กสศ. ร่วมระดมความเห็นผ่านเวที ‘พลิกโฉมการศึกษาไทย’ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ย้ำเด็กกลุ่มเปราะบางสำคัญที่สุด
สานพลังทุกภาคส่วนยุติความเหลื่อมล้ำ ภายใต้แนวคิด All for Education

กสศ. ร่วมระดมความเห็นผ่านเวที ‘พลิกโฉมการศึกษาไทย’ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ย้ำเด็กกลุ่มเปราะบางสำคัญที่สุด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพลิกโฉมการศึกษา (National Consultation for Transforming Education Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล  โดยมี โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการ องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานสายงาน FTI Academy สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญกล่าวในหัวข้อแนวทางการพลิกโฉมการศึกษาไทยว่า  การรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลมีความสำคัญมากต่อการทำงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะประชากรในส่วน 5 – 10 % สุดท้าย คือกลุ่มที่เราต้องเข้าถึงให้ได้ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 และทำให้พวกเขาได้เข้าถึงโอกาสในการศึกษา

“ประชากร  5 – 10 % นี้ เราเรียกว่า ประชากรในหลักกิโลเมตรสุดท้าย (Last – mile) ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐหรือภาคเอกชน ต่างทราบดีว่าโจทย์ของหลักกิโลเมตรสุดท้ายเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากที่สุดเสมอ เป็นโจทย์ที่จะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริง ๆ เราจึงใช้คีย์เวิร์ดสำคัญเรื่อง All for Education เพื่อบรรลุเป้าหมาย Education for All  ร่วมกันให้ได้

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า การบรรลุไปสู่ All for Education จะต้องใช้มาตรการที่หลากหลาย และหลายหน่วยงานมาทำร่วมกัน อย่างมาตรการด้านข้อมูลสารสนเทศ เช่น ถ้าใช้เลข 13 หลักเป็นตัวตั้ง จะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการบูรณาการทุกสังกัด แม้ทุกสังกัดจะเปิดเทอมใกล้เคียงกัน แต่วงจรในการรวบรวมข้อมูลรายบุคคลไม่เหมือนกัน เช่น ข้อมูลจาก กทม.มี 400 กว่าโรงเรียนก็แบบหนึ่ง เมื่อเปิดเทอมใหม่ เด็กอาจย้ายไปตามไซต์ทำงานของพ่อแม่หรือกลับต่างจังหวัดไป ข้อมูลอาจไปอยู่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. หรือหายไป

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ฉะนั้นการจะรวบรวมข้อมูลรายบุคคลมาจากทุก ๆ หน่วยงาน สู่ระบบข้อมูลเดียวกันเพื่อตรวจสอบเด็กตกหล่น จึงยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

ในส่วนของการทำงานด้านกระบวนการเหล่านี้ เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนตรงกันแล้ว ก็ไปสู่เรื่องของงบประมาณต่อไป การที่เรามีข้อมูลที่มีตัวตนชัดเจน สามารถตรวจสอบได้ จะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณไปที่ตัวเด็กอย่างถูกต้องและรายงานผลได้อย่างไม่คลาดเคลื่อน

“ประเทศไทยภายใต้แนวคิด All for Education จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีระบบสารสนเทศที่ดี มีแนวทางประสานความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมให้ได้ รวมถึงต้องมีนวัตกรรมทางการเมืองและการคลังด้วย”

ดร.ไกรยส กล่าวเสริมว่า เป็นที่ทราบดีว่าเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19  การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐมีแนวโน้มลดลง แนวทางและมาตรการในการใช้งบประมาณเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 จึงมีความจำกัด แต่มีมิติที่หลากหลายขึ้น ดังนั้น การสร้างนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อดึงเงินจากภาคเอกชน หรือภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาหนุนเสริมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อทำให้รัฐมีงบประมาณที่เพียงพอในการจัดการศึกษาในภาวะโควิด-19 รวมถึงมีระบบคุ้มครองด้านสังคมต่าง ๆ อย่างครอบคลุมปัญหา

“ประเด็นสุดท้าย ผมจะขอเน้นย้ำตามข้อสรุปที่เคยเสนอไปตั้งแต่เมื่อปี 2563 คือ Area Based Education หรือการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ อย่างจังหวัดที่มีสภาหอการค้าจังหวัด หรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เขาจะรู้ความต้องการภาคแรงงาน รู้ความต้องการของทักษะตามแต่ละพื้นที่ต้องการ

