ประชุมวิชาการนานาชาติ “เปลี่ยนความต้องการพิเศษ เป็นพลังเพื่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน”

ประชุมวิชาการนานาชาติ “เปลี่ยนความต้องการพิเศษ เป็นพลังเพื่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน”

กสศ.​ร่วมกับครุศาสตร์ จุฬาฯ – สอศ. สถานศึกษา ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ร่วมถอดบทเรียนพัฒนาต้นแบบจัดการเรียนการสอนเน้นทำงานเป็น social lab ร่วมมือกับภาคเอกชนในลักษณะ Co-Funding ส่งเสริมการมีงานทำ สู่การพัฒนาเป็นระบบต้นแบบ ‘พิมพ์เขียว’ แนวทางการสนับสนุนดูแลลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ด้านการศึกษาสายอาชีพเพื่อคนทุกคน ครั้งที่ 1
ในหัวข้อ “เปลี่ยนความต้องการพิเศษ เป็นพลังเพื่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน” 1st International Virtual Symposium on Vocational Education for All : Transforming Special Needs to Forces for Inclusive Society 

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งผู้พิการหรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษ โดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกกลุ่มพื้นที่และทุกคนรวมทั้งผู้ที่มีความต้องการพิเศษนับล้านคนที่ทุกคนจะได้รับการส่งเสริมทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม ได้รับสิทธิและโอกาสในการประกอบอาชีพด้วยตัวเอง และจากภาคประชาสังคม

อย่างไรก็ตาม ​ต้องขอขอบคุณการดำเนินการในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษา ทั้ง กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการวางแผนที่สอดประสานกับยุทธศาสตร์ 20 ปีในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาส เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษตลอดทุกช่วงชีวิต หวังว่าจากการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จะได้ตกผลึกเป็นบทสรุปร่วมกันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในการพิจารณาคุณภาพผู้เรียน ครู บุคลากร และระบบการบริหารจัดการสถานศึกษา ให้เป็นแนวทางต้นแบบการปฏิบัติที่ดีให้กับการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทย

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้พัฒนาโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงและได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมีแนวคิดที่จะให้การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจึงจะพัฒนาต้นแบบทำงานในลักษณะ social lab ผ่านการสนับสนุนทุนให้แก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน 20% ล่างสุดของประเทศ และกลุ่มนักเรียนที่มีความพิการให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพชั้นสูงและมีงานทำทันทีเมื่อจบการศึกษาในสาขาที่ตลาดแรงงานของประเทศ

นอกจากนี้โครงการนี้ยังให้การสนับสนุนทุนให้แก่สถานศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบหลักสูตรที่เป็นนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีทักษะรอบด้าน ความร่วมมือกับภาคเอกชนในลักษณะ Co-Funding และการส่งเสริมการมีงานทำ พัฒนาเป็นระบบต้นแบบ ที่จะส่งต่อให้หน่วยงานหลักในการขยายผลเชิงปฏิรูป โดยทางโครงการได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ร่วมกับ 95 สถาบัน กระจายตัวใน 43 จังหวัดทั่วประเทศ มีจำนวนนักศึกษาสะสม 6,262 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) ทั้งกลุ่มร่างกาย สติปัญญา สองรุ่นรวม 197 คน ซึ่งดำเนินการร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา 10 แห่ง ใน 7 จังหวัด การทำงานนี้มุ่งหวังว่าจะเป็นการสร้างต้นแบบช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ตามแนวคิด “สร้างความพิเศษเป็นพลัง” 

“การทำงานเรื่องนี้ กสศ.​ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ทุกองคาพยพมีความสำคัญ ทั้งสถานศึกษาสายอาชีพ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการส่งเสริมนักศึกษา ในวันนี้ผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ว่าที่นายจ้าง สถานประกอบการ ทั้งในและต่างประเทศ นำเสนอผลงานวิจัยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนการทำงานร่วมกันจากการทำงาน 1 ปี กับสถานศึกษาทั้ง 5 แห่ง พัฒนาแนวทางและเครือข่ายการทำงานทั้งในและต่างประเทศ ในการจัดการศึกษาสายอาชีพของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ที่จะส่งเสริม ยกระดับการทำงานจัดการศึกษาเพื่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในปีนี้และต่อไป” รศ. ดร.ดารณีกล่าว

