ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอบรับ 6 ข้อเสนอ “การใช้กลไกตลาดทุนในการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน”

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอบรับ 6 ข้อเสนอ “การใช้กลไกตลาดทุนในการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน”

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 33 นำเสนอผลงานทางวิชาการ เรื่อง “กลไกตลาดทุนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน” มีข้อเสนอ 6 เรื่อง ประกอบด้วย การสร้างแพลตฟอร์มส่งเสริมการลงทุนเพื่อการศึกษา , การหักรายได้/กำไรเพื่อการศึกษา , ส่งเสริมการออกตราสารหนี้เพื่อสังคม , แนวคิดการใช้กฏหมายเพื่อส่งเสริม CSR , มาตรการสร้างแรงจูงใจบริษัทจดทะเบียน และสถานประกอบการช่วยพัฒนากำลังคน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมรับฟังและตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ที่มุ่งสนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการส่งเสริมบทบาทการพัฒนาตลาดทุนเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน

ทั้งนี้ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตร วตท. รุ่นที่ 33 ยังได้ร่วมมอบเงินบริจาคให้กับ กสศ. จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฉุดเศรษฐกิจไทยเสียหายมากกว่าปีละ 200,000 ล้าน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ในฐานะประธานฝ่ายวิชาการ วตท.33 นำเสนอรายงานวิชาการฉบับนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อปีสูงมากกว่าปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 

วตท.33 ตั้งโจทย์ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะสามารถดำเนินการเรื่องการศึกษาอย่างไรได้บ้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่กำลังกัดกร่อนเศรษฐกิจไทย

ดร.ไกรยส ระบุว่า โจทย์ของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในปัจจุบันต้องยึดเด็กเป็นตัวตั้ง ทุกภาคส่วนของสังคมที่ต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้ สามารถบูรณาการฐานข้อมูลและสร้างกลไกความร่วมมือที่สอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาล องค์กรอิสระ และชุมชน เพื่อกำหนดทิศทางการทำงาน เป็นแนวร่วมสำคัญในความพยายามช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางได้อีกทางหนึ่ง

หากช่วยกันดึงเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มช่วงรอยต่อระหว่าง ม.3 ขึ้น ม.4 ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ในระยะยาว ทั้งนี้ มีการประมาณการว่าหากสามารถผลักดันให้เด็ก ม.3 ทุกคนยังสามารถศึกษาต่อในอุดมศึกษาได้นั้น จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากถึง 409 ล้านบาทต่อปี รายได้ตลอดช่วงชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากการศึกษาต่อในระดับสูง หากคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (IRR) แล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 9% ซึ่งสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐที่อยู่ราว 2.7% และอยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับการการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับ 9-12 % เกิดผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) ในเชิงมหภาคของการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสุขภาพประชากรจะแข็งแรงมากขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

รายงานวิชาการ วตท.33 มุ่งสนับสนุนวิสัยทัศน์และพันธกิจสำคัญของ ตลท. สถาบันวิทยาการ ตลาดทุน “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วยโอกาสทางการศึกษา”

นักศึกษา วตท. รุ่นที่ 33 ได้นำเสนอแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โดยระบุผลการศึกษาว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี สามารถลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีนานาชาติได้

ปัจจุบันการลงทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่เกิดขึ้นแก่ทุกคนในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 15% ของงบประมาณด้านการศึกษา การร่วมลงทุนโดยภาคเอกชนและประชาชนจึงเป็นอีกทางเลือกสำคัญของประเทศไทยในการแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะยาว

สำหรับข้อเสนอ “กลไกตลาดทุน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน” มี 6 เรื่อง ดังนี้

1. สร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการลงทุน (Outcomes Fund) เพื่อการศึกษา

หนึ่งในข้อเสนอเพื่อระดมทรัพยากรจากตลาดทุน คือการต่อยอดและพัฒนาระบบการจ่ายเงินตามความสำเร็จของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างระบบนิเวศน์ของการบริจาค ผู้ดำเนินโครงการ ผู้ประเมินตรวจสอบ และผู้จ่ายเงินตามผลลัพธ์ ให้สามารถขยายขนาดของกลไกและสร้างศักยภาพของระบบได้ และมีโอกาสนำโครงการนี้ไปต่อยอดกับเงินบริจาคเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ได้

แพลตฟอร์ม ประกอบไปด้วย

1. ผู้จ่ายเงิน (funder) เป็นผู้มีงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงการเพื่อบรรลุจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีโจทย์สำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิผลของเงินที่จ่าย และมีเครื่องชี้วัดที่ชัดเจน เช่น กสศ. ในกรณีการดำเนินโครงการเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา
2. ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ผู้ดำเนินโครงการที่มีโจทย์สำคัญคือการทำโครงการที่ตอบโจทย์สังคม และได้รับกำไรที่พอเหมาะ
3. ผู้บริจาค/สนับสนุนเงินทุน (donator/investor) มีบทบาทในการจ่ายเงินล่วงหน้าและรับความเสี่ยงกรณีที่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีโอกาสได้รับเงินคืนหากโครงการประสบความสำเร็จตามเครื่องชี้วัด และอาจมีแรงจูงใจจากการหักภาษี
4. ผู้ประเมินและตรวจสอบโครงการ ทำหน้าที่ประเมินว่าโครงการได้ผลครบถ้วนตามเครื่องชี้วัดที่ตกกันไว้ก่อนหน้า
5. ผู้ประเมินความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ ทำหน้าที่ประเมินความน่าเชื่อถือ

สำหรับกลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม ผู้สนับสนุนเงินทุนสามารถเลือกกระจายเงินและสนับสนุนได้มากกว่าหนึ่งโครงการ,มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของวิสาหกิจเพื่อสังคม,มีการประเมินผลการดำเนินงาน,ผู้จ่ายเงินทำหน้าที่ประเมินโครงการ,ผู้สนับสนุนมีโอกาสได้รับเงินคืน

หากแพลตฟอร์มสามารถทำงานได้ดี ผู้จ่ายเงิน (เช่น กสศ. ในกรณีการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา) จะเปลี่ยนจากผู้ดำเนินโครงการ ไปเป็นบทบาทในการตั้งโจทย์ เลือกจุดประสงค์ของโครงการ เลือกเครื่องชี้วัดที่เหมาะสม และทำหน้าที่ที่สำคัญในการประเมินโครงการ และจัดอันดับความน่าเชื่อถือของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ต้องการมาดำเนินโครงการหรืออาจแบ่งหน้าที่ในการประเมินและจัดอันดับความน่าเชื่อถือไปให้กับผู้ประเมินภายนอกเพื่อความเป็นอิสระ

หากสามารถดำเนินการได้เช่นนี้ ประสิทธิภาพในการจ่ายเงินจะสูงขึ้นมาก เพราะจะจ่ายเงินเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ ลดข้อจำกัดในการดำเนินโครงการต่างๆ สามารถเพิ่มขนาดของโครงการได้ การแข่งขันในแพลตฟอร์ม จะทำให้ผู้ดำเนินโครงการที่มีความสามารถสูงมีความน่าเชื่อถือสูง สามารถดำเนินโครงการจนประสบความสำเร็จ จะได้รับการส่งเสริม และเพิ่มโอกาสความสำเร็จของโครงการโดยรวม

สำหรับการทำงานของโครงการมี 5 ขั้นตอนดังนี้

1.เริ่มดำเนินโครงการโดยออกค่าใช้จ่ายล่วงหน้าผู้ดำเนินโครงการ
2.ส่งข้อมูลและสนับสนุนการเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์
3.ส่งผลการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงิน
4.จ่ายเงินอุดหนุนตามความสำเร็จของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นค่าเป้าหมาย โดยไม่ต้องแสดงใบเสร็จตามรายการใช้จ่ายผู้จ่ายเงินตามผลลัพธ์โครงการที่อนุมัติ (Outcome Funder)
5.ผู้ดำเนินโครงการขยายการดำเนินงานในพื้นที่เพิ่มเติม (ระยะที่ 2)

2. การออกตราสารหนี้เพื่อสังคม ( Social Bond: SB) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการระดมทุนเพื่อการศึกษา

ตราสารหนี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมการระดมเงินบริจาคเพื่อการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ในหลายประเทศเพื่อทดแทนการใช้งบประมาณจากภาครัฐเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยหนึ่งในรูปแบบของนวัตกรรมการเงินในรูปแบบตราสารหนี้ที่หลายประเทศพยายามพัฒนาขึ้น คือ การออกพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond : SIB)

โดยกรอบแนวคิดของ SIB คือ การออกพันธบัตรสัญญาแก่ภาคเอกชนเพื่ออนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนหรือ ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม หรือจัดทำแผนและแนวทางในการป้องกันปัญหาสังคมในประเด็นเฉพาะตามที่แต่ภาครัฐและภาคเอกชนตกลงกัน โดยรัฐจะจ่ายค่าตอบแทนให้ภาคเอกชนเมื่อโครงการดังกล่าวเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปอธรรมต่อสังคม ตัวอย่างของการใช้ SIB ที่ประสบความสำเร็จ คือ ประเทศเกาหลีใต้

สำหรับประเทศไทย ตลาด ESG Bond ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2019-2022 ตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดต่างประเทศ ถึงแม้ตลาด ESG Bond ของไทยมีขนาดเล็กกว่ามาก แต่แนวโน้มการใช้ประโยชน์เครื่องมือทางการเงินประเภทดังกล่าวเพื่อนำมาช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมไปถึงความต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ยั่งยืนของนักลงทุนที่หันมาใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ดังนั้น การออกตราสารหนี้เพื่อที่จะสนับสนุนการศึกษาจึงเป็นอีกทางเลือกในการระดมทุน

หลักการของตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม มี 4 เรื่องดังนี้

1.การนำเงินไปใช้ในโครงการเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
2.กำหนดวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ของโครงการเพื่อสังคมที่จะระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสังคม และต้องจัดให้บุคคลภายนอกมีส่วนในการประเมินโครงการ
3.จัดให้มีการแยกบัญชีเงินที่ได้จากการออกตราสารหนี้เพื่อสังคม จากบัญชีบริหารงานปกติของบริษัท รวมถึงต้องมีการติดตามจำนวนเงินที่ใช้ไปในการพัฒนาโครงการ และเงินที่คงเหลือในบัญชี
4.การจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลโครงการ จำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุน รวมถึงเงินคงเหลือ ตามรอบระยะเวลา เช่น รายปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการออกตราสารหนี้เพื่อสังคม เช่น จ่ายอัตราดอกเบี้ย  (Coupon) ต่ำกว่าตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ตราสารเพื่อความยั่งยืน (Non-ESG bond ) เล็กน้อยประมาณ 0.6 -0.7 % ต่อปี  สามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร

3. การหักสัดส่วนรายได้/กำไร (Commitment) เพื่อการศึกษา หรือ มาตรการรณรงค์ให้เกิดการให้คำมั่นสัญญาในการกันเงินกำไรของบริษัทเพื่อเป้าหมายทางสังคม การศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ (Social Investment Pledge)

หนึ่งในมาตรการภาคสมัครใจในการแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลในตลาดการะดมทุนเพื่อสินค้าสาธารณะ (Financing Public Goods) อย่างความเสมอภาคทางการศึกษาหรือคุณภาพทุนมนุษย์ของไทย คือการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนประกาศคำมั่นสัญญาแก่สังคมว่าบริษัทจะกันเงินกำไรขั้นต้นร้อยละ 1-2 ไปลงทุนเพื่อสังคมและสาธารณะ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือ การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ก่อนจะนำไปจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้น (Social Investment Pledge)

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางสังคมให้บริษัทอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออุตสาหกรรมอื่น หันมาสนใจ หรือให้ความสำคัญกับการสนับสนุนมาตรการในลักษณะเดียวกันอย่างเป็นรูปอธรรม ซึ่งแม้จะมิได้เป็นการลงทุนในเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด แต่การส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และศักยภาพในการวิเคราะห์ความคุ้มค่า และความสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมดังกล่าวให้แก่ประเทศย่อมจะส่งสัญญาณต่อตลาดให้เห็นความสำคัญของโจทย์ดังกล่าว และสร้างแนวร่วมในการประกาศคำมั่นสัญญาในลักษณะเดียวกันของบริษัทอื่น ๆ ในอนาคต

ตัวอย่าง เช่น การจัดตั้งกองทุน 1 %  For the Planet โดยบริษัท Patagonia ของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าอุปกรณ์ปีนเขาและการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเชิญชวนให้ภาคธุรกิจสัญญา (Pledge)ร้อยละ 1 ของกำไรขั้นต้น (Gross Profit) ซึ่งกองทุนจะช่วยพิจารณาโครงการและภาคีที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ให้บริจาคด้วย

ตัวอย่างการทำงานในรูปแบบข้างต้นอาจเป็นต้นแบบของการพัฒนาความร่วมมือระยะยาวระหว่างเครือข่ายกองทุนของบริษัทจดทะเบียน ร่วมกับ ตลท. ซึ่งสมาชิกของกองทุนจะได้ประโยชน์จากการมีหน่วยงานภายนอกช่วยให้คำปรึกษา / สนับสนุนการดำเนินโครงการ CSR รวมถึงอาจได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกเครือข่ายของกองทุน

4. การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม (การศึกษา) ด้วยการออกกฎหมาย CSR

ปัจจุบันหลายประเทศใช้การออกกฎหมายเพื่อบังคับให้บริษัทเอกชนจัดสรรเงินเพื่อการสาธารณกุศล (Mandatory Corporate Philanthropy เช่น มอริเชียส อินเดีย เนปาล และ ไนจีเรีย ยกตัวอย่าง ประเทศมอริเชียส ในปี 2019 ได้กำหนดให้บริษัทกันเงินมูลค่า 2% ของรายได้บริษัทในปีก่อนหน้าจัดตั้งกองทุน CSR โดยจัดสรรให้ 75% ของกองทุนไปยังกระทรวงการคลัง ส่วน 25% ที่เหลือให้ดุลพินิจแก่บริษัทที่จะใช้ในโครงการใด ๆ ตามนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท

ส่วนประเทศอินเดีย มี พ.ร.บ.บริษัท (Companies Act 2013) โดยกำหนดให้บริษัทที่มีขนาดใหญ่ Net worth สูงกว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีกำไรสุทธิสูงกว่า 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องลงทุนใน CSR ไม่ต่ำกว่า 2 % ของกำไรเฉลี่ยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในระดับนานาชาติ มาตรการบังคับ (Mandatory) มีใช้อยู่จริงเพียงไม่กี่ประเทศ

สำหรับแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย ควรพิจารณาส่งเสริมมาตรการสร้างแรงจูงใจ (incentive) ผ่านการยกเว้นภาษีสำหรับเงินบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินบริจาคด้านการศึกษา ประกอบกับมาตรการส่งเสริมแรงจูงใจอื่นๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคมภายใต้กรอบ ESG หรือ SDG ให้มีความชัดเจนและเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

5. มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่บริษัทจดทะเบียน

เสนอยกระดับ ESG สู่ SDG เพื่อส่งเสริม Double Materiality และ New S-Curve for Sustainable Growth & Competitive Advantage ให้กับประเทศไทย และ Make capital market work for Everyone ด้วยมาตรการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในวาระครบรอบ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทย มีบริษัทจดทะเบียนประมาณ 908 บริษัท  และพันธมิตรที่ถือได้ว่าเป็นความหวังเดียวของประเทศไทย เนื่องจากมีความพร้อมมากสุดในเรื่องของเงินทุน มีคนเก่งและดี (Talents) เครือข่าย องค์ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ มีขนาดและพื้นที่เป้าหมายที่จะสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (social impact) จำเป็นอย่างมาก

ทำไมต้องทำตัว “S” (สังคม – การศึกษา) ตั้งแต่บัดนี้

1.ตัว “E” (Environment) และ “G” (Governance) ทำมานานและดีพอสมควรแล้ว
2.ตัว “S” (Society) – การศึกษาและทุนมนุษย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3.ตัว “S” นี้ สำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ (National Competitiveness) เพื่อดึงธุรกิจ New 4.S-Curve เข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้และ performance บลจ. และ SET ดียิ่งขึ้น และประเทศไทยมีกำไร (มาร์จิ้น) ที่ดียิ่งขึ้นใน ระยะยาว
5.ตัว “S” ยังสอดคล้องโดยตรงกับ SDG หลายข้อโดยเฉพาะข้อ 1- Reduced Inequalities ข้อ 1 No Poverty ข้อ 4 Quality education และข้อ 8 Decent work & Economic growth

สำหรับบทบาทของ ตลท. ต่อการส่งเสริม ESG  สามารถทำเพิ่มเติมในเรื่องการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและคุณภาพใน 4 เรื่อง ดังนี้

1.สร้างความตระหนักรู้ ด้วยการเพื่มเรื่อง Equity & Quality Education ในหมวด “S” ที่เดิมมีอยู่แล้ว ,การจัดสัมมนา เช่น ESG ในเชิงลึก และการเรียนรู้ให้กับทุกภาคส่วน
2.เพิ่มจำนวนผู้ทำโครงการเกี่ยวกับการศึกษา (Building implementors e.g. social enterprises & other vehicles)
3.ส่งเสริมและชี้นำ (Incentivising & Guiding Listed Companies ) ด้วยการกำหนด (new) Theme และ Guidelines – “S” ให้ทำอย่างต่อเนื่องและวัด Social Impact ได้ ,รางวัลพิศษ – “S” ที่เน้นเรื่องการศึกษาเพื่อลดความเลื่อมล้ำแต่เพิ่มคุณภาพตอบโจทย์อนาคต
4.สร้างและนำ Collaborating Platform ความร่วมมือและสนับสนุนกับทุกภาคส่วน เช่น การออกผลิตภัณฑ์ระดมทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยเหลือสังคมและตอบโจทย์นักลงทุน การสร้างและนำเสนอแรงจูงใจใหม่ ๆ เช่น ภาษี, การจ้างงานและการฝึกงาน (Upskill และ Reskill) การสร้างรายงานความน่าเชื่อถือ ( Trust Reporting) ที่เชื่อมโยงและวัด Social Impacts ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้นักลงทุนมั่นใจในการลงทุนในโครงการเพื่อสังคมที่เกียวข้องมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณารางวัล  SET Sustainability Awards  โดยกำหนด Theme อย่างต่อเนื่องเพื่อชักชวนให้บริษัทจดทะเบียนมาทำโครงการเรื่องการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาไว้ในหมวด “S” ความรับผิดชอบกับชุมชน/สังคม ให้คะแนนเพิ่มเติมให้กับบริษัทจดทะเบียน และโครงการที่ทำเพื่อส่วนรวม (SDG Goals : Education) และการสร้าง New S-curve ให้กับประเทศ และเพิ่ม Society – Education for Equality & Quality improvement award เป็นรางวัลใหม่

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ บลจ. หันมาให้ความสนใจในเรื่องการสนับสนุนทางการเงิน (Finance) การฝึกอบรม และเป็นผู้แนะนำ (Upskilling & Mentoring) และการว่าจ้างงาน (Hiring) น้อง ๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงการวัด Social impacts ที่เป็นระบบมากขึ้น

6. สถานประกอบการร่วมพัฒนากำลังคน เพื่อการพัฒนาประเทศ และเยาวชนนอกระบบการศึกษาไทย (NEETs)

ข้อสรุปจากการประชุมกลุ่มย่อยของการประชุมเชิงปฎิบัติการ วตท.33 เรื่องบทบาทของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนเพื่อสนับสนุนมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ คณะนักศึกษา วตท. โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้าของกิจการ และผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนบริษัทที่ยังไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เห็นพ้องกันว่า หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน คือ การใช้สถานประกอบการเป็นศูนย์ฝึกพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาเพราะต้องหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และขาดโอกาสในการหาทุนสนับสนุนการศึกษาต่อหลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ หรือขั้นพื้นฐาน จำนวนมากกว่า 150,000 คนต่อปี

ข้อเสนอการพัฒนาต้นแบบการเปลี่ยนสถานประกอบการเป็นศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพให้แก่เยาวชนนอกระบบการศึกษา อาจสรุปแนวทางได้ตามนี้

1.บริษัททั้งที่จดหรือไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพทักษะอาชีพให้แก่เยาวชนทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษา รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่ออกจากระบบการศึกษามาแล้ว ร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานของกระทรวงแรงงาน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น
2.เพื่อให้การพัฒนาทักษะแรงงานให้แก่เยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจมีความยั่งยืน สถานประกอบการอาจมีความจำเป็นต้องชดเชยค่าเสียโอกาสที่เยาวชนเหล่านี้ต้องใช้เวลามาพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น การสนับสนุนสวัสดิการค่าเดินทาง ค่าอาหาร และเบี้ยเลี้ยงให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ในช่วงที่มีการฝึกอบรมพัฒนา
3.การพัฒนาเยาวชนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวควรนำไปสู่โอกาสในการจ้างงานในสถานประกอบการที่ร่วมพัฒนากลุ่มเป้าหมายนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจมีการกำหนดเงื่อนไขการรับเข้าทำงานภายหลังการสำเร็จการศึกษา หรือ การพัฒนาทักษะอาชีพ เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้มากขึ้น
4.บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการร่วมพัฒนาทักษะด้านอาชีพของเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาควรได้มีโอกาสร่วมกับสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนานวัตกรรมการพัฒนาทักษะอาชีพ ทุนมนุษย์ และขีดความสามารถในการแข่งขันของเยาวชนที่มาจากครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบเพื่อให้การลงทุนทั้งในด้านทรัพยากร และเวลาของภาคเอกชนมีประสิทธิภาพ และความยั่งยืน
5.ระบบการศึกษาในอนาคตของไทย ภาครัฐและภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และเป้าหมายการผลิตบัณฑิตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังในสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังที่เป็นอยู่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
6.ค่าใช้จ่ายที่บริษัทเอกชนร่วมลงทุนในกระบวนการผลิตพัฒนากำลังคนโดยลำพัง หรือร่วมกับสถานศึกษา หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่าจากกรมสรรพากร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่บริษัทเอกชนให้เข้ามาร่วมสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศให้เพียงพอต่อจำนวนเยาวชนที่ต้องการการสนับสนุนนอกระบบการศึกษามากกว่า 150,000 คนต่อปี และในระบบอีกจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนเหล่านี้มีความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจใทยในระยะยาว และจะเพิ่มโอกาสในการจัดเก็บภาษีในอนาคตจากเยาวชนกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้และบริษัทเอกชนที่จะมีรายได้สูงขึ้น

เรียบเรียงเนื้อหาจากเว็บไซต์ การเงินธนาคาร MONEY AND BANKING ONLINE