กสศ.เปิดข้อมูล 4 วิกฤตที่มองไม่เห็น “เด็กในชุมชนแออัด-แคมป์คนงาน”

กสศ.เปิดข้อมูล 4 วิกฤตที่มองไม่เห็น “เด็กในชุมชนแออัด-แคมป์คนงาน”

ปัญหาการระบาดแบบคลัสเตอร์ มาตรการกักตัว วิกฤตเศรษฐกิจในครัวเรือนส่งผล เครียดเงียบ – เรียนรู้ถดถอย – กินไม่ครบมื้อ – เสี่ยงหลุดจากระบบเพิ่ม

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  สำนักข่าว The Reporters และ The Active ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ผลกระทบจากโควิด-19 วิกฤตที่มองไม่เห็น ความเหลื่อมล้ำของเด็กเปราะบางในชุมชนแออัดและพื้นที่เสี่ยง”  

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้เข้าไปทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชนแออัดทั่วกทม. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 รอบแรก จนถึงวิกฤตครั้งล่าสุดนี้ พบว่า เด็กและเยาวชนในพื้นที่เสี่ยง กำลังเผชิญ 4 ปัญหาใหญ่ที่มากับภาวะโรคระบาด เรื่องแรกคือภาวะ ‘เครียดเงียบ’ อันเป็นผลจากห่วงโซ่ความรุนแรงของโควิด-19  ที่ทำให้เด็กและเยาวชนต้องซึมซับปัญหาเข้าไปในจิตใจของเขา ทั้งเรื่องที่ครอบครัวต้องขาดรายได้ สภาพแวดล้อมใกล้ตัวที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรอบตัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด หรือการที่ต้องกักตัวไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ ทั้งที่ธรรมชาติในวัยของเขาจำเป็นต้องได้วิ่งเล่นสนุกสนาน ขณะที่สิ่งเดียวที่เด็กตอบสนองได้มีเพียงความเงียบ ซึ่งสังเกตได้ผ่านสายตาที่เศร้ากังวลของเด็กๆ  “วิกฤตครั้งนี้ เสียงของความเงียบงันกำลังอยู่ภายในตัวเด็ก ๆ เราต้องพยายามฟังเสียงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาวะจำยอม หรือการเก็บกักตัวเองที่ระบายออกมาไม่ได้จนกลายเป็นภาวะเครียดเงียบให้ได้ยิน เพื่อหาทางเยียวยาเขา”

แนะมาตรการ “รพ.สนามสำหรับครอบครัว” เน้นลดค่าใช้จ่ายการศึกษา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่สองคือการปิดโรงเรียนทำให้ภาวะการเรียนรู้ของเด็กถดถอยกว่าปกติราว 2-5 เดือน ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณภาพการเรียนรู้ในภาพรวมตกต่ำลงไปกว่าเดิมอีกมาก สามคือภาวะทุพโภชนาการ จากการกินไม่ครบมื้อ บางมื้อไม่ได้กินอิ่มเต็มที่ หรือได้สารอาหารไม่ครบหมวดหมู่ และสี่คือประเด็นที่ติดตามมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ คือเด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากหลายครอบครัวขาดรายได้ จึงไม่มีกำลังส่งเสียบุตรหลานให้เรียนไหว     

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวต่อไปว่า ประเด็นปัญหาทั้ง 4 ด้าน คือข้อบ่งชี้ว่าแม้จะยังไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่เด็กและเยาวชนในชุมชนแออัดทุกแห่ง ล้วนสูญเสียสิทธิในทุกด้าน มีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง พัฒนาการถดถอย ขาดความคุ้มครอง ไม่มีส่วนร่วม และเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มเปราะบางและขาดโอกาสในสังคม

“ขอเสนอให้มีโรงพยาบาลสนามสำหรับครอบครัว ช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ต้องทำให้ค่าเทอมเป็นศูนย์ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ชุดเครื่องแบบลูกเสือที่ไม่ค่อยได้ใส่ เพราะผู้ปกครองที่ตกงานจะไปหาเงินจากไหนมาจ่าย และต้องมีการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรในพื้นที่ ประสานงานการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก และเสนอไปยังผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้มีนโยบายจัดสรรอาหารเช้าสำหรับนักเรียนเช่นเดียวกับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร”

