โลกยุคใหม่ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ กสศ. เปิดเวทีนโยบายพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ชี้ทักษะพื้นฐาน 3 ด้านที่พร้อมใช้งานได้จริง

โลกยุคใหม่ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ กสศ. เปิดเวทีนโยบายพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ชี้ทักษะพื้นฐาน 3 ด้านที่พร้อมใช้งานได้จริง

กสศ. พร้อมยกเครื่องหลักสูตรการพัฒนาอาชีพสู่แรงงานคุณภาพเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยปลดล็อคความเหลื่อมล้ำ เพิ่มฐานภาษี นำประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เตรียมเปิดผลวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยครั้งแรก กลางปี 2566

18 มกราคม 2566 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติจัด ‘เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’ เพื่อวางเป้าหมายพัฒนาทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ มุ่งหมายปลดล็อคความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษา

วิทยากรร่วมเสวนาในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมด้วย เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. และ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย คุณโคจิ มิยาโมโตะ (Mr. Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (Senior Economist) ด้าน Global Practice จากธนาคารโลก (World Bank) ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยตัวแทนสื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปร่วมรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์

ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการพัฒนาแรงงานให้เท่าทันโลก

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ ‘ปลดล็อคความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษา’ ผ่านการพัฒนา ‘ทักษะพื้นฐานของการทำงานในโลกยุคใหม่’ นี้วางเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 

การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่สามารถหาคำตอบร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับทักษะแรงงาน และการกำหนดนโยบายด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในโลกยุคดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน พาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเพื่อพัฒนาให้แรงงานในประเทศไทยกลายเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น ซึ่งคุณภาพชีวิตประชากรก็จะถูกยกระดับตามไปด้วย สามารถยุติวงจรความยากจนข้ามรุ่น และลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะการทำงานในโลกยุคใหม่ จำเป็นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาของเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด-19 

ประเด็นสำคัญประการแรก คือประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ที่หากไม่แก้ไขจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ 

การวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีกลุ่ม NEET (Youth not in education, employment, or training) ซึ่งหมายถึงเยาวชนวัย 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรมพัฒนาใดๆ ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

ดร.ไกรยส เน้นย้ำว่า เราจำเป็นต้องค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่การพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในหรือนอกระบบการทำงาน หรือการพัฒนาตนเองตามแนวทางที่เหมาะสม เพราะผลสำรวจระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมี NEET มากถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 10 ของประชากรฐานภาษี และคิดเป็นร้อยละ 14 ของเยาวชนไทย 

นอกจากนี้กลุ่ม NEET ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งสวนทางกับอัตราลดลงของเยาวชนไทยเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ในทศวรรษที่ผ่านมา ​โดยร้อยละ 65 ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง มีปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญ จากสถิติพบว่าร้อยละ 8 ของกลุ่ม NEET คือเพศหญิงที่ต้องทำงานบ้าน ที่น่าตกใจคือ กว่าครึ่งมีสถานภาพสมรสและสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยม

“ยูเนสโกประมาณการว่า หากไม่มีการนำเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการพัฒนา ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี คิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศ ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา 

นอกจากนี้สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของไทยหลังโควิด-19 ยังคงมีแนวโน้มแย่ลงในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายโดยตรงกับโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในการหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และด้วยสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เราไม่สามารถปล่อยให้เยาวชนแม้สักคนหลุดไปจากการพัฒนาได้อีกแล้ว เราต้องหาทางช่วยพวกเขาในวันนี้ เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคมไทยในอนาคต”

สำรวจทุกทักษะพร้อมปั้นในประชากรวัยแรงงาน Upskill Reskill เพื่ออนาคตที่คุ้มค่าของทั้งเด็กและประเทศ

ผลสำรวจยังสะท้อนถึงปัญหาคุณภาพประชากรวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสว่า ประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า มีจำนวนมากกว่า 16.1 ล้านคน แม้ว่าประชากรรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแรงงานนอกระบบ ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ จึงต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางรายได้และขาดการคุ้มครองทางสังคม

“แรงงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาจากการเป็นแรงงานไร้ฝีมือไปสู่การเป็นแรงงานฝีมือดี ซึ่งเป็นการลงทุนของประเทศที่คุ้มค่า เพราะเยาวชนหรือประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-25 ปีกลุ่มนี้ เขาจะอยู่ในตลาดแรงงานไปอีกอย่างน้อย 30 ปีหรือมากกว่านั้น

ถ้าเราลงทุนกับกลุ่มเป้าหมายตอนนี้ โอกาสที่ดอกผลจะคืนกลับมาที่ตัวของเขาและสังคมไทย จะยิ่งมีมากขึ้นในวันข้างหน้า การจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้เราสามารถ upskill reskill ได้ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม เทคโนโลยี มีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับพัฒนาการของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำให้กำลังแรงงานไทยต้องทบทวนว่า เราจะมีขีดความสามารถแข่งขันได้อย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า จากข้อท้าทายดังกล่าว กสศ. จึงได้ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนภาคนโยบายจาก กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงาน  เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ผ่าน ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย’ (Adult Skills Assessment in Thailand) ซึ่งถือเป็นการสำรวจครั้งแรกในเยาวชนและประชากรวัยแรงงานวัย 15-64 ปี เพื่อพัฒนาการสำรวจและประเมินทักษะในการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงทักษะด้านอารมณ์สังคม (Socio-Emotional Skills) และเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบาย วางกลยุทธ์พัฒนาและยกระดับทักษะให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน

การสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน โดยธนาคารโลก มีผลการดำเนินงานสำคัญ 4 ด้าน คือ 

1.พัฒนาเครื่องมือ แบบประเมินด้านทักษะการอ่าน ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Socio-Emotional Skills) ทักษะดิจิทัล และแบบสอบถามชุดข้อมูลพื้นฐาน
2.ขับเคลื่อนผ่านเวทีนโยบายเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กสศ. ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน  
3.สำรวจและประเมินจากกลุ่มตัวอย่างครอบคลุมทุกภูมิภาค
4.นำข้อเสนอในการประชุมทุกเวทีสู่การสรุปผลเบื้องต้นเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานภาคนโยบาย ภาคการศึกษา ภาคแรงงาน และภาคท้องถิ่น

ทักษะอ่านเขียน ทักษะดิจิทัล ทักษะทางอารมณ์สังคมสำคัญขนาดไหน
ชวนปลุกพลังทักษะพื้นฐานแห่งการทำงานในโลกยุคใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับ ‘คน’

คุณโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีดำรงชีวิตและรูปแบบการทำงาน ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งพลังงานและอาหาร มีการขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างออกไปอีกระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ไม่ได้นี้ การพัฒนาแรงงานของประเทศจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความเสี่ยงและโอกาสโดยการปรับใช้นโยบายที่ให้ความสำคัญกับทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ทำให้คนเข้าถึงโอกาส และมีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ 

คุณโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก

ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ (Foundational Skill) แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ความสามารถอ่านเขียน (Literacy Skill) 2.Digital Skill ความสามารถในการเข้าใจและจัดการข้อมูล ICT (Digital Skill )และ 3.ทักษะทางอารมณ์สังคม (Socio-Emotional Skill )

“พลังของทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ คือการพัฒนาตนเองเป็นลำดับขั้น เริ่มจากขั้นแรกซึ่งเป็นทักษะการอ่านออกเขียนได้ไปสู่กลไกความก้าวหน้าขั้นต่อ ๆ ไป ส่วนทักษะดิจิทัลคือการต่อยอดความอยากรู้ ความเข้าใจข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ สามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ต่อยอดพัฒนาชีวิตตนเองให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการทำงานจนเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจนผลักดันตนเองไปสู่การจ้างงานที่มีรายได้สูงขึ้น หรือในภาคของผู้ประกอบการก็สามารถเพิ่มผลผลิตและนวัตกรรมได้มากขึ้น  

ส่วนทักษะทางอารมณ์และสังคม คือความสามารถในการทำความเข้าใจและอยู่ร่วมกันนกับผู้อื่น เข้าใจตนเอง เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ยังส่งผลด้านการดูแลตนเองในวิถีชีวิตและพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ลดภาระบุคลากรและงบประมาณการดูแลของภาครัฐ รวมถึงเป็นพลเมืองที่ไม่ก่อปัญหาให้สังคม 

เมื่อ ‘คน’ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศมีงานทำ มีสุขภาพดี ดูแลตนเองได้ เขาจะพร้อมดำรงชีวิตบนความเปลี่ยนแปลง สามารถพาตัวไปหาโอกาส บริหารจัดการความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่สะท้อนกลับมาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคนคนหนึ่งหรือครอบครัวเท่านั้น หากยังสะท้อนไปถึงตลาดแรงงานของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติ”

คนไทยทุกคนต้องมีโอกาสพัฒนาความสามารถ เพราะแรงงานคืออนาคต

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ทักษะพื้นฐานของแรงงานจะยังไม่อยู่ในมาตรฐานตามคาดหวัง ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงานไม่ได้เติมเต็มทักษะพื้นฐานเท่าที่ควร ดังนั้นหลักสูตรการพัฒนาอาชีพต้องให้ความสำคัญกับทักษะขั้นพื้นฐาน 

การที่ประเทศจะลงทุนกับอะไรก็ตาม ต้องเริ่มที่ทักษะพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้น เพราะการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงานเป็นสิ่งสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าการลงทุนกับทักษะอาชีพจะมีมูลค่าสูง แต่ถ้าทักษะพื้นฐานยังไม่ได้รับการเติมเต็ม การลงทุนนั้นก็อาจยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากลับมา หรือได้ผลน้อยกว่าที่คาดไว้

“ทักษะขั้นพื้นฐานไม่ได้สำคัญกับการจ้างงานแค่เฉพาะสายอาชีพเท่านั้น แต่เป็นงานทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญในขั้นนโยบายกับทักษะพื้นฐานตั้งแต่ขั้นปฐมวัยอย่างครอบคลุม เป็น Learning for All และทำโดยเร็ว เพราะว่าทักษะพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสะสมและมีความเฉพาะตัว ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น” 

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ทักษะขั้นพื้นฐานคือกลไกการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ทักษะอื่นที่สูงขึ้น กล่าวคือ ถ้าประชากรมีทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นลำดับขั้น ท้ายที่สุด ทักษะด้านอื่น ๆ ของแรงงานก็จะพัฒนาขึ้นตามกัน และจะช่วยพัฒนาฝีมือ นำมาซึ่งรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. และ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า คนในสังคมยังพูดถึงทักษะทางอารมณ์และสังคมต่อกระบวนการเรียนรู้ ค่อนข้างน้อย ทั้ง ๆ ที่ความสามารถในการปรับตัวมีความสำคัญมาก 

ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชน
และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ.
และ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและตลอดเวลา เราต้องทำให้แรงงานมีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว กระบวนการพัฒนาในขั้นนโยบาย ควรจะตั้งเป้าว่า ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ มีระดับการศึกษาแค่ไหน หรืออยู่ในสถานะสังคมเศรษฐกิจใดก็ตาม คนไทยทุกคนต้องมีโอกาสพัฒนาความสามารถ และเข้าถึงช่องทางการเพิ่มความรู้ให้กับตนเอง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องได้มาจากโรงเรียน แต่เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า วันนี้อาชีวศึกษาจัดการศึกษาแบบเดิมไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศ และอาชีพต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปทุกวัน เพราะฉะนั้นสถาบันอาชีวศึกษา ในฐานะต้นทางผลิตกำลังคนของประเทศ ต้องมาทบทวนเรื่อง Future Skill หรือทักษะในอนาคต โดยเฉพาะการ Upskill Reskill รับมือการก้าวเข้ามามีบทบาทของ AI 

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

แรงงานต้องปรับสภาพการทำงานให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีคนตกงานจำนวนมาก อาชีวศึกษาต้องผลิตคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอาชีวศึกษา

นายสรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า แนวคิดสำคัญคือ ก่อนที่เยาวชนและประชากรวัยแรงงานจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เขาจำเป็นที่จะต้องได้เรียนรู้หลักสูตรการเตรียมทำงาน ฝึกวินัยและทักษะอาชีพ นอกจากฝึกในสถาบัน หลักสูตรก็ต้องกำหนดให้ได้ฝึกฝีมือในสถานประกอบการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานตามทักษะเฉพาะทาง 

นายสรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

เมื่อฝึกเสร็จแล้ว กลุ่มเป้าหมายจะได้เข้าสู่สถานประกอบการ พร้อมการันตีค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เมื่อทักษะเป็นตัวกำหนดว่าจะได้ค่าแรงเท่าไหร่ ก็จะทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาฝีมือของตนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก 

‘เวทีนโยบายการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานสู่ความพร้อมรับมือตลาดแรงงานยุคใหม่’ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก จากทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 จะมีการเปิดเผยผลสำรวจจากโครงการ ‘การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย’ (Adult Skills Assessment in Thailand) เพื่อสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และความท้าท้ายใหม่ในการพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน และให้ความสำคัญกับบทบาทของทักษะการเรียนรู้ที่มีความจำเป็น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมรับข้อเสนอแนะ ความร่วมมือเชิงนโยบายในการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน