ผนึกกำลัง 5 สังกัด พัฒนาระบบข้อมูลเด็กทุนเสมอภาค ป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา

ผนึกกำลัง 5 สังกัด พัฒนาระบบข้อมูลเด็กทุนเสมอภาค ป้องกันกลุ่มเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา

กสศ. ผนึกกำลังหน่วยจัดการศึกษา 5 สังกัด พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลแนวโน้มการศึกษาต่อของเด็กนักเรียนทุนเสมอภาค กลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เพื่อวางมาตราการป้องกันไม่ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา สร้างความยั่งยืนและการเข้าถึงการศึกษาอย่างรอบด้านตามนโยบายของรัฐบาลและโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ของกระทรวงศึกษาธิการ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการบันทึกข้อมูลแนวโน้มการศึกษาต่อของนักเรียนทุนเสมอภาค กลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ชี้จุดเน้นการทำงานและประเด็นถึงความจำเป็นที่ต้องสำรวจและบันทึกข้อมูลนักเรียนในกลุ่มชั้นรอยต่อ

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ.

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. กล่าวถึงความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานป้องกันนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ว่า จากการติดตามนักเรียนกลุ่มรอยต่อของ กสศ. ในภาคเรียนที่ 2/2563  พบว่า มีนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับเงินช่วยเหลือแล้วยังไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นเป็นจำนวนถึง 4 หมื่นกว่าคน กระทรวงศึกษาธิการจึงนำข้อมูลของกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เชื่อมข้อมูลกลับมายัง ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) ของ สพฐ. และใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้น ในการจัดทำโครงการ ‘พาน้องกลับมาเรียน’ โดยมี กสศ. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 11 แห่ง ร่วมค้นหาติดตามเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ให้ได้รับความช่วยเหลือ รวมถึงวางแนวทางให้นักเรียนทุกคนได้รับการดูแลให้อยู่ในระบบจนจบการศึกษาภาคบังคับ รวมถึงสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาระดับสูงตามความเหมาะสม และตามศักยภาพของแต่ละบุคคล 

“เรามีเป้าหมายติดตามนักเรียนกลุ่มรอยต่อชั้น อนุบาล 3 ต่อ ป.1 ชั้น ป.6 ต่อ ม.1 ชั้น ม.3 ต่อ ม.4 และกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา เพื่อนำกลับเข้าเรียนให้ได้มากที่สุด ด้วยตระหนักว่าเด็กเยาวชนเหล่านี้ เกือบทั้งหมดต้องหลุดจากระบบเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยข้อมูลจากการสำรวจยืนยันว่ายิ่งการศึกษาระดับสูงขึ้น จำนวนของเด็กเยาวชนที่ไม่ได้เรียนต่อยิ่งทวีจำนวนเพิ่มขึ้น ประเด็นน่าสนใจคือตัวเลขที่ระบุว่า มีนักเรียนชั้น ม.2 หลุดจากระบบเป็นจำนวนมากแม้ไม่ได้อยู่ในช่วงชั้นรอยต่อ ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามมากขึ้น

“หลังเริ่มดำเนินโครงการที่มีการติดตามค้นหาจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา อาชีวศึกษาจังหวัด กศน. ในทุกสังกัดการศึกษาทั่วทุกภูมิภาค วันนี้เรามีตัวเลขเฉลี่ยรวมในการค้นพบเด็กเยาวชนกลุ่มนี้แล้วกว่า 80 % ที่สำคัญคือเมื่อพบแล้วงานยังไม่สิ้นสุด แต่ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการวางแผนช่วยเหลือ สนับสนุน วิเคราะห์สาเหตุการหลุดจากระบบ เช่นจากความเจ็บป่วย พิการ ต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือที่อยู่อาศัยห่างไกลสถานศึกษา อันนำมาซึ่งการออกแบบวิธีการทำงานที่หน่วยงานต่าง ๆ จะประสานการดูแลและจัดสรรทุนให้เป็นรายกรณี” เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่หลุดจากระบบให้มีโอกาสกลับมาเรียน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการส่งต่อ แก้ไขปัญหาที่เด็กเผชิญให้พ้นจากความเสี่ยงหลุดซ้ำ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันขับเคลื่อน และช่วยกันทำให้นักเรียนทุกคนอยู่ในระบบได้จนตลอดรอดฝั่ง

