โรงเรียนทั่วสหรัฐฯ เร่งร่างแผนการศึกษามุ่งช่วยเด็กด้อยโอกาส
โดย : Lauren Camera - US News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

โรงเรียนทั่วสหรัฐฯ เร่งร่างแผนการศึกษามุ่งช่วยเด็กด้อยโอกาส

บรรดาผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ ต่างเร่งเตรียมแนวทางและแผนการศึกษาซึ่งเป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากแผนการเดิมที่มีอยู่ ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดโรงเรียนภาคฤดูร้อนและโปรแกรมกวดวิชาต่าง ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียการเรียนรู้ของเด็กที่หายไปในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่เด็กด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ชนบทห่างไกล และเด็กผู้พิการทุพพลภาพ

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มีขึ้นหลักจากที่ทาง NWEA หน่วยงานอิสระไม่แสวงหาผลกำไรที่ติดตามเรื่องการประเมินผลและนโยายการศึกษา ได้เปิดเผยการศึกษาฉบับใหม่ พบว่า แม้นักเรียนพิการทุพพลภาพ นักเรียนที่อาศัยอยู่ในชุมชนชนบทห่างไกล และนักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่จนต้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จะได้เรียนหนังสือในปริมาณที่เท่ากัน และระดับเดียวกัน กับเพื่อนร่วมรุ่น กระนั้น การปิดโรงเรียน และหยุดเรียนเป็นระยะเวลาเท่ากัน กลับทำให้เด็กกลุ่มนี้สูญเสียสิ่งที่เรียนรู้มาได้เร็วกว่า

ก่อนหน้านี้ มิเกล คาร์โดนา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ ได้มีคำสั่งเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่การศึกษาของรัฐและผู้นำโรงเรียนเสนอโปรแกรมการเรียนรู้ภาคฤดูร้อนแบบเข้มข้นสำหรับนักเรียนที่ประสบความสูญเสียทางวิชาการมากที่สุดเนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

ลินเซย์ ดวอร์คิน รองประธานฝ่ายนโยบายและการสนับสนุนของ NWEA กล่าวว่า จากผลการศึกษาที่ผ่านมายืนยันได้ว่า นักเรียนที่ด้อยโอกาสสามารถเติบโตทางวิชาการในอัตราที่เท่ากันหรือเร็วกว่าเพื่อนร่วมรุ่น หากได้รับการดูแลเอาใจใส่กวดขันเป็นพิเศษจากครูผู้สอนอย่างเหมาะสม โดยงานวิจัยหลายชิ้นให้ความสำคัญกับการเรียนภาคฤดูร้อน และแสดงให้เห็นความจำเป็นในการปรับปรุงหลักสูตรภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสกลุ่มนี้

ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาและนักการศึกษาของแต่ละเขตการศึกษามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาของนักเรียนผิวสี  พร้อมกับที่มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นยืนยัน กระนั้นสำหรับนักเรียนยากจน ด้อยโอกาส ทุพพลภาพ และอาศัยอยู่ในชนทบทห่างไกล กลับได้รับความสำคัญน้อยกว่า ทั้ง ๆ ที่ ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียในระดับที่รุนแรงไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ งานวิจัยฉบับใหม่ของ NWEA ได้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับการสูญเสียการเรียนรู้ที่นักเรียนด้อยโอกาสกลุ่มนี้ประสบในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนก่อนการระบาดใหญ่ เพื่อคาดการณ์ว่าการสูญเสียการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไรสำหรับเด็กเหล่านี้ อีกทั้งนักวิจัยงได้วิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มย่อยของนักเรียนแต่ละคนเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าเด็กนักเรียนกลุ่มนี้พลาดที่ไหนและพลาดเมื่อใด

ยกตัวอย่างเช่น ในการศีกษาติดตามผลการเรียนของนักเรียนทั่วสหรัฐฯ พบว่า นักเรียนในชนบทเข้าโรงเรียนอนุบาลที่มีระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์และการอ่านสูงกว่าเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ในชนบท (เด็กในเมือง) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนในเมืองกลับทำผลงานได้ดีกว่านักเรียนจากชุมชนในชนบททุกระดับชั้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า นักเรียนในชนบทมีพัฒนาการด้านทักษะความรู้ในอัตราที่เร็วกว่านักเรียนคนอื่นๆ เล็กน้อยในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันขณะเรียนหนังสือในภาคเรียนตามปกติ ทว่าในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเกือบทุกภาค เด็กกลุ่มนี้กลับยังคงสูญเสียสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ตลาดภาคการศึกษาเสมอ และในระดับที่มากขึ้นเรื่อยๆ 

ในส่วนของนักเรียนผู้พิการทุพพลภาพ การศึกษาจากนักเรียนทั่วประเทศแสดงให้เห็นว่า นักเรียนผู้พิการแม้จะเข้าโรงเรียนอนุบาลตามหลังเพื่อนร่วมรุ่น แต่ก็ยังสามารถทำคะแนนด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการเอาใจใส่จากครูผู้สอนเป็นพิเศษ ทว่า ปัญหาที่ท้าทายสำหรับเด็กผู้พิการกลุ่มนี้คือ การที่เด็กๆ ต้องสูญเสียความรู้ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนมากขึ้น ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่มุ่งเน้นเรื่องความสำเร็จและการเติบโตของผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีคะแนนสอบต่ำกว่าเพื่อนในช่วงชั้นประถมศึกษา แต่พวกเขาก็ยังสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ใกล้เคียงกับหรือในระดับที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองก็มีผลลัพธ์ไม่ตางกับนักเรียนผู้พิการที่มักจะสูญเสียความรู้อยู่เสมอในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน

ทั้งนี้ ลำพังแค่ปิดเทอมเพียงระยะสั้น ๆ ยังทำให้เด็กด้อยโอกาสทั้งหลายสูญเสียการเรียนรู้ในระดับที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่น ดังนั้น ต่อให้จะยังไม่มีการศึกษามากมาย แต่การที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกตินานรวมกว่า 3 ปี ย่อมสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง 

และเมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย บวกกับการที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จัดงบช่วยเหลือหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้หน่วยงานการศึกษาในแต่ละเขตการศึกษาทั่วประเทศสามารถเพิ่มแผนการที่จะเสนอโรงเรียนภาคฤดูร้อนและโปรแกรมกวดวิชาเพื่อพยายามชดใช้การสูญเสียการเรียนรู้บางส่วนเหล่านั้น

“ขณะนี้มีทรัพยากรเกื้อหนุนมากมาย ทั้งยังอยู๋ในขอบเขตที่เงินสามารถแก้ปัญหาได้ แน่นอนว่า แม้ไม่มีทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย แต่อย่างน้อยขณะนี้ก็มีแรงสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและหลายภาคส่วนในระดับที่ค่อนข้างมากเพื่อดำเนินการให้แผนการศึกษามีความเป็นไปได้มากขึ้น” ดวอร์คินกล่าว 

ในการวิเคราะห์แผนการใช้เงินช่วยเหลือของเขตการศึกษาจากงบ American Rescue Plan ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดย FutureEd ซึ่งเป็นองค์กรนโยบายการศึกษาในสังกัดของ  McCourt School of Public Policy มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ แสดงให้เห็นว่าประมาณ 30% ของงบช่วยเหลือถูกใช้ไปสู่การฟื้นฟูทางวิชาการในพื้นที่ 

โดยจากการวิเคราะห์พบว่า โรงเรียนใช้เงินมากกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์ สำหรับการสอนพิเศษและการฝึกสอน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่างบที่ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,600 ล้านดอลลาร์เมื่อถึงเวลาที่ความช่วยเหลือด้านการศึกษาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโคโรนาไวรัสของรัฐบาลกลางหมดอายุในปี 2024

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่ขัดขวางนักเรียนด้อยโอกาสไม่ให้เข้าถึงบริการภาครัฐ แม้จะอยู่ในแผนที่วางไว้อย่างดีก็ตาม ซึ่งปัญหามากมายเหล่านั้น รวมถึงการขาดแคลนบุคลากร ความเหนื่อยหน่ายของครู ความท้าทายด้านการขนส่ง และการลงทะเบียนนักเรียนที่ยุ่งยากมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ในเขต Newark ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักเรียนประมาณ 45% จากทั้งหมด 38,000 คนมีภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ และอีก 10% ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ถนัด และอีก 9% ของนักเรียนเป็นผู้พิการทุพพลภาพ ข้อมูลจากรัฐบาลกลางพบว่าผลลัพธ์จากการสอบกลางปีค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าตกใจ 

