสุดได้ตีพิมพ์เผยแพร่คู่มือแนวทางด้านการศึกษาเพื่อผลักดันหลักสูตรที่ใกล้เคียงกับโมเดลการศึกษาของเยอรมนี โดยรัฐบาลจีนประกาศให้คำมั่นว่า จีนจะสร้างระบบอาชีวศึกษาระดับโลกเพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูง โดยอย่างน้อย 10% ของชั้นเรียนที่เข้าศึกษาจะทำงานในระดับปริญญาตรีภายในปี 2035

สื่อท้องถิ่นแดนมังกรรายงานว่า ประเทศจีนไม่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่มีทักษะภาคปฏิบัติอีกต่อไป เพราะเป็นกลุ่มที่กลายเป็นคนว่างงานและเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในสังคม

ข้อมูลจาก HSBC Holdings Plc. พบว่า ปีที่แล้ว มีนักศึกษาจีนเกือบ 10 ล้านคนลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 46% จากช่วง 10 ปีก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 ที่เป็นช่วงสำเร็จการศึกษา มีบัณฑิตจบใหม่อายุระหว่าง 20-24 ปี ว่างงานถึง 19.3% หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 5% เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวม

แน่นอนว่า สาเหตุของการว่างงานไม่ใช่ไม่มีตำแหน่งงานว่าง เพราะข้อมูลการสำรวจของภาครัฐยืนยันว่า มีตำแหน่งงานว่างมากมาย โดยเฉพาะในภาคการผลิตระดับไฮเอนด์ แต่ด้วยความคาดหวังส่วนตัวและครอบครัว ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมไปทำงานในโรงงานและอุตสาหกรรมการผลิต โดยคนส่วนใหญ่ต้องการเข้าสู่งานด้านการตลาด สื่อ หรือบริการทางการเงิน ทำให้การแข่งขันในสายงานดังกล่าวค่อนข้างสูง

สถานการณ์ข้างต้นทำให้จีน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลกสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยปีที่ผ่านมา มูลค่าเพิ่มจากการผลิตคิดเป็นสัดส่วนเพียง 26% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน ลดลง 6% จากเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เยอรมนีใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าจะลดขนาดการผลิตในสัดส่วนดังกล่าวลงได้

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษายอมรับว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเรียนอาชีวศึกษาไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในสังคมจีนก็คือค่านิยมของสังคม ที่มักจะจัดประเภทของเด็กตามสถานะและความมั่งคั่งของตระกูล โดยจีนในขณะนี้มี “ทารกทองคำ” หรือเด็กบ้านรวยที่สามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่จะก้าวไปเป็นหัวกะทิในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศได้มากมาย ขณะเดียวกัน จีนก็มี “ทารกทองแดง” จากครอบครัวยากจนหรือมีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ที่ทำงานด้านแรงงานในโรงงานจำนวนมาก แต่จีนขาดแคลน “ทารกเงิน” หรือชนชั้นกลางที่มีทักษะสามารถขั้นสูงในการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ที่เหล่าหัวกะทิออกแบบขึ้นมาได้ และรัฐบาลจีนกำลังสนับสนุนให้เกิดชนชั้นกลางทักษะสูงจำนวนมากผ่านการสนับสนุนการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ในขณะนี้ก็คือพ่อแม่ชาวจีนจะยอมปล่อยให้ลูกๆ ไปเรียนและฝึกงานในสายอาชีพหรือไม่ เพราะในเมืองใหญ่ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังให้ค่ากับใบปริญญาถึงขนาดตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมให้ลูกสาวแต่งงานกับหนุ่มที่ไม่มีปริญญาเด็ดขาด และหากเป็นไปได้ก็อยากให้ลูกสาวได้แต่งงานกับคนที่จบปริญญาเอก

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาได้ข้อสรุปว่า นอกจากความกระตือรือร้นจากฝั่งสถาบันการศึกษาแล้ว รัฐบาลจีนยังต้องรับบทบาทหลักในการสร้างแรงจูงใจ เช่น การให้ทุนค่าเล่าเรียนฟรีในโรงเรียนอาชีวศึกษา ควบคู่ไปกับการจ่ายเงินสำหรับการฝึกปฏิบัติงาน เพื่อให้พ่อแม่ชาวจีนยอมรับแนวคิดนี้

ที่มา : China Tries to Tame Its Supercompetitive Tiger Parents