มาเลเซียตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะขั้นสูง เล็งบ่มเพาะขัดเกลาฝีมือผู้เรียนตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0
โดย : The Star
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

มาเลเซียตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะขั้นสูง เล็งบ่มเพาะขัดเกลาฝีมือผู้เรียนตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0

รัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำของสำนักงาน Peninsula Higher Education (PHE) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม เพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและนักเรียนด้านอาชีวศึกษาทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นตั้งศูนย์ฝึกอบรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศก่อนต่อยอดขยายศูนย์ฝึกอบรมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในมาเลเซีย ภายใต้เป้าหมายหลักในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะฝีมือสอดคล้องตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล

เว็บไซต์ข่าว The Star สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียรายงานว่า แผนการจัดตั้งศูนย์ครั้งนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามยกระดับปรับปรุงความเป็นเลิศในหลักสูตรอาชีวศึกษาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 นี้

รายงานระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้เดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นอกเหนือจาก Bayan Lepas ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งตะวันออก (Silicon Valley of the East) โดยปัจจุบันเป็นสถานที่ผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้ก็คือ Batu Kawan Industrial Park หรือ BKIP ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโครงการครั้งแรกในปี 2011 ก่อนเติบโตได้อย่างใหญ่โต และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนจัดอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมลำดับต้นๆ ในหมู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น และชาวต่างชาติ ยืนยันได้จากภายในช่วง 10 ปีมานี้ มีบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเกือบ 40 แห่ง ครอบคลุมแวดวงการผลิตในด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องยนต์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

แม้จะเป็นข่าวดีต่อตลาดงานของประเทศมาเลเซีย แต่การขยับขยายดังกล่าวก็ทำให้มาเลเซียตระหนักว่า ประเทศชาติยังคงขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดอย่างเพียงพอ

งานนี้ทางสำนักงาน Peninsula Higher Education (PHE) จึงเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะที่ไม่เพียงให้การศึกษาและเสริมทักษะในบริบทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 เท่านั้น แต่ยังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดหางานและสร้างเครือข่ายระหว่างนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนอาชีวศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของศูนย์ฝึกอบรมก็คือการเป็นศูนย์กลางบ่มเพาะทักษะขัดเกลาฝีมือนักเรียนอาชีวศึกษาให้ขยายตัวเติบโตมากขึ้น

รายงานระบุว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทาง PHE ได้ประกาศจัดสรรงบประมาณ 10 ล้านริงกิตเพื่อลงทุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั่วประเทศมาเลเซียภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกจะตั้งอยู่ที่เกาะปีนัง และใช้ชื่อว่า Peninsula IR 4.0 Talent Growth Hub

ขณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้มาเลเซียสามารถไล่ตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วได้นั้น ทาง PHE ยังได้ตัดสินใจลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับผู้ประกอบการชั้นนำสัญชาติเยอรมันอย่าง Bosch Rexroth ในการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ โดยมีรายงานว่า ขณะนี้ทาง Bosch กำลังเร่งจัดตั้งทีมสอน พร้อมใบประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรมให้กับทางมาเลเซียโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ทาง Bosch Rexroth จะเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์สำคัญสำหรับการฝึกอบรม ให้การสนับสนุนเชิงเทคนิค และจัดทำหลักสูตร Modular Mechatronic System (mMS 4.0) ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาที่ผสานความรู้ในด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์ วิศวกรรมไฟฟ้ากับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ผู้เรียนไม่เพียงแต่ต้องเรียนรู้ทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงต้องเรียนรู้ภาคปฏิบัติเพื่อให้รู้และเข้าใจแนวทางของการนำประยุกต์ใช้

ในส่วนของศูนย์พัฒนาทักษะและการบริการจัดการ หรือ Skills and Management Development Centre (KISMEC) ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่ทาง Bosch Rexroth เข้าร่วมเป็นพันธมิตรและให้การรับรองเพื่อสนับสนุน PHE ในการจัดทำหลักสูตรแบบประยุกต์

สำหรับในช่วงแรก ทางศูนย์ตั้งเป้าจัดทำคอร์สฝึกอบรมด้านวิศวกรรมเครื่องยนต์และกลไกต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงการใช้เทคโนโลยีทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น ระบบการดำเนินการโรงงานผลิต, ระบบไฮดรอลิก, ระบบโรโบติกส์, IoT และเกตเวย์ส, การระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุหรือ Radio Frequency Identification Devices (RFID) และระบบนำทางยานพาหนะอัตโนมัติ หรือ Automated Guided Vehicles (AGV)

อย่างไรก็ตาม ทาง PHE ให้คำมั่นว่าจะมีการขยายเพิ่มเติมคอร์สฝึกอบรมให้กว้างขวางครอบคลุมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดให้มากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.เอียน พาชบาย (Ian Pashby) ประธานกลุ่ม PHE กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ระบบนิเวศที่จะช่วยบ่มเพาะบุคลากรที่มีทักษะฝีมือขั้นสูงของมาเลเซีย เป็นเสมือนท่อน้ำเลี้ยงในการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ ของมาเลเซียได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

“ศูนย์แห่งนี้สร้างขึ้นร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีช่องทางในการจัดเตรียมนักเรียนนักศึกษาของเราให้พร้อมสำหรับความสำเร็จในอาชีพและหน้าที่การงาน รวมถึงช่วยสนับสนุนให้พวกเราได้รับค่าจ้างและค่าตอบแทนที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะได้รับประโยชน์จากหลักสูตรที่ทันสมัย อุปกรณ์การฝึกฝนเรียนรู้ที่ครบสมบูรณ์ และการอบรมจากผู้ฝึกสอนที่มีคุณภาพ” ประธานกลุ่ม PHE กล่าว

ขณะนี้ หนึ่งในหลักสูตรหลักที่หลายบริษัทกำลังจับตามองคือ หลักสูตร Open Core Engineering (OCE) ของ Bosch Rexroth ซึ่งจะให้ผู้เรียนเรียนรู้การเขียนโปรแกรมอย่างอิสระสำหรับเครื่องยนต์ทุกประเภทด้วยภาษาที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งหมายความว่าผู้สำเร็จการศึกษาจะมีความยืดหยุ่นในระดับสูงในการเขียนโปรแกรมและการรวมแพลตฟอร์มอุปกรณ์ อันจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้นักเรียนเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันและรองรับอนาคตที่ดี

ไมเคิล กูนาวัน (Michel Gunawan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Bosch Rexroth ประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย กล่าวว่า Bosch Rexroth มีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์อุตสาหกรรม 4.0 (IR 4.0) ในโลกแห่งความเป็นจริงให้กับคนรุ่นต่อไปผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาเช่นนี้อยู่แล้ว และหวังว่า หลักสูตรที่จัดทำให้กับทาง PHE จะมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงงานฝีมือขั้นสูงให้กับมาเลเซียต่อไป

ความเคลื่อนไหวของ PHE ในครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมของตนเองจากเดิมที่เน้นการพึ่งพาแรงงานราคาถูกและสินค้าทั่วไป มาเป็นการผลิตที่เน้นความคุ้มค่า ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ และพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตแทน

ยกตัวอย่างเช่น ด้วยโซลูชั่นอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรม IoT, คลาวด์ คอมพิวติ้ง และระบบ CPS หรือ cyber-physical systems ซึ่งเป็นระบบทางวิศวกรรมที่บูรณการโลกกายภาพ (Physical World) ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์ เครื่องจักร วัสดุ สภาพแวดล้อม หรือสิ่งต่างๆ ที่จับต้องได้ รวมทั้งมนุษย์ เข้ากับโลกไซเบอร์ (Cyber World) หรือโลกดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และข้อมูล บรรดาบริษัททั้งหลายในขณะนี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อยกระดับกำลังการผลิตและบริหารจัดการทรัพยากร

ขณะเดียวกัน ด้วยความกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตระดับโลก (value chain) บรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งหลายต่างแข่งขันกันแสวงหาผู้มีความสามารถในด้านอุตสาหกรรม 4.0 จำนวนมาก เพื่อรับผิดชอบกำกับดูแลสิ่งที่เรียกกันว่า “Factory of the Future” หรือโรงงานแห่งอนาคต

ดร.ไมเคิล เถีย (Michael Tio) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และกรรมการผู้จัดการบริษัท PKT Logistics Group รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะผู้อำนวยการบริหารของ PHE กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้เดินหน้าผลักดันให้การศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาของประเทศมีความเข้มแข็ง (TVET) โดยหมายรวมถึงการสนับสนุนด้วยการเพิ่มการจัดสรรงบในงบประมาณประเทศประจำปี 2022

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังให้การสนับสนุนผ่านนโยบายต่างๆ เช่น ในการขยายระยะเวลาการลดหย่อนภาษีสองเท่าในเมืองปูตราจายา สำหรับบริษัทที่ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาในทุกศาสตร์สาขาของหลักสูตรอาชีวศึกษา เพิ่มโอกาสทางเลือกให้กับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและสนใจที่ศึกษาต่อด้านอาชีวศึกษาได้มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลต่อไป

ที่มา : CHAMPIONING TVET THROUGH IR 4.0