ด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)​ กล่าวว่า สอศ. มีนโยบายการจัดการศึกษาให้กับผู้พิการ ผู้ที่มีความต้องการพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับ ปวช. ปวส. หลักสูตรระยะสั้น รีสกิล อัพสกิล ให้ผู้เรียน ไปจนถึงการจัดการเรียนรวม บริการสนับสนุนทางการศึกษา เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษาให้กับผู้เรียน แม้จะมีความแตกต่างทางร่างกาย แต่คุณภาพต้องเท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมา สอศ. ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง กสศ. และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เน้นส่งเสริมดูแลสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ ทักษะบุคลากร การจัดการเรียนการสอน การเตรียมความพร้อมสู่การมีงานทำร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์   

ทั้งนี้ สอศ. ตระหนักถึงความสำคัญการพัฒนาครูบุคลากรเพื่อยกระดับการจัดการศึกษา พัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ในการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย ยืดหยุ่น เปิดกว้าง เป็นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ที่เพิ่มประสิทธิภาพอาชีวศึกษา ทั้งการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมฝึกปฏิบัติจริง มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดการเรียนแบบทวิภาคี
ที่ส่วนหนึ่งเรียนในสถานศึกษาและอีกส่วนฝึกปฏิบัติจริงที่สถานประกอบการ ได้ฝึกปฏิบัติจริงและเรียนรู้โลกการทำงาน 

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ พยายามมุ่งเน้นการพัฒนาต้นแบบการศึกษาให้เด็กยากจนด้อยโอกาส ได้เรียนสูงกว่าระดับชั้น ม.6 ในสายอาชีวศึกษา และพยายามตอบโจทย์หลายเรื่องไปพร้อมกัน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้น้องๆ ที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต้นแบบในลักษณะ social lab โดย กสศ.ต้องอาศัยความร่วมมือทางวิชาการกับหลายฝ่าย ทั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอศ. ภาคนโยบายที่ดูแลสถานศึกษาที่ต้องทำงานไปด้วยกัน ​​การมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอย่างคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หรือมีวิทยากรจากต่างประเทศเข้ามาช่วยมาแลกเปลี่ยน ทำให้การเรียนการสอนทันสมัยสอดคล้องความต้องการของโลก

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษามาหลายปีพบว่า อาชีวศึกษาตอบโจทย์ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเรียนรู้และปฏิบัติไปด้วย ซึ่งนำไปสู่การมีงานทำ เพราะเป้าหมายสุดท้ายของการเรียนก็คือการไปสู่โลกของการทำงาน
การเรียนสายอาชีวะจึงเหมาะกับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รวมทั้งต้องมีแพลตฟอร์มทำงานร่วมกันทั้งสถานศึกษาและภาคตลาดแรงงานที่ต้องหนุนเสริมเป็นเครือข่าย โดย​สิ่งที่งานวิจัยเน้นคือการเรียนรวมไม่แบ่งแยก เพราะเป้าหมายปลายทางของการศึกษาของน้องๆ กลุ่มนี้คือดำรงตนในสังคมได้ ดังนั้นการออกแบบห้องเรียนอย่างไร ครูมีทักษะแบบไหน จึงสำคัญมากกับการจัดการศึกษาตรงนี้

“บทบาทอาชีวศึกษาเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง จากการศึกษาเราพบว่ากลุ่มเด็กเยาวชนที่เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในกลุ่มนี้มีประมาณ 250,000 คน ที่เป็นผู้มีความต้องการพิเศษ โครงการเราเองช่วยได้จำนวนไม่เยอะ แต่เราพยายามสร้างโมเดล และเริ่มจากทดลองทำจริง รับนักศึกษาทุนเข้ามา มีการทำงานกับ ผอ. และครู ที่ทุ่มเทอย่างยิ่งในการสร้างโอกาสและเรียนรู้ไปด้วยกัน นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ส่วนเส้นทางที่เราจะเดินต่อไปคือนำสถานศึกษาที่เข้ามาเป็นต้นแบบในการทำงานร่วมกัน หรือรวมถึง สอศ. ที่มีสถาบันการศึกษากว่า 800 แห่ง ถ้าทุกแห่งขยายผลไปถึงได้ เมื่อเรามีความรู้ที่ชัดเจน มีงบประมาณเพียงพอ คิดว่าจะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้เด็กได้อีกเป็นจำนวนมาก แต่ก่อนไปถึงตรงนั้นเราต้องมีคำตอบที่ชัดเจนก่อนว่าบทบาทครูต้องเป็นอย่างไร โครงสร้างการศึกษาทำอย่างไร ต้องมีอะไรรองรับบ้าง รวมถึงหลักสูตรที่จะนำไปสู่ทักษะมีงานทำงานได้ผลดีเป็นอย่างไร” น.ส.ธันว์ธิดากล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม หัวหน้าโครงการ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมายของงานครั้งนี้คือการนำเสนอผลงานที่ผ่านมาในรอบ 1 ปีของสถาบันต่าง ๆ และเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เป็นวาระสำคัญเพื่อเชิญบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและพัฒนาผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทั้งภาครัฐและเอกชนมาพบกัน ซึ่งจะนำไปสู่การตกผลึกถึงแนวทางในการสนับสนุนผลักดันเรื่องการศึกษาและการมีงานทำสำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ รวมถึงอีกประการหนึ่งยังเป็นการแลกเปลี่ยนบทเรียนจากต่างประเทศ โดยได้เชิญอาจารย์ที่ทำงานวิจัยด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษจากประเทศจีน ไอร์แลนด์ และออสเตรเลีย มานำเสนอบทเรียนที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาแนวทางในการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น 

“หนึ่งปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีในการจัดการศึกษาสำหรับน้อง ๆ ผู้มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติหรือการเปิดใจรับของสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับน้อง ๆ กลุ่มนี้ แต่เราต้องมองตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางว่าเขาเรียนจบแล้วจะต้องมีงานทำเลี้ยงดูตนเองได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญของคนทุกกลุ่มทุกประเภท ทั้งบทบาทของแต่ละภาคส่วนก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะหากเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหนึ่ง มันจะไม่เกิดการส่งต่อหรือปลายทางของการศึกษาอาจไม่เกิดประโยชน์สูงสุด หากไม่มีสถานประกอบการใดรับรู้ถึงความสามารถในตัวพวกเขา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศากล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศากล่าวว่า โจทย์ตั้งต้นของโครงการเริ่มจากเรื่องของสถาบันว่าต้องรับเยาวชนกลุ่มใดบ้าง เมื่อเข้ามาเรียนแล้วจะดูแลเขาอย่างไร ต้องคำนึงถึงความจำเป็นด้านใดบ้าง และจะทำอย่างไรให้ศึกษาไปได้ตลอดรอดฝั่งและพร้อมไปสู่โลกของการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน เนื่องจากเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษแต่ละคนมีความขาดพร่องแตกต่างกันออกไป ดังนั้นสถาบันต้องจัดทำแผนและเลือกหลักสูตรให้เหมาะสม มีการสื่อสารกับสถานประกอบการที่จะรับผู้เรียนเข้าฝึกงาน โดยจำเป็นจะต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากสถานประกอบการด้วย ว่ามีทักษะ สมรรถนะ หรือความจำเป็นใดที่ผู้เรียนต้องมีติดตัวเมื่อเข้าไปทำงานจริง

ในเบื้องต้น คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานวิจัยในชื่อ ‘Design Thinking’ ที่ออกแบบจากความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียน โดยสัมภาษณ์เก็บข้อมูลแล้วนำมาประมวลผลเพื่อสร้างโปรแกรมหนุนเสริมที่จำเป็นสำหรับสถาบันที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 แห่ง รวมถึงจัด PLC Learning Community เพื่อแลกเปลี่ยนอบรมตามหัวข้อที่ได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารสถาบัน อาทิ จิตวิทยาเชิงบวก ทักษะการเงิน กิจกรรมกลุ่ม ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้จะเน้นที่การทำความเข้าใจและพัฒนาครูเพื่อการสอนและการดูแลเป็นหลัก เนื่องจากครูคือผู้ใกล้ชิดและมีความสำคัญมากที่สุดต่อกระบวนการส่งเสริมผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และในท้ายที่สุดสิ่งที่ทางคณะทำงานต้องการจากโครงการนี้คือ ‘ต้นแบบ’ หรือพิมพ์เขียวที่จะสามารถถอดออกมาได้ว่า กระบวนการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพ เพื่อส่งเสริมผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง บทบาทของแต่ละฝ่ายคืออะไร เพื่อสรุปให้เป็นงานวิจัยต้นแบบที่มีจุดประสงค์เพื่อการเรียนรู้และขยายผลต่อไปในสถาบันอาชีวศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ

“สิ่งที่เราได้เห็นในช่วง 1 ปีการศึกษาคือ การปรับตัวของน้อง ๆ ทั้งการพัฒนาทักษะชีวิต หรือทัศนคติต่อตนเองที่เปลี่ยนไป เราได้เห็นเขาเติบโต มั่นใจในความสามารถของตนเอง กล้าแสดงออก มีทักษะทางสังคมที่ดีขึ้น นี่คือความคุ้มค่าของการที่เราทำงานกับน้อง ๆ จนได้เห็นพวกเขาแสดงศักยภาพออกมา ส่วนครูเองก็ได้รับความภาคภูมิใจทั้งกับตัวเองและตัวลูกศิษย์ จากความพยายามในการก้าวข้ามข้อจำกัดในการจัดการศึกษา จนสามารถมองเห็นความสำเร็จได้ชัดขึ้น ซึ่งทีมวิจัยของเรามีหน้าที่ในการเสริมหนุนในจุดที่สถาบันและครูยังขาด มอบเครื่องมือต่าง ๆ เข้าไปเติมเต็มให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ครูจะต้องท้าทายตนเองในการหาวิธีการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับผู้เรียนซึ่งมีความแตกต่างกัน เพราะนี่คือศาสตร์ของการศึกษาพิเศษ ที่สุดท้ายเราจะพบว่าทั้งครูและผู้เรียนต้องปรับจังหวะให้เหมาะสมไปด้วยกันตั้งแต่วันแรกที่รับเขาเข้ามา จนถึงวันที่น้อง ๆ ได้ไปฝึกงาน จบการศึกษา และมีงานทำ”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิศากล่าว

นางปัทมา วีระวานิช ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ชำนาญการด้านการขับเคลื่อนนโยบายอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศเฉพาะทาง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ. มีหน้าที่ดูแลสถาบันอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศราว 300 แห่ง มีผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทั้งในระดับ ปวช. และ ปวส. รวม 1,179 คน (ปีการศึกษา 2563) โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าสาขาเกี่ยวกับไฟฟ้า IT เทคนิคเครื่องกล ช่างพิมพ์ และอาหารจะอยู่ในกลุ่มที่นักศึกษากลุ่มนี้ให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ขณะที่แต่ละวิทยาลัยจะมีสาขาที่โดดเด่นแตกต่างกันไป 

