กสศ. เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคีกว่า 100 องค์กร ‘ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’
เดินหน้าเหนี่ยวนำทุกภาคส่วนร่วมกำหนดทิศทางสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

กสศ. เปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคีกว่า 100 องค์กร ‘ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน หลักสี่ กรุงเทพ ฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ “ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” โดยมีภาคีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การเปิดพื้นที่รับฟังภาคีเครือข่ายครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มาตรา 23 ที่ต้องการให้คณะกรรมการบริหาร กสศ. รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณากำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานของ กสศ. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน โดยความคิดเห็นจะถูกนำไปสนับสนุนการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ของ กสศ. ต่อไป

“แม้ว่า กสศ. จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นกลไกปฏิรูปการศึกษา โดยได้รับมอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 7 ประการตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ด้วยทรัพยากรที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลโดยเฉลี่ยในแต่ละปี คิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 ของงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศเท่านั้น หรือเป็นเพียง 1 ใน 5 ของขนาดทรัพยากรที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ประเมินเอาไว้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรให้ กสศ. ในแต่ละปี คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงได้กำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์ กสศ. พ.ศ. 2565 – 2567 ให้มุ่งเน้นการบูรณาการและเหนี่ยวนำภาคีจากทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืนด้วยกันตามหลักคิดปวงชนเพื่อการศึกษา หรือ All for Education”

ดร.ประสาร ย้ำว่า กสศ. จะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Catalyst for System Change) ผ่านการดำเนินการ 3 ด้านหลัก ๆ คือ (1) การกำหนดโจทย์ การวิเคราะห์ข้อมูล และวิจัยพัฒนานวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีศักยภาพในการขยายผลเชิงนโยบายได้ (2) นำนวัตกรรมต้นแบบดังกล่าวไปดำเนินการทดลองร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดที่รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน (3) สื่อสารรณรงค์ ระดมความร่วมมือและสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้สังคมไทย และผู้กำหนดนโยบายได้นำข้อเสนอของ กสศ. และหน่วยงานภาคีไปสนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ.

“วันนี้ถือเป็นการเปิดเวทีระดมสติปัญญาจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อช่วยกันกำหนดทิศทาง แสวงหาวิธีการ และนวัตกรรมการทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาใหม่ ๆ ที่จะทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความยั่งยืน และไม่ใช่ข้อเสนอที่มุ่งเน้นการทำงานของ กสศ. แต่ฝ่ายเดียว แต่หมายถึงการขับเคลื่อนทั้งระบบนิเวศทางการศึกษาและทุกองคาพยพของสังคมไทย ในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วที่สุดให้ได้ โดยในโอกาสที่ กสศ. จะดำเนินงานครบ 5 ปี ในปีหน้า พวกเราจึงอยากได้รับฟังเสียงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนถึงแนวทางการทำงานที่สามารถตอบสนองความท้าทายในโลกยุค Post – Covid – 19 โดยเฉพาะนวัตกรรมการทำงานใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างการปฏิรูปเชิงระบบอย่างยั่งยืนได้”

ภายในงาน กสศ. ได้ทบทวนการทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ผ่านมา ผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ “มองไปข้างหน้า ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ” โดยมี ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความท้าทายให้เป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ใช้หลักการ PDCA : Plan Do Check Act บทบาทของ กสศ. อาจไม่ใช่การทำงานเองทั้งหมด แต่จะเป็นลมใต้ปีกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญมากของ กสศ. ใน PDCA

“วันนี้เรายังมีหลากหลายส่วนมากที่เด็กไทยอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บทบาทของ กสศ. คือจะทำอย่างไรให้เด็กไทยมีโอกาส มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ทำอย่างไรให้เด็กไทยเข้าถึงคุณภาพการศึกษาอย่างทั่วถึง ทำอย่างไรให้ความยากจนไม่ตกเป็นมรดกไปยังลูกหลาน ทำอย่างไรถึงจะตัดตอนวงจรนี้ไป ทำอย่างไรเราถึงจะพุ่งเป้าไปสู่เป้าหมายเดียวกันให้ได้ ทำอย่างไรถึงจะจับมือกับภาคีในการเดินด้วยกัน ทำให้เป้าหมายเรื่องความยากจนข้ามรุ่นหมดไปให้ได้”

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า  โจทย์การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ค่อนข้างกว้าง ครอบคลุมประชากรตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวัยแรงงาน มีทั้งในและนอกระบบการศึกษา แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัด คณะกรรมการบริหารจึงมุ่งเน้นไปที่ประชากรร้อยละ 15 ที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศไทย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

“สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในไทย ยังพบว่ามีประชากรประมาณ 1.9 ล้านคน มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา โดยมีบางกลุ่มที่หลุดไปแล้ว ตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายสำคัญของประเทศ ได้แก่ โครงการพาน้องกลับมาเรียน จึงทำให้ตัวเลขประชากรที่หลุดจากระบบไม่สูงมากไปกว่านี้ หากมองถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงประมาณ 1.9 ล้านคนนี้ โอกาสที่เขาจะไปถึงระดับอุดมศึกษายังมีเพียงแค่ร้อยละ 12 เท่านั้น เมื่อเทียบกับโอกาสของค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ประมาณร้อยละ 30 กว่า ๆ ซึ่งเส้นทางการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ไม่ควรต้องถูกลดทอนน้อยกว่าคนอื่นถึง 3 เท่า หรือน้อยกว่าคนที่รายได้สูงที่สุดของประเทศถึง 5 เท่า ตรงนี้คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาของเราสร้างโอกาสที่เสมอภาค ถ้าเด็กคนไหนมีศักยภาพที่ไปสุดทางได้หรือเรียนระดับสูงขึ้นจะต้องได้ไป อันนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องขบคิดต่อร่วมกัน”

ดร.ไกรยส กล่าวถึงข้อมูลที่สะท้อนภาพปัจจุบันของไทยในเวทีนานาชาติ โดยระบุว่า ระบบการศึกษาในประเทศ Upper middle income countries หรือ Higher income countries ยังสามารถรักษาความเสมอภาคทางการศึกษาระหว่างประชากรแต่ละกลุ่มรายได้ไว้ได้ แต่สำหรับประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น โดยในระดับประถมศึกษาพบว่ามีโอกาสใกล้เคียงกับนานาชาติ  แต่ปัญหาเริ่มเด่นชัดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยโอกาสของเด็กกลุ่มนี้เหลือเพียงร้อยละ 76 เมื่อเข้าสู่ชั้น ม. ปลาย เหลือเพียงร้อยละ 27 หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น พอไปถึงระดับอุดมศึกษาเหลือร้อยละ 8 สะท้อนว่าโอกาสทางการศึกษาลดทอนลงไปเรื่อย ๆ เมื่อระดับการศึกษาสูงขึ้น

“สถานการณ์ปัจจุบันในปีการศึกษา 2565 เรามีเด็กเยาวชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนต่ำกว่าประมาณ 2,762 บาท ตามเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ราว 2.5 ล้านคน ขณะที่ กสศ. ได้รับจัดสรรทรัพยากรจากรัฐบาลดูแลได้เพียง 1.3 ล้านคน ดังนั้นสำหรับส่วนที่อยู่นอกเหนือการดูแล กสศ. ได้ทำหน้าที่ส่งมอบข้อมูลให้กับหน่วยงานต้นสังกัดต่าง ๆ ให้รับรู้สถานการณ์และสามารถวางแผนการใช้งบประมาณของตนเองในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ เป็นตัวอย่างการทำงานของ กสศ. ที่ไม่ใช่เรื่องให้ทุนที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว เพราะถ้าพูดถึงทุนที่เป็นตัวเงิน เราก็จะดูแลได้เพียงกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าขยายไปเป็นทุนด้านข้อมูลและทุนด้านความร่วมมือ ก็จะสามารถดูแลประชากรได้มากขึ้น”

ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss กสศ. ได้ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหานี้และทำให้มีข้อมูลที่น่าสนใจในการเดินหน้าแก้ไข

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวย วสศ.

“ในกรณีของประเทศไทยค่อนข้างน่าสนใจคือ เราไม่ได้มีการสำรวจในลักษณะ National Survey ว่าสถานการณ์ Learning Loss มีลักษณะอย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยกเลิกสอบ O – Net จึงไม่มีข้อมูลเชิงสถิติที่บอกได้ว่าภาวะความรู้ที่หายไปของเด็กและเยาวชนของไทยมีเท่าไร อย่างไรก็ตาม กสศ. ได้ทำการศึกษาผ่านครูและโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่ได้พบจากการสำรวจในโรงเรียน คือเด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียความรู้สูงที่สุดเป็นเด็กในระดับประถมศึกษาตอนต้น หรือช่วงชั้น ป.1 – ป.3 นี่เป็นตัวอย่างที่ กสศ. พบ”

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า กสศ. ได้ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำโดย ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ระหว่างเกิดโควิด และหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้ได้ชุดหลักฐานเชิงสถิติที่ถือเป็นผลสำรวจไม่กี่ชิ้นในไทยที่มีมาตรวัด Learning Loss อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจภาวะ Learning loss ของเด็กปฐมวัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP  โดยสำรวจนักเรียนชั้น ป.2 ในโรงเรียนกว่า 70 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อวิเคราะห์ว่าเด็ก ป.2 มีพัฒนาการอย่างไรในด้านสติปัญญาและทักษะต่าง ๆ หลังสถานการณ์โควิด

“สิ่งที่พบคือนอกจากปัญหาด้านสติปัญญา ปัญหาทางกายภาพของเด็กก็มีปัญหาด้วย โดยเฉพาะพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก คือไม่สามารถนั่งตัวตรง มีท่าทางการเขียนหนังสือ การจับดินสอปากกาต่างจากลักษณะทั่วไป ปฏิสัมพันธ์ในการคุยกับครู คุยกับเพื่อน หรือวิธีการเดินขึ้นลงบันได ซึ่งเด็ก ๆ ที่ไม่ได้ไปเรียนในโรงเรียนช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่บ่งชี้ถึงการขาดพัฒนาการค่อนข้างเยอะ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักวิจัยไปพบและค่อนข้างกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบไปถึงทักษะการคิดเลข การอ่าน การเขียน และทักษะทางการสื่อสาร”

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเข้าไปเก็บข้อมูล และเข้าไปร่วมฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ กสศ. ยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงข้อค้นพบจากประสบการณ์ทำงานปฏิรูปการศึกษาว่า ประสบการณ์ข้อแรก คือ การปฏิรูปจะได้ผลต้องเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มี 5 Big Rock หรือ หิน 5 ก้อนที่ต้องทำ ก้อนที่ 1 คือ การปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ พบว่าต้องส่งเสริม กสศ. ต่อไป ก้อนที่ 2 คือพัฒนาระบบการเรียนรู้ ก้อนที่ 3 การพัฒนาครู ก้อนที่ 4 พัฒนาอาชีวศึกษา ก้อนที่ 5 ยกระดับอุดมศึกษา

(ขวา) รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตประธานกรรมการ
ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

“เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้มีหน้าที่ลงไปทำ ไม่มีอำนาจสั่งการ ทำได้เพียงนำเสนอทิศทางเพื่อขอร้องให้กระทรวงดำเนินการปฏิรูป ซึ่งกระทรวงก็บอกว่าทำอยู่แล้ว ส่วนจะช้าเร็วแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาเราเลยต้องลงมือทำเอง เหมือนที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาลงมือร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เอง และผลักดันให้มีการจัดตั้ง กสศ. ขึ้น ให้มีงบประมาณดำเนินการของตนเอง”

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาแก้ที่เรื่องการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมีหลายระบบเชื่อมโยงกัน เช่นหากเด็กมาจากครอบครัวที่เข้มแข็ง การปฏิรูปการศึกษาจะง่ายขึ้น การแก้ไขปัญหาการศึกษาจึงไม่ใช่แก้เฉพาะที่โรงเรียน

“ผมเคยคำนวณในเวลาหนึ่งปี พบว่า เด็กอยู่กับโรงเรียนไม่ถึงร้อยละ 30 ขณะที่เวลาที่เหลือส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว ดังนั้น การปฏิรูปจะต้องดูทั้งระบบ ต้องเชื่อมต่อกับการทำมาหากิน การเกษตร สิ่งแวดล้อม การมี Mindset เกี่ยวกับโลก ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้ เป็นเรื่องยากที่จะปฏิรูปสำเร็จ ซึ่ง กสศ. ตั้งขึ้นเพียง 3 ปี แต่ทำงานได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ทุน แต่ยังมีองค์ความรู้และงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีคุณค่า ทำให้สามารถขยายผลที่เป็นประโยชน์ต่อชาติได้อย่างมหาศาล เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด”

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า ความต้องการของสังคมและตลาดงานที่ต้องการคนมีทักษะสูงจากฝั่ง Demand กำลังบีบคั้นให้ Supply หรือฝ่ายจัดการศึกษาต้องผลิตคนที่มีทักษะตรงความต้องการและมีความคล่องตัว หากโรงเรียนและหน่วยงานรัฐคล่องตัว ผู้บริหารยอมให้ครูมีความคิดริเริ่ม จะไปได้ไกลมาก และนี่เป็นความท้าทายในก้าวต่อไปของ กสศ.

ทั้งนี้ หลังจบเวทีเสวนา กสศ. ได้เปิดวงคุยรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีเป้าหมาย คือ ร่วมออกแบบอนาคตการศึกษาเพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำสำหรับนำไปกำหนดทิศทางการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2565 โดยจะสรุปรายงานการรับฟังความคิดเห็นฉบับสมบูรณ์เพื่อสื่อสารสาธารณะต่อไป