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการศึกษา จึงต้องเป็นการปักหมุดหมายร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถผลิตบัณฑิตและกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า เมื่อขยับการทำงานมาในปี 2564 เรามีการประชุมนานาชาติ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ  กสศ. และองค์กรระหว่างประเทศร่วมกันจัด ครั้งนั้นได้มีการเน้นย้ำความสำคัญไปที่เรื่องของครู เพราะภายใต้วิกฤตเป็นช่วงที่โรงเรียนต้องปิดและเปลี่ยนมาเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์

“คุณครูคือความหวังสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนรู้ยังคงมีอยู่ได้ แต่คุณครูและสถานศึกษาจะเข้าไปอยู่ในระบบออนไลน์ ตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญต่อการจะพลิกโฉมทางการศึกษา เพราะในสถานการณ์นี้ เราจะทำแบบเดิมไม่ได้อีก

“การแก้ไขปัญหาทั้งหมดจึงเน้นหลักการขับเคลื่อนให้ทุก ๆ ภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา Last mile ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและเราก็พยายามที่จะให้ข้อสรุปจากข้อตกลงที่เรียกว่า ถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 มุ่งสู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคนและการพลิกโฉมการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Bangkok Statement 2022) เข้าไปอยู่ในการทำงานในอนาคต ของทั้ง กสศ.และหน่วยงานต่าง ๆ”

ดร.ไกรยส อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอในถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565 แบ่งออกเป็นหลายด้าน แต่ที่อยากเน้นย้ำมี 4 ด้าน คือ 1.การเปิดเรียนอย่างปลอดภัยและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้เรียนทุกคน 2.กลยุทธ์การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 3.ความเท่าเทียม การครอบคลุมและความเสมอภาคทางการศึกษา และ 4.การลงทุนทางการศึกษาที่ดีขึ้น

นายชิเกรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการ องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ

การเปิดเรียนอย่างปลอดภัยและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้เรียนทุกคน ที่เราเน้นในด้านนี้เพราะอยากให้ทุก ๆ คนได้นึกถึงน้อง ๆ ในส่วนที่ยังไม่ได้กลับมาสู่โรงเรียน ทุกวันนี้แม้ว่าในโครงการพาน้องกลับมาเรียน ของรัฐบาล เราพาน้อง ๆ กลับมาได้สำเร็จพอสมควรในปี 2564 แต่พอปี 2565 ก็เหมือนวงจรต้องย้อนกลับมาให้เริ่มต้นใหม่

“เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบชื่อทั่วประเทศไปแล้ว หลังจากนี้ทุกโรงเรียนต้องไปติดตามว่ามีเด็กคนไหนที่หายไปจากการตรวจเช็คเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมาหรือไม่ และจะมีการตรวจสอบครั้งต่อไปในวันที่ 10 พฤศจิกายน เราต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะการเปิดเรียนอย่างปลอดภัย ต้องให้น้อง ๆ กลับมาได้ เมื่อกลับมาแล้วก็ต้องมีมาตรการเรื่องการฟื้นฟูการเรียนรู้เป็นรายบุคคล เด็กคนไหนที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ต้องมีการติดตามเป็นรายบุคคล”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส กล่าวว่า การทำงานตรงนี้จะต้องมีระบบติดตามกลุ่มเปราะบาง และอีกสิ่งสำคัญคือ การลงทุนด้านการศึกษา “นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปีที่เราใช้โอกาสตรงนี้พูดถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีการปรับอัตราให้เด็ก ๆ ทุกคนได้รับงบประมาณอย่างทั่วถึงกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กยากจนอีกกลุ่มที่เปราะบาง ถ้ามีการจัดการให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ในเป้าหมายของเรียนฟรี 15 ปีด้วย เราก็จะสามารถขยับตรงนี้ได้เพิ่มเติมในอนาคต การฟื้นฟูให้เกิดความเสมอภาคได้อย่างแท้จริง จะต้องมีการลงทุนทางการศึกษาที่ดีขึ้นด้วยการจัดสรรงบประมาณตามหลักความเสมอภาคและเชื่อมโยงกับแผนคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ”