ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ภาคส่วน ร่วมพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาปี 2566
สนับสนุน กสศ. ส่งเสริมเยาวชนนอกระบบวัย 15 - 24 ปี สู่การศึกษาที่มีทางเลือกตอบโจทย์ชีวิต ตัดวงจรจนข้ามรุ่น

ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ภาคส่วน ร่วมพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาปี 2566

เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคททางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอ ‘โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปี 2566’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาควิชาการ/หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน/ธุรกิจ ภาคประชาสังคม/ปราชญ์ชุมชน/ท้องถิ่น และภาคสื่อสารมวลชนเข้าร่วม

สำหรับโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่ง กสศ. ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2562 และประสบความสำเร็จในการสร้างหน่วยจัดการเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ ทรัพยากร หน่วยงาน รวมถึงคนในชุมชน จนเกิดเส้นทางอาชีพที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนที่ยั่งยืน โดยในปี 2566 นี้ กสศ. ได้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ แยกกลุ่มเป้าหมายในการสนับสนุนทุนระหว่างกลุ่มแรงงานนอกระบบกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบช่วงวัย 17 – 24 ปีออกจากกัน เพื่อสร้างกลไกส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ทักษะวิชาการ และทักษะวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นรายบุคคลที่มีความเฉพาะกลุ่มและสามารถสนับสนุนได้ตรงจุดปัญหามากยิ่งขึ้น

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ในฐานะประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันราว 5.6 หมื่นคน โดยหากรวมทั้งปีการศึกษาจะอยู่ที่ 238,707 คน นับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ในช่วงเวลา 3 ปีที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังคาดการณ์ว่าผลกระทบจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยใน 2-3 ปีข้างหน้า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และกระบวนการฟื้นฟูยังไปไม่ถึงคนกลุ่มที่ขาดแคลนโอกาสที่สุดในสังคม สถานการณ์เด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2566 นี้

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ปี 2565 กสศ. ได้ลงพื้นที่ติดตามเด็ก 404 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและกลุ่มเสี่ยงหลุด เพื่อช่วยเหลือให้กลับคืนสู่โรงเรียน รวมถึงร่วมกับกลไกท้องถิ่นออกแบบกระบวนการดูแลช่วยเหลือไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ โดยการติดตามเชิงคุณภาพในเด็กกลุ่มตัวอย่าง 20 คนที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาและคุณภาพชีวิต ทำให้พบข้อมูลสำคัญว่า มีเด็กเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่กลับมาแล้วเรียนต่อได้อย่างราบรื่น หรือ ‘รอด’ จริง ๆ ในระบบการศึกษา ขณะที่ราว 6 – 7 คน จำเป็นต้องประคับประคองต่อเนื่องใกล้ชิด ส่วนอีกเกือบ 10 คน ‘ไม่รอด’ คือหลุดออกจากระบบซ้ำเป็นรอบที่สอง ข้อมูลนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าแม้สามารถติดตามเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับมาได้สำเร็จ แต่โอกาสที่เด็กจะหลุดซ้ำก็ยังมีถึง 82.18% ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการรองรับที่มากกว่าการตามกลับมา แต่ต้องดูแลทั้งเรื่องทุนการศึกษาและคุณภาพชีวิต  

“สองสาเหตุหลักของการหลุดจากระบบซ้ำคือ 1.ครอบครัว และ 2.คือโรงเรียน ประการสำคัญคือนโยบายเรียนฟรี 15 ปีที่ทำไม่ได้จริง 100% โดยทุกเปิดเทอมจะมีค่าใช้จ่ายก้อนแรกเฉลี่ยต่อเด็ก 1 คนประมาณ 2,000 – 6,000 บาท ส่วนเมื่อรวมค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตลอดปีการศึกษาจะอยู่ที่คนละ 17,832 บาท ในทางกลับกันงานวิจัยชี้ว่ารายได้เฉลี่ยผู้ปกครองในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 15% ล่างของประเทศนั้นอยู่ที่ 1,135 บาท ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างรายได้และรายจ่ายตรงนี้ นำไปสู่การกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ ยิ่งในช่วง 2-3 ปีผ่านมารายได้ครัวเรือนลดลงราว 5% สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 5% เช่นกัน ตัวเลขเฉลี่ยของหนี้สินครัวเรือนจึงสูงถึง 147,000 บาท สิ่งที่ตามมาคือการ ‘ยอมจำนนต่อความยากจน’ ของครอบครัวเหล่านี้ โดยหลายครอบครัวตัดสินใจทยอยนำลูกหลานออกจากโรงเรียน เพื่อมาช่วยเป็นอีกแรงหนึ่งในการหารายได้จุนเจือครอบครัว และนั่นเท่ากับว่าการส่งต่อวงจรความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นกำลังดำเนินไปไม่สิ้นสุด เนื่องด้วยการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยปราศจากวุฒิการศึกษา มีสิ่งที่รอคอยอยู่ปลายทางคือการเป็น ‘แรงงานไร้ฝีมือ’ รับค่าแรงราว 6,000-8,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต และแทบเข้าไม่ถึงโอกาสการพัฒนาตนเองเพื่อความความก้าวหน้าหรือเพิ่มรายได้ในทางใดทางหนึ่ง”

