กสศ. ร่วมกับมูลนิธิก้าวคนละก้าว พบปะนักเรียนทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1-3 แนะแนวเส้นทางการศึกษา เตรียมความพร้อมสู่อนาคต

กสศ. ร่วมกับมูลนิธิก้าวคนละก้าว พบปะนักเรียนทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1-3 แนะแนวเส้นทางการศึกษา เตรียมความพร้อมสู่อนาคต

เมื่อวันที่ 18-20 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิก้าวคนละก้าว จัด ‘งานดู-เรียน #เรียนรู้ดูทำ’ เพื่อแนะแนวเส้นทางการศึกษาให้กับนักเรียนทุน ‘ก้าวเพื่อน้อง’ รุ่น 1 รุ่น 2 และรุ่น 3 ซึ่งประกอบด้วยน้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ถือเป็นครั้งแรกของการชวนนักเรียนทุนทั้ง 3 รุ่น มาพบปะและทำกิจกรรมพร้อมหน้าอย่างเป็นทางการ หลังผ่านช่วงเวลาเกือบ 3 ปีเต็มของการเผชิญสถานการณ์โควิด-19 

นอกจากกิจกรรมแนะแนวการศึกษา กิจกรรมสำคัญ ๆ ในการพบปะครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสที่น้อง ๆ นักเรียนทุน 116 คน จากทุกภูมิภาค จะได้มาถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ตลอดเส้นทางการศึกษา รวมถึงการสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายด้านการศึกษาของแต่ละคน เพื่อแสดงถึงความพร้อมและสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการเติมเต็ม ก่อนจะก้าวผ่านจากระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไปสู่การศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น

ภายในงานมีกิจกรรมพิเศษและน่าสนใจมากมายตลอด 3 วัน อาทิ กิจกรรมออกแบบทางเลือกที่เหมาะกับตัวเองอย่างมั่นใจ แนะแนวเทคนิคขั้นตอน Admission และ TCASS ปี 2567 กิจกรรม Workshop: เตรียมวางแผนชีวิต/รวมแหล่งทุนและช่องทางเรียนต่อ การเตรียม Resume และ Portfolio เสวนาถาม-ตอบ ‘อย่าหาว่าน้าสอน ตอนพิเศษ’ โดย ‘น้าเน็ก’ เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา กิจกรรมเสวนาเรื่อง ‘อาชีพในฝัน’ และ Talk: บุคคลที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพทางเลือก พร้อมด้วย ‘มินิคอนเสิร์ต’ จากศิลปินอาชีพ และมอบของรางวัลให้กับนักเรียนทุนทุกคน

ชายชาญ ใบมงคล กรรมการมูลนิธิก้าวคนละก้าว (ซ้าย)

ชายชาญ ใบมงคล กรรมการมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่คณะทำงานโครงการทุนก้าวเพื่อน้อง จะได้พบปะแลกเปลี่ยนกับน้อง ๆ ที่ได้รับทุนทุกคน จากที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ 

ทั้งนี้ จากการคัดกรองในแต่ละปี มีน้อง ๆ จากทั่วประเทศที่สนใจส่งใบสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทีมงานและคณะกรรมการพร้อมจะสนับสนุนส่งเสริมเส้นทางการศึกษาให้กับน้อง ๆ อย่างถ้วนหน้า แต่เนื่องด้วยทุนอันจำกัดในแต่ละปีที่ราว 10 ล้านบาท เมื่อคำนวณเส้นทางการเรียนของนักเรียนที่ได้รับทุนแล้ว จึงสามารถจัดสรรทุนได้เพียงราว 40 คนต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ทุนจะสามารถก่อผลประโยชน์ได้เต็มที่ที่สุด

พันเอกนายแพทย์พลังสันติ์ จงรักษ์ กรรมการมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เจอน้อง ๆ ทุกคน ทำให้ได้เห็นความตั้งใจของทุกคนในการศึกษาต่อ การพบกันวันนี้จึงเป็นวันพิเศษที่น้อง ๆ ทั้ง 3 รุ่น ได้มารวมตัวอย่างพร้อมหน้ากัน ดังนั้นอยากให้ทุกคนใช้ช่วงเวลา 2-3 วันนี้อย่างคุ้มค่า มีความสุข มาทำความรู้จักกัน พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่พี่ ๆ ตั้งใจจะถ่ายทอดให้กับน้อง ๆ และหวังว่าทุกคนจะมีช่วงเวลาที่มีคุณค่าที่สุด

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการก้าวเพื่อน้องเริ่มต้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าที่ทุกคนจะได้มาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน โดยสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ อยากให้น้อง ๆ ทุกคนได้เห็นภาพของความตั้งใจที่ กสศ. และมูลนิธิก้าวคนละก้าว ร่วมกันสร้าง ‘ทุนก้าวเพื่อน้อง’ ขึ้นมา 

จุดเริ่มต้นมาจากฐานข้อมูลที่ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ที่พบว่าแต่ละปีประเทศไทยจะมีนักเรียนชั้น ม.3 อยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงต่อการไม่ได้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าภาคบังคับมากกว่า 170,000 คน ด้วยลักษณะปัญหาที่แตกต่างกันไป เมื่อติดตามข้อมูลต่อจึงพบว่า ในเด็กกลุ่มนี้ทั้งหมดมีเพียง 21,000 กว่าคนเท่านั้น ที่สามารถผ่านระบบคัดเลือก TCAS ปี 2566 จนสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ นั่นหมายความว่า ทุกปีจะมีเยาวชนเฉลี่ย 150,000 คนที่หล่นหายไประหว่างทาง 

จากข้อมูลนี้ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ กสศ. และมูลนิธิก้าวคนละก้าว ตระหนักร่วมกันที่จะช่วยสานต่อเส้นทางให้น้อง ๆ เหล่านี้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น และเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การทำงานร่วมกันระหว่าง 2 องค์กร สามารถสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ มาจนถึงรุ่นที่ 3 วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานทุนก้าวเพื่อน้องจะช่วยเตรียมความพร้อมและวางแนวทางติดตามช่วยเหลือ ว่าหลังผ่านการศึกษาชั้น ม.6 หรือ ปวช. ไปแล้ว แต่ละคนจะมีเส้นทางก้าวเดินต่อไปอย่างไร

“เราทุกคนต้องไม่ลืมว่า ในประเทศไทยยังมีเด็กเยาวชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย ปวช. หรือเข้าถึงเส้นทางการศึกษาที่สูงไปกว่านั้น สิ่งหนึ่งที่พี่ ๆ ทีมงานก้าวคนละก้าวคาดหวัง คือการได้เห็นน้อง ๆ นักเรียนทุนทุกคนประสบความสำเร็จด้านการศึกษา การงาน และชีวิต ไม่ว่าแต่ละคนจะได้ไปอยู่ ณ จุดไหนของสังคมไทยก็ตาม 

“จากตัวเลขของเยาวชนที่ขาดโอกาส และสถานการณ์ที่ทุกคนผ่านมาด้วยกันในช่วงโควิด-19 นั้น เป็นสิ่งย้ำเตือนให้ตระหนักรับรู้ร่วมกันว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถไปถึงโอกาส ไม่สามารถไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้ ดังนั้นจึงอยากให้นักเรียนทุนทุกคนหันกลับมามองสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย และตั้งปณิธานที่นอกเหนือจากเป้าหมายส่วนตน ว่าจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคต ไม่ว่าในช่องทางใดก็ตาม”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า หนทางเดียวที่จะทำให้การศึกษาของประเทศไทยยั่งยืน และไม่สิ้นสุดลงแค่คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งหรือโครงการใดโครงการหนึ่ง คือการส่งไม้ต่อไปยังอนาคต ไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปที่จะเติบโตขึ้นมา และนี่คือหลักการทำงานของ กสศ. ในการสนับสนุนอนาคตของประเทศ เพื่อที่ว่าในวันหนึ่งจะมีหนึ่งในนักเรียนทุนกลุ่มนี้ก้าวไปเป็นผู้นำท้องถิ่น หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานที่จะส่งผลต่อเยาวชนที่ต้องการโอกาสในรุ่นถัดไป 

กสศ. และมูลนิธิก้าวคนละก้าว มุ่งหวังว่าทุนนี้จะส่งเสริมให้เกิด ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ รุ่นใหม่ บนฐานทุนทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และเชื่อว่าด้วยพลังของน้อง ๆ เหล่านี้ที่จะศึกษาต่อและพัฒนาศักยภาพตนเองจนสุดทาง จะทำให้การทำงานครั้งนี้ไม่ใช่ก้าวของใครคนใดโดยลำพัง แต่จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นก้าวที่เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ๆ ซึ่งยังต้องการโอกาสต่อไป

“สุดท้ายต้องขอขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่ไม่ยอมแพ้ และตั้งใจก้าวต่อไปบนเส้นทางการศึกษา ทีมงานทุนก้าวเพื่อน้องทุกคนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า น้อง ๆ ที่ได้รับทุนจะเป็นต้นแบบของการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กเยาวชนรุ่นต่อไปมีความหวังและกำลังใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคและก้าวต่อไปเช่นเดียวกัน สมกับที่โครงการใช้ชื่อว่า ‘ก้าวเพื่อน้อง’ อันหมายถึงว่า เราจะมี ‘น้อง ๆ’ ที่จะทยอยเดินตามกันมาอีกเป็นจำนวนมากในปีถัด ๆ ไป”