คลังอังกฤษเล็งจัดงบหนุนโครงการเสริมทักษะอาชีพเยาวชน
โดย : Hannah Richardson
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

คลังอังกฤษเล็งจัดงบหนุนโครงการเสริมทักษะอาชีพเยาวชน

รัฐมนตรีคลังอังกฤษเตรียมเปิดเผยแผนใช้จ่ายมูลค่ากว่า 1,000 ล้านปอนด์ สำหรับการดำเนินการปฏิวัติทักษะแรงงานอาชีพของเด็กและเยาวชน หรือโครงการ T-level ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณอีกส่วนหนึ่งในการยกระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัยมากขึ้น

สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษเปิดเผยว่า ริชิ ศุนาก (Rishi Sunak) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษ เตรียมเปิดเผยแผนการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนทักษะอาชีพของเยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ในอังกฤษ ระหว่างขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ประจำฤดูใบไม้ร่วงในวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2021 โดยเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลในการ “ปฏิวัติทักษะ” แรงงานของอังกฤษสำหรับศตวรรษที่ 21 ด้วยแผนการใช้จ่ายงบประมาณชุดใหม่

รายงานระบุว่า รัฐมนตรีคลังอังกฤษจะประกาศเปิดเผยงบใช้จ่ายมูลค่า 1,600 ล้านปอนด์ (ราว 72,986 ล้านบาท) ในโครงการ T-level ฉบับปรับปรุงใหม่สำหรับเยาวชนอายุระหว่าง 16-19 ปี และงบใช้จ่ายอีก 550 ล้านปอนด์ (ราว 25,000 ล้านบาท) สำหรับผู้ใหญ่ในการพัฒนาทักษะวิชาชีพแขนงต่างๆ

นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังอังกฤษยังได้ใช้โอกาสนี้เดินหน้าจัดสรรงบอีก 830 ล้านปอนด์ (ราว 38,000 ล้านบาท) ในการดำเนินการยกระดับปรับปรุงวิทยาลัยให้ทันสมัยตามแผนพัฒนาต่อเนื่อง 5 ปีที่วางไว้ก่อนหน้า

สำหรับงบประมาณ 1,600 ล้านปอนด์ที่จะใช้อุดหนุนโครงการ T-level นี้ จะแจกจ่ายไปยังวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นงบดำเนินการเรียนการสอนแก่หนุ่มสาวชาวอังกฤษกว่า 100,000 คนที่ลงเรียนในหลักสูตรตลอดช่วง 3 ปีนับจากนี้ คือระหว่างปี 2022 – 2024 โดยปัจจุบันมีผู้เรียนในหลักสูตร T-level ประมาณ 2,000 คน

สำหรับ T-level หรือ Technical-level เป็นหลักสูตรวุฒิสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษาแนวใหม่ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเทียบเท่ากับหลักสูตรการศึกษาสามัญของ A-levels ทั้ง 3 ระดับ โดยหลักสูตรดังกล่าวได้รับการพัฒนาร่วมกับภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม

ปัจจุบันหลักสูตร T-level มีทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน คือ 1) การออกแบบ การสำรวจ และการวางแผนสำหรับการก่อสร้าง 2) การผลิต การออกแบบ และการพัฒนาดิจิทัล และ 3) การศึกษาและการดูแลเด็ก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังเร่งดำเนินการเพื่อขยายหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับอาชีพอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น

กระทรวงการคลังอังกฤษยืนยันว่า งบประมาณดังกล่าวจะรองรับวัยรุ่นและเยาวชนอังกฤษที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อในภายหลังแล้ว

ในส่วนของงบประมาณใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเติมที่จัดสรรไว้ที่ 550 ล้านปอนด์ กระทรวงการคลังอังกฤษระบุว่า แผนใช้จ่ายดังกล่าวจะนำไปสนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะสำหรับผู้ใหญ่ผ่านกองทุน Skills Fund ตั้งแต่ปี 2022-2024 โดยกองทุนนี้จะเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นที่เรียกว่า “ค่ายฝึกทักษะ” (“skills boot camps”) สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิ GCSE (General Certificates of Secondary Education) หรือการสอบจบการศึกษาของโรงเรียนหรือวิทยาลัยทั่วอังกฤษ

