รัฐบาลผลักดันร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระดมทรัพยากรระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน

รัฐบาลผลักดันร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระดมทรัพยากรระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน

ภายหลัง นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  เปิดเผยว่า  สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ส่งเสริมการสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Learning Ecosystem แก่เด็กและเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา (41 เครือข่าย) ให้ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพโดยการดึงทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งสถาบันครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ… ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ ความเป็นไปของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีสาระสำคัญดังนี้

  1. เจตนารมณ์

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 วรรคสาม กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระดมทรัพยากรและความเป็นหุ้นส่วน ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ปรับปรุงการจัด การเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ประชาชนมีสิทธิในการจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และสร้างธรรมาภิบาลของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  1. ประชาชนมีสิทธิในการจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการจดแจ้งการดำเนินการการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 8)

ภาคเอกชน มีสิทธิจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัวไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมตลอดจนสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทรัพยากร รวมทั้งบูรณาการการศึกษาทุกระบบหรือระบบใดระบบหนึ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของผู้รับบริการ ทั้งนี้ การจัด การเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เป็นภาคเอกชน ให้จดแจ้งการดำเนินการ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
  1. กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามช่วงวัย (มาตรา 10)

ในการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต แบ่งออกเป็นห้าช่วงวัยดังต่อไปนี้

(1) ช่วงเด็กปฐมวัย อายุช่วงก่อนคลอดถึงก่อนอายุแปดปีบริบูรณ์

(2) ช่วงวัยเด็ก อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก

(3) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุสิบเจ็ดปีขึ้นไปถึงสามสิบห้าปีบริบูรณ์

(4) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย อายุสามสิบห้าปีขึ้นไปถึงหกสิบปีบริบูรณ์

(5) ช่วงวัยผู้สูงอายุ อายุหกสิบปีขึ้นไป

  1. ระบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14)

ในการจัดระบบของการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสำนักงานและภาคีเครือข่าย มีสามระบบ ได้แก่ ระบบการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ระบบการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และระบบการศึกษาตามอัธยาศัย

(1) ระบบการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับในรูปแบบการศึกษานอกระบบ มีสองระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(2) ระบบการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ผู้รับบริการได้รับการพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะ ทักษะการดำรงชีวิต โดยอาจได้รับใบรับรองความรู้ หรือใบรับรองสมรรถนะ