กสศ. ร่วมจับมือ 10 ภาคี วางแผนทิศทางหุ้นส่วนการศึกษา ขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout
ขยายต้นแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทลายข้อจำกัดการเรียนรู้

กสศ. ร่วมจับมือ 10 ภาคี วางแผนทิศทางหุ้นส่วนการศึกษา ขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout

เมื่อวันที่ 19–21 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ 10 หน่วยงานภาคี จัดประชุมสัมมนาวิชาการ “Set Zero Dropout Symposium 2025” เพื่อร่วมกันวางแผนทิศทางการขับเคลื่อนพลังหุ้นส่วนการศึกษา มุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout อย่างยั่งยืน โดยมีภาคีความร่วมมือประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการแสดงเจตจำนงร่วมกันในฐานะ “หุ้นส่วนการศึกษา” เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ให้เกิดผลในระดับพื้นที่ ผ่านการถอดบทเรียนจากต้นแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นในหลากหลายบริบท พร้อมจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จจากการดำเนินงานจริง อาทิ โรงเรียนที่ดำเนินการตามแนวทาง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ จำนวน 15 แห่ง ศูนย์การเรียนที่จัดตั้งโดยสถานประกอบการ 3 แห่ง นแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ 5 ตำบล ในรูปแบบโรงเรียนมือถือ และต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อรองรับผู้เรียนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

การจัดทำแผนทิศทางครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรา 258 (4) ซึ่งมุ่งให้ปรับปรุงโครงสร้างการจัดการเรียนรู้ให้ตอบสนองศักยภาพของผู้เรียน พร้อมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของภาคีเครือข่ายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ โดยสามารถลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยแนวทางจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งคำนึงถึงบริบทของชีวิต ความจำเป็น และข้อจำกัดที่แตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน การประชุม Set Zero Dropout Symposium 2025 จึงเปรียบเสมือนหมุดหมายสำคัญในการรวมพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อก้าวสู่ระยะต่อไปของการพัฒนาแนวทาง “หุ้นส่วนการศึกษา” 

ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล

ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงการรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษา สู่เป้าหมาย Zero Dropout ว่าเป็นภารกิจที่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการดูแลเด็กและเยาวชนทุกคนไม่ให้มีใครหลุดจากระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต พร้อมย้ำว่า หัวใจสำคัญของการทำงานครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานย่อย ทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. และอาสาสมัครในพื้นที่ เพราะหน่วยงานเหล่านี้ถือว่ามีความใกล้ชิดและเข้าใจประชาชนและเด็กเยาวชนทุกคนในพื้นที่มากที่สุด 

“ณ ปัจจุบัน มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศทั้งสิ้น 39,005 โรงเรียน และมีเด็กเยาวชน 1.3 ล้านคนในความดูแล โดยนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของมาตรการ Thailand Zero Dropout การจัดการเรียนการสอนได้มีความเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำกัดแต่เฉพาะในพื้นที่โรงเรียน แต่สำหรับผู้เรียนที่ไม่พร้อมด้วยอุปสรรคต่าง ๆ เรายังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่นรองรับ ทั้ง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หรือการจัดการเรียนรู้ผ่านศูนย์การเรียน โมบายล์สคูล รวมถึงการจัดการเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพ ที่จะพาการเรียนรู้ให้ไปถึงตัวผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ในสถานประกอบการ หรือพื้นที่ใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเด็ก และจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีต้นแบบของการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งช่วยให้เด็กที่แม้ต้องเผชิญข้อจำกัดที่หลากหลาย แต่ยังสามารถกลับสู่การเรียนรู้ และได้รับวุฒิการศึกษาเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา”

ดร.พัฒนะ กล่าวว่า การรวมพลังหุ้นส่วนการศึกษาที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลจากความเชื่อร่วมกันของภาคีทุกฝ่าย ว่าเด็กทุกคนคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าที่จะก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศของเราต่อไป และนั่นหมายถึงว่าเด็กเยาวชนไม่ว่าเกิดและเติบโตในท้องถิ่นใดของประเทศไทย ล้วนคือความรับผิดชอบที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันพาไปสู่เส้นทางเรียนรู้พัฒนาตนเอง เพื่อให้สิ่งที่ร่วมกันทำในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง ในการขยายพื้นที่และรูปแบบการเรียนรู้ที่ไร้ข้อจำกัด โดยต่อไปนี้ความหมายของ ‘โรงเรียน’ จึงไม่ใช่การกล่าวถึงสถานที่ แต่คือ ‘ระบบ’ ที่พร้อมปรับไปตามรูปแบบชีวิตของเด็กแต่ละคน 

“ในนาม สพฐ. ขอขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคท้องถิ่น จังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครู ที่ร่วมกันนำร่องทำงาน จนเกิดเป็นโมเดลต้นแบบที่เรามาร่วมเรียนรู้และช่วยกันถอดบทเรียนในครั้งนี้ และหวังอย่างยิ่งว่าทิศทางขับเคลื่อนงาน Zero Dropout ในระยะต่อไป จะยิ่งช่วยส่งเสริมพลังให้หน่วยจัดการเรียนรู้ทุกแห่งมีศักยภาพ และมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายของคณะทำงานทุกฝ่าย เพื่อปลายทางของการสร้างระบบการศึกษาที่จะไม่มีใครตกหล่นอีกต่อไป”     

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กว่าที่งาน Thailand Zero Dropout จะเดินมาจนถึงวันที่เกิดต้นแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น รองรับรูปแบบชีวิตที่หลากหลายของเด็กเยาวชนทุกกลุ่ม ย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้น คือความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ภายใต้โจทย์เรื่องการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบ จนผลพวงจากนโยบายนี้ ได้นำมาสู่การเกิดโรงเรียนในความหมายใหม่ ที่พร้อมรองรับเด็กเยาวชนตกหล่นจากระบบการศึกษา ตามแนวทางมาตรการ Thailand Zero Dropout เมื่อโรงเรียนพร้อมปรับตัวพาการเรียนรู้ไปสู่ผู้เรียนที่ขาดความพร้อม ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการรองรับเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบซึ่งได้รับการติดตามกลับมา 

“จากที่โรงเรียนคือจุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อให้ทางเลือกกับผู้เรียนที่มีข้อจำกัด ด้วยหลักสูตรที่ยืดหยุ่นสอดรับกับชีวิตประจำวัน ซึ่งกล่าวได้ว่าการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หลายโรงเรียนได้ทำมาก่อนจะมีมาตรการ Thailand Zero Dropout โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่ระบุว่าการจัดการศึกษามี 3 รูปแบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยสถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบก็ได้ ก่อนนที่ในปี 2568 นี้ ได้มีการออกแบบคู่มือการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้ทุกโรงเรียนนำไปใช้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ถึงวันนี้จากราว 50 โรงเรียนที่จัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ได้ขยับขยายเป็น 937 โรงเรียน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“ประเด็นสำคัญที่ติดตามมาคือ เมื่อโรงเรียนได้ขึ้นมาเป็นเสาหลักในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นแล้ว แนวร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ จึงขยับขยายไปพร้อมกัน ทั้งการจัดการศึกษาผ่านศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 หรือโรงเรียนมือถือ (Mobile School) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาผ่านภาคประชาชน รวมถึงการเข้ามาทำงานด้านการศึกษาโดยเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่น่าสนใจมากมาย และนอกจากนั้นยังครอบคลุมไปถึงการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้กับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ประตูการศึกษาเปิดกว้างขึ้น”

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้การทำงานมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น คือการลงนามความร่วมมือของ 11 หน่วยงาน Thailand Zero Dropout และยิ่งเร่งให้เกิดรูปธรรมของการทำงาน ที่ในรอบหนึ่งปีผ่านมาสามารถพาเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา กลับสู่เส้นทางเรียนรู้ รวมถึงการส่งเสริมคุณค่าในตัวเองให้เยาวชนเหล่านี้มองเห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและท้องถิ่น มีเส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเป้าหมายในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ

“ไม่ใช่เพียงการขยับขยายของการจัดการเรียนรู้ แต่หากมองไปที่สถานการณ์ของเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา จะพบว่าในปี 2566 ที่มีตัวเลขกลุ่มเป้าหมาย 1.02 ล้านคน แต่เมื่อถึงปี 2567 สถานการณ์ได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยเหลือจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ 9.8 แสนคน และถึงปี 2568 นี้ ตัวเลขได้ขยับลงมาที่ 8.8 แสนคน ซึ่งเชื่อว่าจำนวนของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้จะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตามการทำงานที่จะเกิดขึ้นต่อไป 

“นิทรรศการที่มีชีวิตที่แสดงในงานครั้งนี้ คือผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ซึ่งทำให้เด็กเยาวชนจำนวนมากสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ทั้งยังมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้นในการวางแผนอนาคต โดยเรามีต้นแบบของน้อง ๆ ที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเมื่อได้รับการดูแลสนับสนุน เขาจึงกลับมาเรียนได้ ทำมาหากินได้ อาทิเยาวชนที่เรียนไปด้วยและประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผมไปด้วย เยาวชนที่เรียนรู้เพื่อวุฒิ ม.6 ผ่านการทำงานในวงหมอลำ หรือมีรูปแบบของโรงเรียนในสวนทุเรียนที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องวุฒิการศึกษา และการมีอาชีพมีรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิต เรามีต้นแบบความร่วมมือของหน่วยจัดการศึกษา ที่มีโรงเรียนเป็นสถาบันหลัก พร้อมมีเครือข่าย อปท. ศูนย์การเรียน พม. อสม. ที่ร่วมกันค้นหา ดูแลช่วยเหลือ  และส่งต่อ จนเราเห็นปลายทางของการพัฒนาศักยภาพประชากรของประเทศ โดยไม่มีใครตกหล่นหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งเหล่านี้จะเป็นต้นแบบของการสร้างระบบการศึกษาที่พร้อมรองรับเด็กเยาวชนทุกคนในระยะยาว”