นอกจากนี้ยังมีงบอีก 170 ล้านปอนด์ (ราว 7,754 ล้านบาท) สำหรับการฝึกงานและฝึกอบรมในองค์กร และอุตสาหกรรมต่างๆ

ริชิ ศุนาก รัฐมนตรีคลังอังกฤษกล่าวว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาที่มอบให้แก่บุตรหลานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องมอบให้กับประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งแผนการใช้จ่ายมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านปอนด์นี้จะสร้างให้เกิด “การปฏิวัติทักษะ” ซึ่งช่วยส่งเสริมแผนการสร้างงานของรัฐบาล และกระจายโอกาสไปทั่วสหราชอาณาจักร

“งบประมาณที่จะใช้ยกระดับการศึกษาครั้งนี้จะทำให้มีโครงการฝึกอบรมเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งนี้ผลของโครงการฝึกอบรมที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว การพัฒนาทักษะผู้คนในประเทศเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำพาให้ประเทศเติบโตและมีค่าแรงเพิ่มสูงได้อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีคลังอังกฤษให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซี

แผนการใช้จ่ายครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากหลายฝ่าย นำโดย เดวิด ฮิวจ์ส (David Hughes) ผู้บริหารระดับสูงของสมาคมวิทยาลัยอังกฤษ (Association of Colleges) ที่ระบุว่า แผนยกระดับการศึกษาถือเป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดีท่ามกลางสภาวะที่ยากลำบาก

“การที่รัฐมนตรีคลังออกมาเปิดเผยแผนงบประมาณเพื่อยกเครื่องการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนในผู้คนเพื่อเพิ่มทักษะ ซึ่งสะท้อนว่าการผลักดันต่างๆ ที่เราทำมานั้นได้ผล”

ขณะเดียวกัน เดวิด ฮิวจ์ส ยังใช้โอกาสนี้กระตุ้นให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูวิกฤตการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงภาวะ “สูญเสียการเรียนรู้” (learning loss) ของนักเรียนทั่วอังกฤษ โดยทางสมาคมได้คำนวณเบื้องต้นว่าต้องใช้งบอย่างน้อย 300 ล้านปอนด์ต่อปีในการสนับสนุนการกู้คืนการศึกษาสำหรับเด็กอายุ 16 ถึง 19 ปี

ด้านบิลล์ วัตคินส์ (Bill Watkins) ประธานบริหารของสมาคม Sixth Form Colleges Association กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่การประกาศของกระทรวงการคลังแสดงให้เห็นความเอาใจใส่ของรัฐที่ต้องการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนชายขอบ อายุ 16 ถึง 19 ปีที่เลือกเรียนหลักสูตรทางวิชาชีพทางเทคนิคเป็นหลัก

“เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่นักเรียนในอังกฤษทุกคนสมควรได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาอย่างเหมาะสม และเราหวังว่าการพิจารณาแผนการใช้จ่ายของกระทรวงการคลัง จะให้ความสำคัญกับคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่เรียนคุณวุฒิ A-level หรือวุฒิ BTec ด้วยเช่นกัน”

ขณะที่เจฟฟ์ บาร์ตัน (Geoff Barton) เลขาธิการสมาคมโรงเรียนและผู้นำวิทยาลัย (general secretary of the Association of School and College Leaders) แสดงความชื่นชมกับการตัดสินใจเพิ่มงบใช้จ่ายให้แก่หลักสูตร T-level ที่มักจะประสบภาวะ “ขาดแคลนทุนทรัพย์” อยู่เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็ออกโรงเตือนว่า รัฐบาลจำเป็นต้องสำรวจความต้องการของผู้เรียนอย่างจริงจังเพื่อให้วางแผนการใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เพราะขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีวัยรุ่นชาวอังกฤษต้องการเข้าร่วมเรียนในหลักสูตร T-level กี่คนกันแน่

ที่มา : Budget 2021: Rishi Sunak to pledge funding for T-levels