ผลลัพธ์การสอบกลางปีที่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่การศึกษาปรับลดความคาดหวังที่นักเรียนเกรด 3-7 จะสามารถบรรลุการสอบวิชาคณิตศาสตร์ในช่วยปลายปีลงมาอยู่ที่ 6% ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 27% เช่นเดียวกัน ในวิชาการอ่าน พบว่านักเรียนที่จะบรรลุการสอบด้านการอ่านคาดกว่าในปลายปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้นที่จะสามารถบรรลุความเชี่ยวชาญที่ตั้งใจไว้ 

นอกจากนี้ Newark ยังเผชิญปัญหาเหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ในการพยายามดิ้นรนที่จะจ้างครูที่เชี่ยวชาญให้เพียงพอและยังคงเผชิญกับการหยุดชะงักครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกลับมาแพร่ระบาดหนักทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องเปลี่ยนมาเป็นการเรียนรู้ทางไกล

รายงานระบุว่า ด้วยงบช่วยเหลือมูลค่า 282 ล้านดอลลาร์ที่ Newark จะได้รับจากรัฐบาลกลาง เจ้าหน้าที่การศึกษาของ Newark ได้วางแผนที่จะขยายโรงเรียนภาคฤดูร้อนและโปรแกรมกวดวิชา และจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนเพิ่มเติมเพื่อทำงานแบบตัวต่อตัวกับนักเรียน

“เราต้องฉกฉวยช่วงเวลานี้เพื่อใช้กองทุนบรรเทาทุกข์ของรัฐบาลกลางเพื่อช่วยเหลือนักเรียน รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดใหญ่ เพื่อปิดช่องว่างในโอกาสและความสำเร็จที่ขยายกว้างยิ่งขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา”คาดาร์โน กล่าว 

ด้าน เดบอราห์ เดลิเซิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและอดีตเจ้าหน้าที่แผนกการศึกษาของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามากล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการให้ความรู้แก่นักเรียนชาวอเมริกันในภาคการศึกษา ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้รัฐและเขตการศึกษาต่างๆ เร่งเดินหน้ากำหนดเป้าหมายวางแผนหลักสูตรโครงการภาคฤดูร้อนเพื่อให้นักเรียน “ทุกคน” รวมถึงเด็กด้อยโอกาส ยากจน และผู้พิการ ได้รับความรู้และมีความสามารถที่ทัดเทียมกัน 

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือความรวดเร็วในการดำเนินการ อย่างกรณีมหานครนิวยอร์กที่ในปีที่ผ่านมา ทางนายกเทศมนตรีได้สั่งอนุมัติเงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดตั้งโครงการฟื้นฟูการศึกษาพิเศษที่ให้บริการหลังเลิกเรียนและในวันเสาร์ รวมถึงการสอนพิเศษ การพูดและกายภาพบำบัดอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนหลายแห่งไม่ได้ทำหรือต่อให้ดำเนินการได้ในที่สุดก็ไม่สามารถคงอยู่ได้นาน บางแห่งอยู่ได้เพียง 10 สัปดาห์เท่านั้นก็ต้องยุติไม่ทำต่อ ยังไม่รับปัญหาในเรื่องของการจัดหาบุคลากรและการขาดรถประจำทางขนส่งทำให้การมีส่วนร่วมเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ผลก็คือ แม้ทางมหานครนิวยอร์กซิตี้ระบุว่า โปรแกรมที่จัดเตรียมไว้มีสำหรับผู้พิการจำนวนทั้งหมด 192,000 คน แต่ทีมงานกลับคาดหวังว่าจะมีผู้เข้าร่วมเพียง 35% ของทั้งหมด 

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการศึกษาบางคนกล่าวว่าแม้จะมีเจตนาที่ดี แต่ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากร และเงื่อนไขที่แตกต่างกันของแต่ละโรงเรียน รวมถึงการที่หลักสูตรเปิดให้นักเรียนเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่นักเรียนจำนวนมากจะพลาดโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านการศึกษานี้

การวิเคราะห์ล่าสุดของโปรแกรมหลังเลิกเรียนโดย Chalkbeat พบว่าเขต Newarkสามารถให้บริการนักเรียนระดับประถมศึกษาเพียง 3,800 คนต่อวัน หรือประมาณ 16% ของเด็กทั้งหมดเท่านั้น และในขณะที่บางโรงเรียนมีการสอนพิเศษระหว่างวันด้วย การวิเคราะห์สรุปได้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าข้อเสนอให้มีการกวดวิชา “จำนวนมาก” ตามที่คาร์โดนาเรียกร้องจะได้ประสิทธิภาพตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กฟื้นความรู้ที่สูญหายไปได้ 

ที่มา : Addressing Learning Loss in Disadvantaged Kids