กูรูแนะเทคโนโลยี Zoom ช่วยเด็กมีทักษะการอ่านก้าวหน้าขึ้น
โดย : KAREN D'SOUZA-EdSource
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กูรูแนะเทคโนโลยี Zoom ช่วยเด็กมีทักษะการอ่านก้าวหน้าขึ้น

แม้การสอนการอ่านที่ดีที่สุดคือการสอนแบบตัวต่อตัว ซึ่งช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนคนหนึ่ง กระนั้น ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนและนักการศึกษาได้ลุกขึ้นมาแนะว่า การใช้เทคโนโลยีสื่อสารออนไลน์อย่างโปรแกรม Zoom ควบคู่กระบวนการสอนอย่างมีคุณภาพของครู สามารถช่วยลดช่องว่างและทำให้การเรียนการสอนด้านทักษะการอ่านเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กเข้าถึงติวเตอร์ส่วนตัวได้สะดวกมากขึ้นและประหยัดมากขึ้น

ทั้งนี้ คาเรน ดีเซาซา (Karen D’Souza) คอลัมนิสต์ด้านการศึกษาเพื่อเด็กเล็กและระดับปฐมวัยของเว็บไซต์ Edsource.org ได้มีโอกาสสัมภาษณ์และพูดคุยกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหลายราย เริ่มต้นที่เจสสิกา รีด สไลเวอร์สกี้ (Jessica Reid Sliwerski) คุณครูระดับประถมศึกษาผู้ตัดสินใจหาแนวทางในการสอนเด็กให้หลงใหลการอ่านมากที่สุดโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์

แนวคิดดังกล่าวทำให้เจ้าตัวผุดโปรเจ็กต์ Ignite ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยสอนการอ่านผ่าน Zoom ภายใต้ความร่วมมือกับ Open Up Resources องค์กรไม่หวังผลกำไรในสหรัฐอเมริกา โดยโปรเจ็กต์ Ignite ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเรียนรู้แนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในช่วงที่เกิดวิกฤตการระบาดของโควิด -19

ในมุมมองของสไลเวอร์สกี้ เธอเชื่อว่า วิกฤตการรู้หนังสือในสหรัฐฯ ไม่ใช่เป็นเพราะเด็กๆ อ่านหนังสือไม่ได้ แต่เป็นเพราะพวกเขายังไม่เจอรูปแบบการสอนและรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับพวกเขา

ภายใต้ความเชื่อมั่นข้างต้น สไลเวอร์สกี้จึงริเริ่มโครงการนำร่องภาคฤดูร้อนกินเวลา 9 สัปดาห์ สำหรับนักเรียนประมาณ 100 คนในระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ในพื้นที่เขตการศึกษา KIPP Bridge Academy ของเวสต์โอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โครงการถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

ไมเคิล เบอร์กส์ (Michael Burks) อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องของสไลเวอร์สกี้ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นตัวพลิกโฉมอัตราการรู้หนังสือของเด็กนักเรียนจำนวนมากของโรงเรียน ที่ได้รับการสอนแบบตัวต่อตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เด็กๆ มีทักษะการอ่าน

นอกจากจะรับบทบาทเป็นอาจารย์ใหญ่แล้ว เบอร์กส์ยังรับหน้าที่ดูแลศูนย์กลางเทคโนโลยีของโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนราว 70 คนหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการผ่าน Zoom ครั้งละ 15 นาทีกับติวเตอร์การอ่านแบบตัวต่อตัว จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก เขาสังเกตว่า ในโครงการนี้ เด็กแต่ละคนจะได้รับการประกบดูแลแบบหนึ่งต่อหนึ่งจากติวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญหลักสูตรการการอ่าน ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้การอ่านของเด็กๆ ในโครงการมีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่าการเรียนรู้ที่จะอ่านอาจดูเป็นกิจกรรมที่ต้องสอนแบบเจอตัวและพบหน้ากัน แถมจะได้ผลดีอย่างยิ่งหากเด็กได้อ่านหนังสือร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่สไลเวอร์สกี้พร้อมด้วยนักการศึกษาอีกส่วนหนึ่งกลับพบว่า วิธีการสอนโดยใช้เทคโนโลยี เช่น Zoom เข้าช่วยในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ก็ช่วยพัฒนาทักษะการอ่านของเด็กให้ก้าวหน้าขึ้นได้เช่นกัน

ประสิทธิภาพของการทดลองเรียนรู้ผ่าน Zoom นี้ ยังมีผลศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดรองรับ ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์รีเบคคา ซิลเวอร์แมน (Rebecca Silverman) แห่งสแตนฟอร์ด ได้เริ่มต้นทดลองภายใต้แนวคิดว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในยุคโควิด-19 โดยหนึ่งในนั้นก็คือการทดลองใช้ Zoom เพื่อเชื่อมโยงนักเรียนและติวเตอร์ในโครงการ “Ravenswood Reads” ให้ได้พบปะเจอกันผ่านหน้าจอ ทั้งนี้โครงการ Ravenswood Reads เป็นโครงการที่นักศึกษาจากสแตนฟอร์ดจะช่วยเป็นติวเตอร์สอนอ่านเขียนให้เด็กจากครอบครัวยากจนในเขตซานมาเทโอ แคลิฟอร์เนีย โดยเด็กๆ ที่ร่วมโครงการจะอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจากการประเมินผลโครงการพบว่าผลลัพธ์ของการใช้ Zoom สอนเขียนอ่านนั้นสะท้อนออกมาในทางบวก

นอกจากนี้ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีการศึกษาของสหรัฐฯ ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสอนออนไลน์แบบตัวต่อตัวแก่เด็กๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Hoot Reading และ Amira ที่ใช้ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาเป็นตัวช่วยสอนเขียนอ่าน ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความหวังที่กำลังเบ่งบานขึ้น ท่ามกลางสถิติที่เผยให้เห็นว่าทักษะการอ่านของเด็กจำนวนมากในแคลิฟอร์เนียกำลังตกต่ำ สะท้อนผ่านคะแนนสอบการอ่านที่เด็กเกือบครึ่งทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ทอดด์ คอลลินส์ (Todd Collins) หนึ่งในผู้จัดงานความร่วมมือเพื่อการอ่านแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือ California Reading Coalition ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลักดันส่งเสริมการอ่านเขียนในเด็ก ยอมรับว่า เด็กๆ จะเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อพวกเขาได้พบเจอกับครูและติวเตอร์ตัวเป็นๆ กระนั้นก็ตาม เมื่อการพบแบบตัวต่อตัวทำไม่ได้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นการนำเทคโนโลยีทางการศึกษา (ed-tech) เข้ามาช่วยจึงเป็นทางเลือกที่ดี

กระนั้นคอลลินส์ก็ย้ำว่า เทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นเพียงส่วนเสริมที่เข้ามาสนับสนุนการสอน แต่ไม่ได้แทนที่บทบาทของครู โดยโครงการ Ignite ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การสอนแบบตัวต่อตัว เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ส่งผลดีต่อเด็กๆ อย่างยิ่ง

โครงการนำร่องเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้สอนแบบตัวต่อตัวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางวิกฤตการรู้หนังสือของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยหลายปีที่ผ่านมา รัฐแคลิฟอร์เนียต้องเผชิญกับผลคะแนนการสอบการอ่านที่น่ากังวล อีกทั้งยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนที่มีฐานะยากจนกับเพื่อนร่วมชั้นที่มีฐานะทางบ้านดีกว่า

ทั้งนี้ในช่วงปีการศึกษา 2018-2019 ทางการรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่า มีเพียง 48.5% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ทำการทดสอบในระดับชั้นประถมศึกษาได้ผ่านเกณฑ์หรือสูงกว่าเกณฑ์ในวิชาอ่านเขียนอังกฤษ

ทั้งนี้ การอ่านถือเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ ซึ่งการวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่อ่านไม่คล่องมักจะเรียนรู้ไม่ทันเพื่อน โดยเมื่อไม่นานมานี้ โทนี เธอร์มอนด์ (Tony Thurmond) ผู้ดูแลด้านการสอนสาธารณะแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เพิ่งริเริ่มโครงการใหม่เพื่อเปิดทางให้นักเรียนประถมชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสเข้าร่วมคอร์สการอ่านทุกๆ ปีภายในปี 2026 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ภาวะอ่านเขียนไม่คล่องในหมู่เด็กๆ ที่กำลังเป็นวิกฤตในรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ ก็ช่วยเร่งเครื่องให้โปรแกรม Ravenswood Reads ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดปรับปรุงโปรแกรมด้วย โดยปัจจุบันโครงการ Ravenswood Reads ได้หันมาใช้ Zoom ในการสอนอ่านเขียนให้เด็กๆ จำนวน 20 คน โดยเด็กกลุ่มนี้มาจากครอบครัวยากจนในย่านอีสต์พาโลอัลโต (East Palo Alto)

โครงการสอนอ่านเขียน Ravenswood Reads เริ่มต้นดำเนินการครั้งแรกในปี 1986 และหลังจากที่โลกเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้โครงการต้องปรับมาสอนผ่านออนไลน์ ซึ่งแม้จะติดขัดอยู่บ้าง แต่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็มีข้อดีตรงที่ช่วยให้ผู้สอนสามารถใช้สื่อเคลื่อนไหวอย่างภาพและเสียงมาประกอบการสอนคำศัพท์แก่เด็กๆ ได้ ทำให้เด็กนักเรียนเข้าใจคำศัพท์แต่ละตัวมากขึ้น แถมยังสามารถสื่อสารตอบโต้กับผู้สอนได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย

รองศาสตราจารย์รีเบคคา ซิลเวอร์แมน (Rebacca Silverman) แห่งคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งศึกษาการรู้หนังสือและการพัฒนาการอ่านในเด็กก่อนวัยเรียนและประถมศึกษา กล่าวว่า ขณะที่ตนเองยังคงชอบที่จะสอนแบบตัวต่อตัวเพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างติวเตอร์กับผู้เรียน กระนั้นนวัตกรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศก็ช่วยให้การสอนพิเศษทางไกลประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์กับผู้เรียนอย่างมากเช่นกัน

“สิ่งที่น่าสนใจคือ สำหรับเด็กบางคน Zoom ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยย่อมๆ ที่ทำให้พวกเขาสบายใจและกล้าที่จะเริ่มทำความรู้จักกับคุณครู ความไว้วางใจนั้นสำคัญมาก เพราะเมื่อเด็กๆ ไว้วางในคุณครู พวกเขาจะกล้าลองผิดลองถูกกล้าตอบคำถาม และเริ่มอยากเรียนรู้ในระดับที่ยากขึ้นไปอีก” ซิลเวอร์แมนระบุ

ในส่วนของคำถามที่ว่า การสอนแบบเสมือนจริงมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น คุณครูสไลเวอร์สกี้กล่าวว่า โดยรวมแล้ว นักเรียนที่ร่วมโครงการ Ignite ช่วงภาคฤดูร้อน มีความคืบหน้าในการอ่านเฉลี่ย 2.5 สัปดาห์ต่อสัปดาห์ และที่สำคัญ ยิ่งนักเรียนอยู่ในระดับชั้นตอนต้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น

รายงานระบุว่า แนวคิดของโครงการ Ignite นี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างเรียบง่าย โดยนักเรียนแต่ละคนจะได้รับการสอนแบบตัวต่อตัวจากติวเตอร์ทางไกลผ่านแอป Zoom ทุกวัน วันละ 30 นาที โดย 15 นาทีแรกคือการสอนทักษะการอ่านพื้นฐาน เช่น การออกเสียง เพื่อเติมทักษะขั้นต้นที่จำเป็นแก่เด็ก อีก 15 นาทีที่เหลือจะให้เด็กๆ ใช้เวลาอ่านร่วมกันกับติวเตอร์เพื่อเรียนรู้คำศัพท์และสร้างความเข้าใจในการอ่าน

“เคล็ดไม่ลับของความสำเร็จนี้คือ เหล่าติวเตอร์แค่ทำในสิ่งที่ทุกเขตการศึกษาควรทำ คือมุ่งเน้นไปที่ทักษะพื้นฐานและดำเนินการสอนอย่างเป็นระบบและชัดเจน ซึ่งนี่เป็นมาตรฐานที่ถูกส่งเสริมมาตลอด 20 ปี แต่โรงเรียนส่วนใหญ่กลับละเลยและไม่ทำอย่างนั้น” คอลลินส์กล่าว

นอกจากนี้ สไลเวอร์สกี้ยังกล่าวว่า ขณะที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีระดับการอ่านหนังสืออยู่ในขั้นอนุบาลอาจรู้สึกประหม่าในการเรียนเป็นกลุ่ม แต่การเรียนตัวต่อตัวกับติวเตอร์ใน Zoom ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและกล้าฝึกอ่านคำศัพท์ใหม่ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะโดนเปรียบเทียบกับเพื่อนที่อ่านได้คล่องกว่า ทั้งนี้ติวเตอร์จะคอยกระตุ้น และชมเชยเด็กในทุกบทเรียน ซึ่งสไลเวอร์สกี้ย้ำว่า การสอนแบบตัวต่อตัวเป็นวิธีที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมา

“เด็กแต่ละคนนั้นต่างกัน บางคนต้องการความช่วยเหลือเยอะหน่อย บางคนอาจไม่อยากให้ครูมายุ่งด้วยมาก ดังนั้น การฝึกสอนให้เขาอ่านเขียนโดยมีครูคอยประกบตัวต่อตัวจึงเป็นการสอนที่เหมาะสม เพราะการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวนั้นเอื้อให้ครูหรือติวเตอร์ปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เหมาะกับศักยภาพของเด็กแต่ละคนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ” ซิลเวอร์แมนกล่าว

จริงๆ แล้วการเรียนรู้นั้นควรถูกทำให้เป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก แต่ในโลกที่กำลังปั่นป่วนเพราะภาวะโรคระบาด เด็กยุคนี้ต้องเผชิญกับความหวาดกลัว ความสูญเสีย และความเจ็บปวดในทุกๆ วัน ความหนักหนาสาหัสที่เด็กๆ ต้องเผชิญนี้ทำให้กลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพเด็กต้องออกมารวมตัวและเรียกร้องให้ภาวะสุขภาพจิตของเด็กที่ถูกกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นสถานการณ์สุขภาพจิตฉุกเฉินระดับชาติแล้ว

ทั้งนี้ สไลเวอร์สกี้ได้ยกกรณีตัวอย่างของเด็กชายวัย 9 ปี อย่างไคล่า เอ็น โจชัว (Kaila’N Joshua) ผู้มักจะมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างรุนแรง และเกลียดการอ่าน แต่หลังจากที่โจชัวเข้าร่วมโปรแกรม Ignite ได้เพียง 11 วัน เด็กชายคนนี้ก็เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เพราะติวเตอร์ช่วยสอนในสิ่งที่เจ้าตัวไม่รู้ และทำให้เขารู้สึกว่าการเรียนหนังสือนั้นสนุกขึ้นมาก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสรุปว่า การปลูกฝังให้เด็กๆ หลงรักการอ่านนั้น อาจเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยเสริมอัตราการรู้หนังสือ ยิ่งเด็กอ่านออกเขียนได้มากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลดีต่อความยุติธรรมในสังคม เพราะความรู้คืออำนาจ และการรู้หนังสือสามารถบรรเทาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมได้

ในฐานะชาวอเมริกันผิวสี เบอร์กส์กล่าวว่า ปัญหาความไม่รู้หนังสือมีรากเหง้ามากจากความเหลื่อมล้ำ 100% เพราะบรรพบุรุษผิวสีของตนเองจะถูกฆ่าหรือทรมานหากพบว่าพยายามที่จะอ่านหนังสือ ดังนั้นการอ่านหนังสือสำหรับเด็กบางคนบางกลุ่มในสังคมมีราคาที่ต้องจ่าย และหากไม่สามารถอ่านหนังสือออกได้ภายในประถมศึกษาปีที่ 4 ก็เท่ากับว่า ชีวิตของคนคนหนึ่งจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที  “ภารกิจของเราคือ ทำให้เด็กเหล่านี้มีทักษะอ่านเขียนและรู้หนังสือ” เบอร์กส์กล่าวปิดท้าย

ที่มา : Can you teach reading on Zoom? 1-on-1 online sessions with trained teachers can narrow achievement gap