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังมีเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ราวปีละ 60,000-70,000 คน ย่อมหมายถึงความผิดปกติของระบบการศึกษา ว่าไม่อาจตอบโจทย์ชีวิตและความต้องการของผู้เรียนได้อย่างตรงจุด งานวิจัยชี้ว่าหลังเด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา จะมี 4 เส้นทางหลักที่รองรับ 1.ทำงาน 2.เรียน กศน. ควบคู่กับการทำงาน 3.กลายเป็นกลุ่ม NEETs (Not in Education, Employment or Training) ซึ่งหมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรมใด ๆ และ 4.การรวมกลุ่มที่นำไปสู่ปัญหาสังคมต่าง ๆ หรือเป็นต้นทางของยุวอาชญากร ซึ่งปลายทางจะไปจบลงที่สถานพินิจฯ เกิดการเข้าออกเวียนซ้ำจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

กสศ. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันผลักดันการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิตให้กับเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยส่งเสริมให้เกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ออกแบบให้เหมาะสมกับความสนใจ ความต้องการ และความถนัดของผู้ร่วมเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาทักษะรอบด้านอย่างเต็มศักยภาพ สามารถต่อยอดสู่การประกอบอาชีพ มีรายได้ที่สัมพันธ์กับทักษะและประสบการณ์ ช่วยยุติวงจรความยากจนในครัวเรือน รวมถึงทลายเส้นแบ่งเชิงโครงสร้างของการศึกษา ‘ในระบบ’ และการศึกษา ‘นอกระบบ’ ให้หมดไป

“ประเด็นสำคัญคือเมื่อเด็กหลุดออกจากระบบมาแล้ว เขาแทบไม่มีโอกาสเลยที่จะได้รับการศึกษาและการพัฒนาตนเอง ครั้นเวลายิ่งผ่านไปสนิมสังคมก็ยิ่งจับตัวเขรอะจนไม่อาจมีนโยบายหรือมาตรการใดเข้าไปช่วยฟื้นฟูได้อีก นั่นคือลู่ที่สังคมและสิ่งแวดล้อมหล่อหลอมให้เขาไปถึงจุดนั้น คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเราถึงปล่อยให้เด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษามีทางเลือกในชีวิตเพียงแค่นั้น

“งานที่ร่วมกันทำวันนี้แตกแขนงมาจาก ‘โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ที่ กสศ. ร่วมกับภาคีทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 กับกลุ่มเป้าหมายคือแรงงานนอกระบบราว 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ โดยภายใต้โครงการพัฒนาการเรียนรู้ สำหรับเยาวชนนอกระบบ ที่แยกออกมาจะมุ่งเป้าที่เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา 900,000 กว่าคนโดยตรง รวมถึงยังเป็นการเดินหน้าค้นหาวิธีการสร้างตาข่ายรองรับเด็กเยาวชนอีก 60,000-70,000 คนที่จะติดตามมาในแต่ละปี

“เราเห็นแล้วว่าหลักสูตรที่ออกแบบไว้เพียงลู่เดียวมาตรฐานเดียว คือมาตรวัดคัดทิ้ง ซึ่งไม่สามารถทำให้ ‘เด็กทุกคน’ หาทางไปในชีวิตได้ และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เดินต่อไปโดยไม่ทำอะไรเลย เราอาจสูญเสียเด็กเยาวชนทั้งรุ่น การส่งต่อความยากจนในครอบครัวจะขยายตัวและลงรากลึกจนไม่สามารถทำอะไรได้อีก”         

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่าการศึกษาที่มีทางเลือก และการศึกษาเชิงพื้นที่ คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยพลังของ กศน. ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมต่าง ๆ และการเดินหน้าจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ฉบับปัจจุบัน ที่มีเรื่องของธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งผู้เรียนสามารถเทียบโอนจากระดับการศึกษาเดิมหรือจากประสบการณ์การทำงาน เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิตใช้ศึกษาต่อและรับวุฒิการศึกษาได้ โดยแนวทางนี้จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมเกิดขึ้นตามมาอีกมาก

“สี่ปีที่ผ่านมา การทำงานของ กสศ. ร่วมกับภาคีต่าง ๆ และจากโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ทำให้เราเห็นความสำเร็จของการจัดการศึกษาทางเลือก เช่น ‘โรงเรียนมือถือ’ โดยศูนย์การเรียน CYF ที่จังหวัดนครพนม จนสามารถทำให้เด็กเยาวชนในสถานพินิจฯ จบการศึกษาภาคบังคับเป็นจำนวนมาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการศึกษาต่อถึงระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ไปต่อบนเส้นทางการศึกษาในระบบ ก็มีลู่ทางในการทำงานและเข้าถึงกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพมากขึ้น เรามีหน่วยจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ upskill reskill มีการฝึกอบรมอาชีพทางเลือกตามความถนัดและความสนใจ อาทิสายงานช่างต่าง ๆ หรืออาชีพทางเลือกใหม่ ๆ อย่างทำอาหาร บาริสต้า ซึ่งตอบโจทย์เรื่องแรงบันดาลใจ การหาเลี้ยงชีพ และบริบทในการใช้ชีวิต

“หลักคิดของการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก คือต้องออกแบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่น มีหลากหลายลู่ สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน บนพื้นฐานของการเติมเต็มทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต สำคัญที่สุดคือคณะทำงานซึ่งต้องใช้ผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มผู้เรียนรู้ ทั้งในกระบวนการคัดเลือกและกระบวนการพัฒนา สำหรับ กสศ. จะมีหน้าที่ประสานทำความเข้าใจเรื่องการทำงานที่ ‘ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีขั้นตอนรองรับผู้ร่วมเรียนรู้เป็นลำดับขั้นจนเข้าสู่การทำงานที่มั่นคงยั่งยืนต่อไป” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว               

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโจทย์การทำงานและเป้าหมายโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบ ปี 2566 ได้มุ่งเป้าที่การพัฒนาคนทำงานและสร้างแกนนำที่เข้มแข็ง ได้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นภาคีของ กสศ. ตั้งแต่สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ชุมชน เพื่อให้เกิดกลไกทำงานเชิงพื้นที่ในระยะยาว โดยเฉพาะรูปแบบการค้นหาและเข้าถึงตัวเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายคน สามารถวิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการ และดึงศักยภาพที่มีให้ได้รับการพัฒนาอย่างถูกจุด มีการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยร่วมกับครอบครัว ชุมชน เชื่อมโยงประสานกับการใช้ทรัพยากรและจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการและเงื่อนไขของชีวิต มีการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ

“เราอยากเห็นหน่วยจัดการเรียนรู้ที่สร้างความไว้วางใจให้กับครอบครัวชุมชน เป็นที่ปรึกษาในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ลงไปสู่ตัวเยาวชน ทั้งการเห็นคุณค่าในตนเอง การมองเห็นทางเลือกในการเข้าถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพ ส่วนหนึ่งที่จำเป็นมาก ๆ คือการจัดทำแผนการดูแลรายกรณี สร้างเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพ การฟื้นฟูเยียวยา การส่งต่อความช่วยเหลือและติดตามผล ซึ่งคือแนวทางการวางรากฐานของระบบ ที่จะช่วยให้เกิดการทำงานระยะยาว สามารถส่งต่อกันด้วยระบบการเทียบโอนหน่วยกิตเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย เพื่อส่งเสริมผู้ร่วมเรียนรู้ให้เข้าถึงการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบ”

