กสศ. ร่วมกับสภาการศึกษา ลงพื้นที่ราชบุรี “หนุนโรงเรียนขนาดเล็กยกระดับคุณภาพ”
เดินหน้าโมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพิ่มโอกาสเรียนรู้สู่ “ราชบุรี Zero Dropout”

กสศ. ร่วมกับสภาการศึกษา ลงพื้นที่ราชบุรี “หนุนโรงเรียนขนาดเล็กยกระดับคุณภาพ”

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยนายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล นายอิษฏ์ ปักกันต์ธร หัวหน้าฝ่ายพัฒนากลไกและเครือข่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ ในฐานะคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ลงพื้นที่ประชุมติดตามการดำเนินงาน “การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา” ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยมี ดร.สกล กิตติ์นิธิ ประธานคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ร่วมด้วยคณะทำงานฯ นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางสาวนิรมล เมธีสุรกุล กรรมการสภาการศึกษาด้านสื่อมวลชน นางจันจิรา ศรีจันทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 และบุคลากรจากกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการมีส่วนร่วมและการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะคณะทำงานและฝ่ายเลขานุการ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงเรียนมหาราช 7 และโรงเรียนบ้านหนองปากชัฏ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

‘โรงเรียนมหาราช 7’ : 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ชูการศึกษาทางเลือกให้เป็นทางรอด ชวนเด็กกลับมาเรียนเพื่อต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพ

นายวงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7  และคณะครู ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลการบริหารจัดการโรงเรียนให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยโรงเรียนได้ร่วมเป็นเครือข่ายในโครงการ  Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” โดย กสศ. บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี ซึ่งโรงเรียนมหาราช 7  ใช้โมเดล ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ หนุนเด็กหลุดจากระบบให้กลับมาเรียน ดังนี้

1) เรียนในห้อง  จัดสรรเพื่อเด็กสะดวกเดินทาง
2) เรียนออนไลน์  จัดสรรเพื่อเด็กบ้านไกล หรือไม่มีค่าเดินทาง
3) เรียนตามอัธยาศัย จัดสรรเพื่อเด็กไม่มีเวลาเรียนเต็มหลักสูตร เด็กกลุ่มเปราะบาง หรือต้องทำงานระหว่างเรียน

โดยมีชุดการเรียนรู้ Online เป็นจุดเด่นที่ช่วยให้เด็กสนใจกลับมาเรียน อีกทั้งโรงเรียนมหาราช 7 และโรงเรียนในเครือข่าย ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ในการร่วมออกแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะด้านวิชาชีพ ตอบโจทย์ผู้จบการศึกษาในวุฒิ ม.3 และมี “ห้องเรียนหลานย่า” ที่ร่วมมือกับศูนย์ USO Net ของสำนักงาน กสทช. เพื่อนักเรียนได้ท่องโลกกว้างบนอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีวันหยุด

‘โรงเรียนบ้านหนองปากชัฏ’ : โรงเรียนขนาดเล็ก แต่มากความสนุก ชูกิจกรรม Super Plaza  ครูชวนเรียนผ่านเล่น ทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ

นายสันติ ปิ่นหอม  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองปากชัฏ และคณะครู ร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านการเล่นด้วยกิจกรรม Super Plaza ทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ  มุ่งเน้นการอ่านออกเขียนได้ และทักษะพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น มีนักเรียนระดับ ป.1 ที่สามารถสอบได้ 100 คะแนนเต็มในการสอนทักษะการอ่าน (RT) ของ สพฐ. และนักเรียนระดับ ป.6 สามารถสอบเข้าโรงเรียนชั้นนำอย่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้ 

นอกจากนี้ โรงเรียนได้ฉายให้เห็นปัญหาด้านงบประมาณที่โรงเรียนขนาดเล็กได้รับการจัดสรรตามจำนวนนักเรียน  ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น การเรียนรู้ภาษาที่ 3 (ภาษาจีน) วิทยากรดนตรี นาฏศิลป์ แต่ด้วยความร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชน และทุกภาคส่วน ทางโรงเรียนจึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูอัตราจ้าง ทำให้โรงเรียนสามารถจ้างครูได้ครบชั้น รวมถึงการสนับสนุนสิ่งปลูกสร้างในโรงเรียน ทุนการศึกษา และอาหารกลางวัน ทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการจะนำองค์ความรู้ที่ได้มาถอดบทเรียนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นโมเดลให้สถานศึกษาอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ โดยจะนำรายงานดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษต่อไป