การศึกษาทางไกลของนักเรียนชนเผ่าพื้นเมืองประเทศเปรู

การศึกษาทางไกลของนักเรียนชนเผ่าพื้นเมืองประเทศเปรู

ที่มาภาพ : UNICEF FLACRO/2020/Pereira

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้ป่าอะเมซอน ที่น้ำประปา ไฟฟ้า และสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ลำโพง จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างห้องเรียนทางไกลให้กับเด็กนักเรียนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศเปรู ในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิด -19

ก่อนเกิดวิกฤตการระบาด โรงเรียนถือเป็นสถานที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง Nuevo San Rafael ชุมชนของชาว Shipibo หนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองของแคว้น Ucayali ในแถบป่าอะเมซอนของเปรู โดยห่างจากเมืองหลักของแคว้นอย่างเมือง  Pucallpa ราว 2 ชั่วโมงในการเดินทางสัญจรทางน้ำ 

เหตุผลเพราะ นอกจากโรงเรียนจะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของคนในชุมชนแล้ว โรงเรียนยังเป็นโลกทั้งใบ เป็นที่เรียนและที่เล่นสำหรับเด็กทุกคนในชุมชน 

ที่มาภาพ : UNICEF FLACRO/2020/Pereira

เมื่อโรงเรียนต้องปิดตามมาตรการของรัฐ หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในพื้นที่ และลุกลามอย่างรวดเร็ว เด็กๆ ในหมู่บ้านจึงตกอยู่ในอาการเคว้งอยู่สักพัก ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการเปรูจะออกโครงการ “I Learn at Home” ซึ่งเป็นกลยุทธ์การศึกษายามฉุกเฉินของประเทศเพื่อให้เด็กและเยาวชนเปรูสามารถเรียนทางไกลได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนของชาว Shipibo ในพื้นที่ห่างไกลเกินน้ำและไฟเข้าถึง การเรียนทางไกลจึงจำเป็นต้องมีการปรับประยุกต์วิธีเล็กน้อย โดยแทนที่จะพึ่งพาโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรืออินเทอร์เน็ต โรงเรียนดังกล่าวกลับพึ่งพาวิทยุและเครื่องขยายเสียงหรือลำโพงเข้ามาทำการเรียนการสอน   

องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กล่าวว่า การประยุกต์ปรับใช้ดังกล่าวมีขึ้นโดยพิจารณาจากบริบทแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งเปรูเป็นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีภาษาของตนเองถึง 48 ชนเผ่า ดังนั้น บทเรียนในโครงการเรียนทางไกลจึงต้องจัดทำแบบสองภาษา คือภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาราชการ และภาษาถิ่นที่นิยมใช้อีก 9 ภาษา 

ที่มาภาพ : UNICEF FLACRO/2020/Pereira

Nora Delgado Díaz ผู้อำนวยการกรมพื้นฐานทางเลือก การข้ามวัฒนธรรมสองภาษา และการบริการการศึกษาในพื้นที่ชนบท (Department of Alternative Basic, Intercultural Bilingual, and Rural Education Services) กล่าวว่า ในพื้นที่ชนบทของเปรู มีนักเรียนอยู่ทั้งหมดราว 1.2 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ดังนั้น การจัดบทเรียนสองภาษาหลากวัฒนธรรมผ่านวิทยุจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

ทั้งนี้ บทเรียนในโครงการ I Learn at Home เข้าถึงนักเรียนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ผ่านโลกออนไลน์และการออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ แต่สำหรับเมือง  Nuevo San Rafael ที่เด็กและวัยรุ่นเข้าไม่ถึงบทเรียน เพราะไม่มีโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต วิทยุจึงเป็นช่องทางเดียวในการเรียนทางไกล 

ทว่า Gisella Godier ผู้ประสานงานUNICEF ประจำภูมิภาค กล่าวว่า บ้านส่วนใหญ่ในเมืองไม่มีวิทยุ และสัญญาณวิทยุก็เข้าถึงบางพื้นที่ของเมืองเท่านั้น แถมไฟฟ้าในพื้นที่ยังไม่สามารถใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น การมีและใช้วิทยุจึงเป็นเรื่องสิ้นเปลืองของหลายครอบครัวในพื้นที่ 

ที่มาภาพ : UNICEF FLACRO/2020/Pereira

เครื่องขยายเสียงหรือลำโพง จึงกลายเป็นทางออกสำคัญที่จะตอบโจทย์ห้องเรียนทางไกลของเมือง Nuevo San Rafael ได้ดีที่สุด ซึ่งทาง UNICEF ได้ดำเนินการประสานงานและจัดการจัดส่งลำโพง 4 เครื่องไปให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งได้จัดการติดตั้งลำโพงไว้บนต้นไม้ที่สูงที่สุดในหมู่บ้าน ข้างโรงอาหารของโรงเรียน ทำให้แต่ละวัน จะมีเด็กนักเรียนกลุ่มเล็กๆ สลับมาฟังและจดเนื้อหาของบทเรียนในแต่ละวิชาจากลำโพงดังกล่าว

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความท้าทายก็คือการหาทางออกอากาศเนื้อหาบทเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากครูในพื้นที่ให้เดินทางไปเข้าไปในตัวเมืองเพื่อนำ memory stick หรือตัวเก็บข้อมูลมาเปิดให้ฟังภายในชุมชน แน่นอนว่า การฟังเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะจำเป็นต้องมีครูคอยให้คำแนะนำหรือสอบถามไขข้อข้องใจ ซึ่งโชคดีว่าที่เมือง Nuevo San Rafael มีครูที่พร้อมจะทำหน้าที่

รายงานระบุว่า การติดตั้งลำโพงทำให้ชีวิตวัยเรียนของเด็กๆ ในเมือง Nuevo San Rafael  กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการที่สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงระบบการศึกษาได้อีกครั้ง ไม่เพียงช่วยให้เรียนได้ทันตามกำหนดของหลักสูตรแล้ว ยังเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้หลุดออกจากระบบการศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย 

 

ที่มา : In the Peruvian Amazon, loudspeakers help remote learning continue in indigenous communities.