ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างต้นแบบความเปลี่ยนแปลง เพิ่มทางเลือกด้านการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำ สร้างคนตอบโจทย์ประเทศ

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สร้างต้นแบบความเปลี่ยนแปลง เพิ่มทางเลือกด้านการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำ สร้างคนตอบโจทย์ประเทศ

กสศ. ผลักดันทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงต่อเนื่อง สร้างต้นแบบความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในสายอาชีวะ เผย ช่วยลดเหลื่อมล้ำ มอบโอกาส และสามารถสร้างคนป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ประเทศได้ 

วันที่ 30 เม.ย. 65 กองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงข้อเสนอ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ รัชดา 

ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวเปิดการประชุมว่า วัตถุประสงค์ของโครงการ ออกแบบให้เกิดผล 3 ด้าน หนึ่ง เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสทั่วประเทศ สามารถเข้ามาเรียนอาชีวศึกษาได้  สอง การสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษา สาม ตอบโจทย์ระดับประเทศ ที่มีเป้าหมายสร้างอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมีความต้องการนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

“แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ทุนในสายอาชีวศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้สำเร็จระดับ ป.ตรี ทำให้ความต้องการบุคลากรสายนี้มีสูง”

ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการให้ทุนเยาวชนของ กสศ. ในระดับอาชีวะอยู่ที่ปีละ 2,500 ทุน ซึ่งบุคลากรอาชีวศึกษามีความสำคัญสมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิต ซึ่งปัจจุบันเราอาจอยู่อุตสาหกรรม 2.0 ไม่ถึง 3.0 ด้วยซ้ำ จึงทำให้ไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้ประชากรด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงได้

“การให้ทุนของเราจึงเป็นความริเริ่ม เพื่อทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของวงการอาชีวศึกษา ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ เป็นการผลิตบุคลากรระดับอาชีวศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

“เราไม่มีวี่แววที่จะเพิ่มรายได้ของประชากรได้ เพราะไม่มีสินค้าเชิงนวัตกรรม สิ่งที่ต้องทำคือพัฒนาอุตสาหกรรรมูลค่าสูง เป็นที่มาของการตั้ง EEC ขึ้นในประเทศเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุน แต่เมื่อดำเนินการไป  EEC ประสบปัญหาจากความขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะสายอาชีวะ เช่น ระบบราง ระบบสื่อสาร 5G ระบบหุ่นยนตร์ อัตโนมัติ เป็นต้น” 

ทั้งนี้  ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ กล่าวต่อว่า ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น เกาหลีใต้ จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาให้สามารถรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ค่อนข้างมาก ทำให้ก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว ประเทศไทยถ้าต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อไปสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องปรับตัว ในฝั่งอาชีวะ ไม่ว่า มีค่าตอบแทนให้ดีขึ้น หรือด้านหลักสูตรที่ตอบโจทย์และอาจขยับไปถึงระดับปริญญาตรีเพื่อจูงใจให้เข้ามาเรียน 

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวว่า  ทุนนี้คือการแก้โจทย์ของ กสศ. ที่ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายอายุ  15-17 ปี แต่งานของ กสศ.มีมากกว่านั้น คือครอบคลุมเยาวชนในช่วงที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ไม่ว่ายังเรียนอยู่ในระบบหรือหลุดออกนอกระบบไปแล้ว

“กลไกสำคัญของเราคือการทำงานร่วมกับสถานศึกษา เพื่อลดเด็กหลุดออกนอกระบบ ทำอย่างไรให้เขายังอยู่ในระบบต่อให้ได้หรือเด็กที่หลุดออกไปแล้ว จะกลับสู่เส้นทางการศึกษาได้อย่างไร”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า จากการสำรวจ ของ กสศ. 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษอยู่ราว 1.3 ล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นหลังโควิด 19 แต่ยังขาดสนับสนุนที่เพียงพอ 

แนวโน้มที่เห็น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระดับ ม.ต้น จะเห็นว่าเด็กที่ยาก 1 ใน 4 จะเรียนไม่จบ แตกต่างต่างครอบครัวที่มีรายได้สูงยังคงอยู่ในระบบถึงร้อยละ 90 และเมื่อไปดูในระดับ ม.ปลาย ยิ่งน่าตกใจ เพราะจะเหลือเด็กกลุ่มนี้จบออกไปได้แค่ 1 ใน 4 เท่านั้น

“ความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยยังมีสูงมาก ถ้าไม่มีการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้จะหายไป 3 ใน 4 ในช่วง ม.ปลาย หรือมองอีกแง่หนึ่ง นี่คือกำลังแรงงานที่หายไปมหาศาล ภาพสะท้อนนี้บอกว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวไปเป็นประเทศผู้มีรายได้สูงยังเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อเทียบด้านการศึกษากับประเทศที่มีรายได้สูง จะเห็นว่าระดับความเสมอภาคในการศึกษาแต่ละระดับของเขามีความใกล้เคียงกัน

“เรามองว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่เข้ามารองรับเด็กได้ การที่เขายังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ จะช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความยากจนและช่วยให้เราหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่มีความเหลื่อมล้ำไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้”