รศ.ดร.วีระเทพ กล่าวว่า สิ่งที่ได้พบจากหน่วยการเรียนรู้ที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา คือความหลากหลายของพื้นที่ และความหลากหลายเชิงประเด็น โดยข้อเสนอที่เข้ามาในปี 2566 มีทั้งสิ้น 89 โครงการ จำนวนนี้มี 52 โครงการที่ไม่เคยได้รับทุนจาก กสศ. มาก่อน แบ่งประเภทของหน่วยงานคือเป็นภาคเอกชน/กิจการเพื่อสังคม 8 โครงการ ภาครัฐ 2 โครงการ ปกครองส่วนท้องถิ่น 3 โครงการ ศูนย์การเรียน 10 โครงการ หน่วยงานระดับชุมชน 4 โครงการ สถาบันการศึกษา 30 โครงการ หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร 28 โครงการ และกลุ่มอื่น ๆ เช่นองค์กรสาธารณะประโยชน์ สภาการศึกษา กลุ่มอิสระ อีก 7 โครงการ ครอบคลุมกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ 3,296 คน แบ่งเป็นเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา 1,949 คน กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น 302 คน เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม 333 คน เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ 306 คน ผู้พิการ 113 คน และกลุ่มอื่น ๆ อีก 293 คน และรวมงบประมาณที่ขอรับสนับสนุนทั้งสิ้น 75,987,972 บาท

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการ
สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวถึงแนวคิดสำคัญของโครงการในปี 2566 ว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ กสศ. แยกการทำงานกับกลุ่มเยาวชนออกจากแรงงานนอกระบบ เนื่องจากข้อค้นพบที่ว่าลักษณะของผู้ร่วมเรียนรู้ทั้งสองกลุ่มต่างกัน จึงต้องมีกลไกการจัดการเรียนรู้ที่ต่างกัน เพื่อให้ตรงกับโจทย์ความต้องการเฉพาะและบริบทความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยในกลุ่มเยาวชนนอกระบบจะกำหนดช่วงอายุที่ 15-24 ปี ที่เผชิญปัญหาซับซ้อนนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ แต่คาบเกี่ยวกับปัญหาเชิงสังคม สุขภาพ เช่นกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม หรือผู้พิการ ซึ่งต้องการแนวทางการทำงานเฉพาะตามช่วงวัยและรูปแบบปัญหาของแต่ละกลุ่ม

ต่อมาคือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ได้เน้นแค่พัฒนาทักษะอาชีพ แต่ต้องมีเรื่องการพัฒนาทักษะชีวิต สร้างแรงบันดาลใจ เตรียมความพร้อมด้านทัศนคติของผู้เรียนรู้ โดยที่ผ่านมาเยาวชนส่วนใหญ่ที่หันหลังให้ระบบการศึกษามีสาเหตุจากหลักสูตรไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นต้องมีการปรับวิธีการเรียนรู้ให้ชัดเจนขึ้น และต้องมีการรวบรวมเอาผู้เชี่ยวชาญจากต่างสาขาวิชามาร่วมกัน เพื่อไปให้ถึงการค้นพบกลไกการเรียนรู้ทั้งแบบเฉพาะกลุ่มและเชิงพื้นที่ในลักษณะชุมชนเป็นฐานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้การจัดการศึกษามีความสอดคล้องกับบริบทของเด็กเยาวชนยิ่งขึ้น        

“การย่องานลงในระดับพื้นที่ จะทำให้ขนาดของการทำงานเล็กลง จำนวนกลุ่มเป้าหมายลดลง ซึ่งหมายถึงการตอบสนองและสนับสนุนความต้องการและความถนัดเฉพาะทางทำได้ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยจากตัวเลขเยาวชนนอกระบบการศึกษา 9 แสนคน ถ้าเอา 77 ซึ่งเป็นจำนวนจังหวัดหาร จะเหลือกลุ่มเป้าหมายแค่เรือนหมื่น แล้วถ้าสามารถจัดการได้ในระดับตำบล จะเหลือแค่หลักพันหรือหลักร้อยเท่านั้น เราจึงมองว่าการทำงานเชิงพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐานมีความสำคัญมาก และจะช่วยให้เราได้บทเรียนใหม่ ๆ อีกมากในการทำงาน ที่จะส่งต่อกันได้ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียง และในระดับประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว