ประธานขับเคลื่อนพ.ร.บ.การศึกษาภาคประชาชนร่วมยินดี รมว.ศึกษาธิการคนใหม่

ประธานขับเคลื่อนพ.ร.บ.การศึกษาภาคประชาชนร่วมยินดี รมว.ศึกษาธิการคนใหม่

นายชินวรณ์ บุญญเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

นายชินวรณ์ บุญญเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง พร้อมทั้งชื่นชมการประกาศ 12 นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และ 7 มาตรการเร่งด่วน ที่นับได้ว่าเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีและตรงกับสถานการณ์และสภาพปัจจุบันปัญหาการศึกษาของประเทศในขณะนี้

“ขอเป็นกำลังใจและให้กล้าตัดสินใจเดินหน้าอย่างจริงจัง การศึกษาไม่มีเวลาให้ใครมาลองผิดลองถูกอีกต่อไป และขอให้ระวังกับดักของข้าราชการระดับสูง (ยกยอ ปอปั้น หาผลประโยชน์) เหมือนรัฐมนตรีหลายท่านที่ผ่านมา” นายชินวรณ์กล่าว

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า  นอกจาก 12 นโยบาย 7 มาตรการเร่งด่วนแล้ว ในฐานะเป็นอดีต รมว ศธ. เป็นสส. และเป็นรองประธานกรรมการขับเคลื่อน พรบ.การศึกษาแห่งชาติภาคประชาชน ขอเสนอให้ทำทันที 5 ประการ 

  1. เร่งรัดให้ ครม. เสนอ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กฤษฏีกาและตัวแทนครูร่วมกันพิจารณา เข้ารัฐสภาตอนเปิดสมัยประชุมนี้ทันที
  2. เรียกขวัญกำลังใจครู นักเรียน กลับมาโดยการเดินหน้าทำงานหนักและชูธง 12+7+5 ทันที
  3. สั่งสอบสวนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน สก.สค. และย้ายเลขาธิการและคณะไปประจำ สร. เพื่อความยุติธรรมทันที
  4. สั่งสอบสวนกระบวนการหาผลประโยชน์จากการสั่งซื้อหนังสือเรียนไม่ครบ และหาผลประโยชน์จากการใช้งบเหลือจ่ายงบ 63 และงบปี 64 หลายพันล้านของ สพฐ.  และย้ายเลขาธิการและคณะเพื่อความยุติธรรมทันที
  5. สั่งสอบสวนกรณีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่มีข่าวการซื้อขายตำแหน่งโดยเฉพาะกรณีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา (ไร่ขิง)

“ผมเชื่อมั่นในความตั้งใจของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ เพื่ออนาคตลูกหลานของเราเดินหน้าเถอะครับ” นายชินวรณ์ กล่าวในที่สุด

ก่อนหน้านี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง  ได้แถลงภายหลังการเข้ามารับตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ว่าได้กำหนด  นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ 12 เรื่องคือ 1 .ปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย  2.พัฒนาครู ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล 3.ปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล ส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน 4.ส่งเสริมสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว กระจายอำนาจ โดยใช้จังหวัดเป็นฐาน5.ปรับระบบการประเมินผล ประกันคุณภาพ การทดสอบวัดความรู้และทักษะที่จำเป็น

6.จัดสรรและกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน  7.นำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน สู่การปฏิบัติ  8.พัฒนาเด็กปฐมวัย  9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน  10.พลิกโฉมระบบการศึกษาไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการศึกษาทุกระดับ11.เพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และ12.จัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

พร้อมกันนั้น  จะดำเนินการ 7 วาระเร่งด่วน ได้แก่  1.ความปลอดภัยของผู้เรียน  2.หลักสูตรฐานสมรรถนะ  3.Big Data 4.ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา  5.พัฒนาทักษะทางอาชีพ 6.การศึกษาตลอดชีวิต  และ 7. การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