สำหรับบทบาทของ สอศ. ในการดูแลส่งเสริมสถานศึกษาจะเริ่มจากแผนนโยบายจากรัฐในภาพรวม ที่มุ่งให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการศึกษาทางวิชาชีพ และการดูแลคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะ อีกภารกิจสำคัญคือการเชื่อมต่อองค์กรเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปิดโอกาสทางอาชีพให้กับผู้เรียนกลุ่มนี้ สอศ. จึงเป็นเหมือนข้อต่อที่จะประสานความร่วมมือจากภายนอกกับภายในเข้าหากัน 

“เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่แค่เรื่องเชิงยุทธศาสตร์ แต่ต้องมองถึงการสร้างโอกาสในการมีงานทำและดูแลชีวิตตนเองได้ของผู้เรียน การทำงานของ สอศ. จึงมีบทบาท 360 องศา เช่น ในโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงนี้ เราจะดูแลเชิงนโยบายเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับสถานศึกษา รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนในประเด็นสำคัญ คือการบูรณาการสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ให้สามารถแบ่งปันทรัพยากรและทำงานร่วมกัน โดยทุกฝ่ายได้แสดงศักยภาพเต็มที่หลังร่วมงานกับ กสศ. และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เราได้บทเรียนว่าจะต้องกลับมาตั้งหลักเรื่องของกลยุทธ์ การปรับตัว และการทำงาน เรามีงานวิจัยจาก The World Bank, SABER-Systems Approach for Better Education Results: Workforce Development, Framework and Tool Analysis ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านกรอบกลยุทธ์(Strategies) 2. มิติด้านการบริหารจัดการสู่คุณภาพ (System Oversight) และ 3. มิติด้านการจัดระบบการเรียนรู้(System Oversight) ที่สามารถนำมาปรับใช้กับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างน่าสนใจ ในเรื่องของการกำหนดทิศทางขับเคลื่อนการเรียนการสอน” นางปัทมากล่าว 

ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า กรอบแนวคิดดังกล่าวมีรายละเอียดภายในว่า การจะจัดการศึกษาเป็นผลสำเร็จ จะต้องมีความเข้มแข็งเรื่องระบบความร่วมมือของทุกภาคส่วน หมายถึงถ้ารวมพลังคนในแต่ละด้านที่ทำงานร่วมกับผู้มีความต้องการพิเศษทั้งหมดได้ ก็จะมีทรัพยากรที่เหลือเพียงพอให้แบ่งปันกัน เช่น ถ้านำข้อมูลจาก สอศ. ที่ว่าสาขาวิชาใดได้รับความสนใจมากที่สุดมาใช้ปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนของสถานศึกษาให้เข้ากับความต้องการของผู้เรียน ขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อไปหาเครือข่ายองค์กรวิชาชีพที่มีทั้งหมด จนได้ออกมาเป็นหลักสูตรที่เหมาะสม ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนได้มากขึ้น

“อีกประการหนึ่งคือ ในเรื่องมิติคุณภาพการศึกษา เราสามารถวางไว้เทียบเคียงกับระดับของผู้เรียนปกติได้ ถ้าผู้เรียนมีศักยภาพไปถึง ฉะนั้นการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพต้องคำนึงถึงความพร้อมผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ความเชื่อมั่นกับผู้เรียน ผู้ปกครอง และประกันคุณภาพความสำเร็จให้เขาได้ โดยต้องมุ่งเป้าไปที่การฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการและการมีงานทำที่ปลายทาง ท้ายที่สุดในสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส เราสามารถมองไปยังด้านบวกได้ว่ามีอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการเดินทางเข้าไปในสถานประกอบการเป็นเรื่องที่บางครั้งทำไม่ได้ ประเด็นนี้อยากให้วิทยาลัยต่าง ๆ มองให้เห็นแล้วนำไปปรับใช้ส่งเสริมอาชีพให้น้อง ๆ กลุ่มนี้ โดยเชื่อมโยงกับสาขาที่สามารถทำได้ หรือมองไปยังสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ” ที่ปรึกษาโครงการกล่าว