รับมือวิกฤตกสศ.ส่ง “โรงเรียนในถุง” แก้ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า  จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบภาวะความรู้ถดถอย หรือ Learning Loss  และพบว่าการเรียนออนไลน์ในพื้นที่ชุนชนแออัดเองก็ยังทำไม่ได้    กสศ. ทำงานร่วมกับครูจากเครือข่ายประชาสังคมของเด็กนอกระบบในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นเสมือนอาสาสมัครการศึกษาของชุมชน ราว 100 คน ได้พัฒนาพื้นที่ทดลองนำการเรียนรู้ไปหาเด็ก เพื่อเยียวยาผลกระทบด้านการเรียนรู้ถดถอย ไม่ให้พัฒนาการต้องหยุดชะงักและเตรียมความพร้อมสำหรับแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูระยะต่อไป โดย กสศ. ได้ออกแบบ “โรงเรียนในถุง”​ หรือ ถุงการเรียนรู้เติมยิ้ม ให้เด็กๆใน พื้นที่ชุมชนโรงหมู, ชุมชนริมคลองวัดสะพาน, ชุมชนแฟลต 23-24-25 ชุมชนบ้านมั่นคง  โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ  รวมไปถึงบางพื้นที่ในชุมชนริมทางรถไฟ เช่น ชุมชนโค้งรถไฟยมราช, ชุมชนบ่อนไก่, ชุมชนไซต์ก่อสร้างที่ ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กดูแลอยู่ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน

“นอกจากชุมชนแออัดในกทม.แล้ว ถุงการเรียนรู้ยัง ทดลองในพื้นที่ชนบท จ.น่าน  พร้อมกับสนับสนุนอาสาสมัครการศึกษา ด้วยแนวคิดที่ว่าวิกฤตแบบนี้จำเป็นต้องมีคนมาช่วยครู ทำให้เด็กได้เรียนรู้  จากสถานการณ์ยังมีบทเรียน คือ นักการศึกษาต้องมีทักษะและความรู้ ในการจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การศึกษาใหม่ๆ ตลอดจนแนวทางการถ่ายทอดสู่นักเรียน และให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างการเรียนรู้ของนักเรียน”

ชี้เร่งด่วนสุดคือต้องผลักดันให้เด็กเข้าถึงทรัพยากรภาครัฐ

นางสาวทองพูล บัวศรี (ครูจิ๋ว) ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน (ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ)

นางสาวทองพูล บัวศรี (ครูจิ๋ว) ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน (ไซต์ก่อสร้างและริมทางรถไฟ) กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนนและคนต่างด้าวอย่างรุนแรง ทั้งในด้านการติดเชื้อจากคนในครอบครัว  หรือมีคนในครอบครัวติดเชื้อ ซึ่งภาคประชาสังคมต้องประสานงานเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับการรักษาหรือการกักตัวดูแลอย่างทันท่วงที และจากการสำรวจกลุ่มเด็กขายพวงมาลัย ทำงานบนท้องถนน  เช่น ในย่านวัดญวน-คลองส้มป่อย วัดพระยา ปีนี้มีโอกาสหลุดจากระบบหลายสิบชีวิต  บางส่วนค้างค่าเทอม ทำให้ไม่ได้ใบจบการศึกษา ทั้งที่ตั้งใจเรียนได้เกรด 4 ทุกวิชา  บางคนไม่มีสิทธิฝึกงาน แม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำให้เด็กกลับมาได้รับการศึกษา และเด็กเล็กควรได้รับการดูแลให้อิ่มท้องรวมถึงสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน   เช่น แพมเพิร์ส นมผง   

“ในส่วนของไซต์ก่อสร้างจำนวน 16 แห่ง ที่ดูแลอยู่  เด็กทั้งหมดเกิดความเครียดเพราะติดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม 2 คูณ 4 เมตร ครอบครัวทะเลาะกัน มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น สิ่งสำคัญทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้เด็กๆสามารถเข้าถึงทรัพยากรการดูแลของภาครัฐ  เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองเพื่อให้ได้รับการดูแลจากสถานสงเคราะห์กรณีพ่อแม่ติดเชื้อ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในเรื่องปากท้อง  การช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา”

แนะแก้ปัญหาการระบาดควบคู่การเรียนรู้เด็กและสร้างอาชีพพ่อแม่

นางสาวศิริพร พรมวงศ์ (ครูอ๋อมแอ๋ม) ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

นางสาวศิริพร พรมวงศ์ (ครูอ๋อมแอ๋ม) ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวว่า อัตราการติดเชื้อที่คลองเตยยังไม่มีแนวโน้มลดลง ตลาดคลองเตยพบผู้ติดเชื้อ 700 กว่าคนเป็นอีกคลัสเตอร์ที่ใหญ่ ปัญหาคือการที่เด็กติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่ติด การช่วยเหลือต้องทำให้ผู้ปกครองได้ไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทลได้  ไม่เช่นนั้นเด็กก็จะอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลเด็กในหลายชุมชน พบว่ามีเด็กในช่วงวัย 0-12 ปี จำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล เนื่องจากครอบครัวสูญเสียงาน แต่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของเด็กเป็นจำนวนค่อนข้างสูง เช่น ค่านมหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ แป้ง ที่เด็กไม่สามารถใช้ร่วมกับผู้ใหญ่ได้ และสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้พัฒนาการของเด็กไม่ขาดช่วง

“สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ มอบสื่อการเรียนรู้และอาหารสำหรับช่วงวิกฤต พยายามสร้างแรงจูงใจให้ครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกัน และต้องมองถึงการสร้างอาชีพให้พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูก การช่วยเหลือทำในมิติเดียวไม่ได้ ในระยะยาวทุกครอบครัวก็มีภาระทางเศรษฐกิจที่ต้องแบกรับ นอกจากนี้ยังได้ใช้โมเดลการจ้างงานเยาวชนในพื้นที่ที่ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเพราะต้องออกมาทำงานเก็บเงินก่อน เข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัคร สำรวจจัดทำฐานข้อมูลการช่วยเหลือ การแพ็คของ ขนส่งผู้ติดเชื้อ ก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ 

นายชาญวิทย์ พวงมาเทศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ

นายชาญวิทย์ พวงมาเทศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนของ กทม. จะใช้วิธี 4 ออน คือ 1.ออนไลน์ 2.ออนแอร์  3.ออนแฮนด์  และ 4.ออนไซต์  ซึ่งสำหรับเขตพื้นที่คลองเตยการเรียนออนแอร์ หรือ ออนไลน์ ทำได้น้อยมาก ทำได้มากที่สุดคือออนแฮนด์ นำใบงานไปให้เด็ก สำหรับส่วนค่าเรียนของ รร.ศูนย์รวมน้ำใจ ไม่มีค่าใช้จ่ายเรียนฟรีทุกอย่าง มีอาหารเช้าและกลางวัน โดยอาจจะมีบางส่วนที่ผู้ปกครองอาจต้องจ่ายเพิ่มเช่นค่าชุดนักเรียนที่ได้ 360 บาทต่อหัว  ซึ่งหากจะมีชุดนักเรียนเรียนได้ครบทั้งสัปดาห์อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มบ้าง หรือชุดพละหรือชุดลูกเสือเนตรนารีที่จะได้ปีละหนึ่งชุดที่ต้องเลือกว่าจะเป็นชุดพละหรือชุดลูกเสือเนตรนารี

จับตาวิกฤตเศรษฐกิจโจทย์ใหญ่รัฐรับมือวิกฤตความเหลื่อมล้ำ

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานคร

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าบทบาทภาคประชาสังคมของชุมชนมีพลังสูงในการรับมือกับปัญหาความไม่แน่นอน ความเสี่ยงใหม่ที่เข้ามา ซึ่งระบบราชการไม่สามารถปรับตัวจัดการกับปัญหาได้ทัน  นี่คือโจทย์ระยะยาว  ที่ภาครัฐควรสนับสนุนระบบการทำงานกับภาคประชาสังคมเพื่อเป็นเพื่อนร่วมทาง  ช่วยภาครัฐแก้ปัญหาได้ทันท่วงที   เพราะระบบโครงสร้างราชการแบบเดิมนั้นปรับตัวได้ช้า เราจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนที่ดีในการทำงาน    โดยเฉพาะปัญหาของเด็กกลุ่มเปราะบางนั้นจะซับซ้อนหลากหลายขึ้น

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังไม่มีองค์ความรู้เชิงระบบในการบริหารจัดการ เด็กและเยาวชนลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เป็นกลุ่มสำคัญในพื้นที่กทม. และก่อให้เกิดผลกระทบสูง ประเด็นเรื่องสุขภาพทั้งด้านการตรวจ ดูแลรักษา ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐต้องให้ความสำคัญ 

“ผลกระทบหลังโควิด-19 จะวิกฤติในหลายจังหวัด การตกงานจะไม่ใช่สามอาทิตย์ แต่เป็นปี โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ครัวเรือนที่ทำงานท่องเที่ยว ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น การขยับฐานะทางสังคม การได้รับการศึกษาจะแย่ลง ดังนั้นการลดค่าเทอมเทอมเดียวอาจไม่พอ คนจนได้รับผลกระทบเดือนนึง แต่ชีวิตบอบช้ำไปสามเดือน เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องคิด ว่าสวัสดิการ หรือการช่วยเหลือแบบไหนจะได้ผลมากที่สุดในระยะยาว

ที่มาภาพประกอบบทความ : freepik @crowf