กลับมาแล้วต้องไม่หลุด และต้องไปได้สุดตามศักยภาพของแต่ละคน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากทิศทางนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ MOU กับหน่วยงานเกี่ยวข้องมากกว่า 11 แห่ง ในการพาน้องกลับมาเรียน โดยมองว่าการลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์คือความจำเป็นเร่งด่วน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ทั้งนี้ กสศ. ได้ร่วมกับภาคี ได้แก่ หน่วยงานสังกัด 5 หน่วยงาน  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หน่วยกำกับติดตามระดับพื้นที่ และคณะผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ในการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ทั้งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ การหาแนวทางแก้ไข พัฒนางานวิจัยระบบสารสนเทศ เชื่อมโยงข้อมูล เพื่อการค้นหาตัวกลุ่มเป้าหมายแล้วพากลับเข้าเรียน รวมถึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนให้การทำงานมีความยั่งยืน นำไปสู่เป้าหมาย ‘ซีโร่ดรอปเอาท์’ คือทำให้เด็กนอกระบบการศึกษาเป็นศูนย์ในอนาคต

สำหรับในกรอบการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษา ‘เด็กหลุดจากระบบการศึกษา’ หมายถึง เด็กและเยาวชน ในวัยการศึกษาภาคบังคับ (ป.1-ม.3) ซึ่งองค์การยูเนสโกและยูนิเซฟ ได้นำเสนอข้อมูลเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ โดยแบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 เด็กก่อนวัยเรียน 2-4 ปี ที่เข้าเรียนช้าในการศึกษาภาคบังคับ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวด้อยโอกาส ซึ่งเมื่อไม่ได้เข้าสู่ระบบในวัยที่เหมาะสม จึงมีปัญหาด้านโภชนาการและการกระตุ้นพัฒนาการ ทำให้พัฒนาการเด็กล่าช้าไม่สมวัย ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นปฐมวัยโดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะกลุ่มเป้าหมายนี้เป็นกลุ่มสำคัญ ที่หากได้รับการช่วยเหลือให้เข้าสู่ระบบการศึกษาในเวลาที่เหมาะสม โอกาสที่เด็กจะได้เรียนต่อเนื่องในระดับสูงต่อไปก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้นตามมา

มิติที่ 2 เด็กวัยประถมศึกษา ที่ควรเข้าชั้น ป.1 (5-6 ขวบ) แม้จะมี พ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับที่กฎหมายระบุชัดเจนว่าเมื่อเด็กถึงวัยนี้ต้องได้รับการศึกษา แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบด้วยเหตุผลต่างกันไป ดังนั้นต้องมีการติดตามค้นหาอย่างเร่งด่วน โดยในหลายพื้นที่แสดงให้เห็นแล้วว่ามีการทำงานที่เข้มข้น จากการรวมพลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหารายชื่อเด็กวัย 4-5 ขวบทั้งหมด ทั้งลงไปเคาะประตูบ้าน คุยกับผู้นำท้องถิ่น ตามกลับมาเรียนจนช่วยลดจำนวนเด็กหลุดในช่วงรอยต่อได้

มิติที่ 3 เด็กจบชั้น ป.6 ต่อ ม.1 พบว่ามีเด็กจำนวนมากที่หลุดจากการศึกษาออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากพ่อแม่ย้ายถิ่นฐาน บ้างเข้าเรียนต่อช้าราว 1-2 ปี หรือบ้างก็มีปัญหาต้องชะลอการเรียนด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เราต้องทำให้สังคมตระหนักว่า เด็กวัยนี้ยังอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ และมีการสนับสนุน ผลักดัน ส่งต่อให้ได้เรียนอย่างเต็มที่      

ส่วนในมิติที่ 4 และ มิติที่ 5 คือเด็กเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียน (ประถมศึกษา/มัธยมศึกษา) หรืออยู่ในระบบการศึกษาแล้ว แต่ด้วยปัญหาความยากจน โดยเฉพาะกลุ่มที่จนเฉียบพลันจากพิษโควิด-19 ทั้งผู้ปกครองโดนเลิกจ้าง รายได้ครัวเรือนลดลง หรือจำเป็นต้องย้ายภูมิลำเนา ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา จึงต้องมีการทำงานคู่ขนาน เพื่อประคับประคองให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หลุดออกมาเพิ่มอีก

“หลักการแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบ 2 แนวทาง เพื่อความยั่งยืน คือ 1.มาตรการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ใช้งบประมาณน้อยกว่า และยั่งยืนกว่า กับ 2.มาตรการแก้ไข คือการค้นหาและวางแนวทางช่วยเหลือ เพื่อดึงเด็กที่หลุดไปแล้วให้กลับมาและไม่หลุดซ้ำ ฉะนั้น ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์พิเศษอันเป็นผลให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปชั่วคราว ซึ่งหากไม่มีการติดตามก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นถาวรในที่สุด เช่น เขาต้องลาครูไปช่วยงานที่บ้านสองสามสัปดาห์ในฤดูเก็บเกี่ยว ตรงนี้คือจังหวะที่เด็กจะขยับเข้าออก ถ้าครูรู้ข้อมูลล่วงหน้าว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยง การออกแบบความช่วยเหลือหรือติดตามกลับโรงเรียน  ก็จะสามารถทำได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ในการบูรณาการทำงานที่เริ่มจากการค้นหา พากลับมาเรียน ประคับประคองไม่ให้เด็กหลุด และผลักดันให้แด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายไปได้สูงสุดตามศักยภาพ หากทำได้ทีละคน ทีละโรงเรียน ทีละพื้นที่ และทีจังหวัด ความสำเร็จของการทำงานจะส่งผลไปถึงการพัฒนาประเทศ ในการผลักดันทรัพยากรมนุษย์ให้ไปได้เต็มขีดความสามารถ ซึ่งนี่คือภาพรวมของกรอบแนวคิดด้านวิชาการ การลงมือปฏิบัติ และภาพอนาคตของการทำงาน ที่ทุกฝ่ายจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาค สร้างหลักประกันทางการศึกษา พัฒนาคนอย่างยั่งยืน ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สร้างต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนครบวงจร

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ รักษาการผู้อำนวยการ
สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ.

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงแนวทางการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง “ในการทำงานระดับพื้นที่ กสศ. มีโครงการหนุนเสริมโรงเรียนจำนวนหนึ่ง ในโครงการ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง’ หรือ ‘TSQP’ ซึ่งมีอยู่ 600 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ จนเกิดการสร้างเครือข่าย นวัตกรรมในชั้นเรียน มีระบบสารสนเทศที่บันทึกข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการโรงเรียน และการช่วยเหลือนักเรียน ที่ไม่เพียงทำให้น้อง ๆ อยู่ในระบบต่อไปได้ แต่ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถของทั้งนักเรียนและสถาบันการศึกษาได้ แม้เป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 

“หลักสำคัญคือเราจะรู้ได้ว่าใครเสี่ยง ก็ต่อเมื่อมีข้อมูล และข้อมูลนั้นต้องเป็นไปในเชิงคุณภาพ เพื่อนำมาบูรณาการและออกแบบความช่วยเหลือ ให้โรงเรียนมีวิธีการจัดการสอนที่ทันสมัย นักเรียนนำความรู้ไปประยุกต์พัฒนาชีวิตประจำวันได้ และโดยเฉพาะการเก็บข้อมูลของเด็กในช่วงชั้นรอยต่อเพื่อนำมาออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคานงัดสำคัญ ที่หากเด็กได้รับความช่วยเหลือ และมีคำแนะนำที่ดี เส้นทางอนาคตของเขาก็จะเปลี่ยนไป จากที่เคยเสี่ยงว่าจะหลุดออกจากระบบ หรือจบสูงสุดแค่การศึกษาภาคบังคับ ก็จะกลายเป็นว่าเด็กสามารถไปต่อในชั้น ม.ปลาย ปวช. หรือไปถึงระดับอุดมศึกษาได้”

ทั้งนี้ระบบสารสนเทศสำหรับบันทึกข้อมูลแนวโน้มการศึกษาต่อของนักเรียนทุนเสมอภาค กลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 ถึง 15 เมษายน 2565 สถานศึกษาสามารถดำเนินการบันทึกข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละสังกัด