ปฏิบัติการลดความเหลื่อมล้ำภายใต้สถานการณ์ COVID-19

ปฏิบัติการลดความเหลื่อมล้ำภายใต้สถานการณ์ COVID-19

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

บอร์ดกสศ.เห็นชอบแผนบริหารความต่อเนื่องขององค์กรเพื่อปฏิบัติภารกิจลดความเหลื่อมล้ำภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พร้อมติดตามความเสี่ยงการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และผลกระทบพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะนักเรียนนักศึกษาทุนกสศ. 

นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. รับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณและให้ กสศ.รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาด้วย โดยเห็นควรที่กสศ.คงอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษในอัตราเท่าเดิมไปก่อนสำหรับปีการศึกษา 1/2565 โดยในปีการศึกษา 2/2564 กสศ. จะทำการวิจัยทดลองเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนในกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุดราว 30,000 คน ในอัตราใหม่ ได้แก่ อนุบาล จำนวน 4,000 บาท  ประถมศึกษา จำนวน 5,100 บาท  ม.ต้น จำนวน 4,500 บาท  ม.ปลาย จำนวน 9,100 บาท/คน/ปี และจะนำผลการติดตามประเมินผลการสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาจัดทำคำของบประมาณในปีงบประมาณ 2566 เพื่อสนับสนุนนักเรียนยากจนพิเศษให้ได้ในปีการศึกษา 1/2566 ต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้เห็นชอบแผนบริหารความต่อเนื่องขององค์กรในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19  ทั้งด้านบุคลากร ด้านสถานที่ปฏิบัติงาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลสำคัญ ด้านวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญ โดยแต่งตั้งคณะทํางานบริหารความต่อเนื่องของสำนักงาน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมาย  อาทิ การปรับวิธีการโอนเงินตรงสู่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น กรณีปรับแผนมุ่งจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษตรงไปที่เด็กเพื่อเป็นค่าครองชีพทั้งหมดผ่านช่องทางระบบ prompt pay หรือรับเงินสดที่โรงเรียน

โดย กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้นักเรียนกลุ่มเก่าต่อเนื่องในสังกัด สพฐ. สพฐ.เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรสังกัด สพฐ.ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ม.ค.2564 รวมจำนวนนักเรียนกลุ่มเก่าต่อเนื่องที่ได้รับการจัดสรร 929,455 คน

“สำหรับนักเรียนกลุ่มใหม่ (ทุกระดับชั้นที่ไม่เคยได้รับทุน) ภายใต้ข้อจำกัดในการลงพื้นที่ช่วงการระบาดของโรค COVID-19  กสศ.ได้ปรับแผนให้คุณครูสามารถ สํารวจ/สอบถามข้อมูลครัวเรือนจากผู้ปกครองแทนการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและบันทึกข้อมูล  ซึ่งสถานศึกษาได้ดําเนินการคัดกรองเฉพาะกลุ่มใหม่เมื่อวันที่ 4-15 ม.ค.2564 เรียบร้อยแล้ว  

ขณะนี้ กสศ.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและตัดเกณฑ์ความยากจนด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม หรือ PMT เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนกลุ่มใหม่ต่อไป 

นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตาม (monitoring) ว่าวิกฤติครั้งนี้ได้กระทบคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาทุนหรือไม่ รวมถึงแนวโน้มความเสี่ยงการหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพื่อช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีเป็นรายบุคคล” นายสุภกร กล่าว

รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการการคัดกรองและติดตามผลการจัดสรรอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขนักเรียนยากจนพิเศษ

ด้าน รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการการคัดกรองและติดตามผลการจัดสรรอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขนักเรียนยากจนพิเศษ กล่าวว่า จากข้อมูลผลการวิจัยติดตามกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. มามากกว่า 3 ปีการศึกษาพบว่า การปรับลดแผนการใช้เงินของกสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จากที่ กสศ.ขอไป จากเดิม 7,916.92 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงิน 6,556.8649 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 1,360 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษเดิม ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 886,852 คน จะมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น 

เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นตามค่าครองชีพในแต่ละปี และรายได้ที่ลดลงจากวิกฤต COVID-19 นอกจากนั้น จะมีผลกระทบต่อกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษที่ขาดโอกาสศึกษาต่อระดับมัธยมปลายสายสามัญ/ปวช.หรืออุดมศึกษาจำนวน 48,523 คน  ซึ่งปัจจุบันมีช่องว่างทางโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของครัวเรือนยากจนที่สุดและครัวเรือนร่ำรวยที่สุดมากกว่า 20 เท่า

“กสศ. ควรเร่งพิจารณากรอบการวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบของเงินอุดหนุนและเสนอแนวทางการทดลองนำร่องการอุดหนุนในปีงบประมาณ 2565  เพื่อนำไปสู่การขยายผลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณทั้งหมด รวมถึงการแนะนำการดำเนินนโยบายให้แก่หน่วยงานอื่นๆ” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว