ครั้งแรกของ รร.กทม. ที่นร.จะเข้าถึงทุนเสมอภาค ป้องกันหลุดนอกระบบ พร้อมเชื่อมฐานข้อมูลสร้างหลักประกันการเข้าถึงโอกาสการศึกษา
กทม. ร่วมกับ กสศ.เชื่อมโยงฐานข้อมูลนักเรียนสังกัด กทม เตรียมจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค ป้องกันเด็กหลุดนอกระบบ พร้อมดีเดย์เปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนพื้นที่กรุงเทพฯ รับเปิดภาคเรียน ปี 65 สายด่วน 02 079 5475 ต่อ 0

ครั้งแรกของ รร.กทม. ที่นร.จะเข้าถึงทุนเสมอภาค ป้องกันหลุดนอกระบบ พร้อมเชื่อมฐานข้อมูลสร้างหลักประกันการเข้าถึงโอกาสการศึกษา

กรุงเทพฯ 19 พฤษภาคม 2565 –  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผนึกกำลัง สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร แถลงความร่วมมือปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ด้วยหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค ช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสในโรงเรียนสังกัด กทม. หลังพบสถิติจากการสำรวจว่าเป็นพื้นที่ที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำและมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงกว่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2 เท่า พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา แก้ปัญหากรณีเร่งด่วน ป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ปีการศึกษา 2565 นี้

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า โควิด-19 ได้ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในประเทศไทย  จากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาทต่อคนต่อปี ถึง 2 เท่า และหากเปรียบเทียบภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กที่มาจากครัวเรือนยากจนร้อยละ 10 ล่างสุดของกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 6,600 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุดร้อยละ 10 แรกของกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 78,200 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งห่างกันถึง 12 เท่า ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนกลุ่มยากจนและกลุ่มที่มีฐานะดีมีโอกาสได้รับแตกต่างกัน

ดร.ไกรยส กล่าวว่าหลังจากที่ผ่านมา กสศ.ทำงานมาอย่างต่อเนื่องกับ หน่วยงานต้นสังกัด 5 สังกัด และขณะนี้กำลังขยายสู่สังกัด กทม.นี่เป็นก้าวแรกที่จะสร้างหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร วางระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (CCT ) ให้ครูประจำชั้นทุกโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ มีเครื่องมือเยี่ยมบ้าน และคัดกรองสถานะความยากจนเป็นรายครัวเรือน เพื่อใช้ประกอบการประเมินความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งประกอบการพิจารณาสนับสนุนมาตรการสำคัญต่างๆ ที่ กสศ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เช่น โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเฝ้าระวัง และติดตามความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน  

(ซ้าย) ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. /
(ขวา) นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการบูรณาการและเชื่อมส่งต่อฐานข้อมูลจากสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนทุนการศึกษาจากแหล่งอื่น เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนด้อยโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่ง กสศ. มีเครือข่ายความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงทุนการศึกษาจากภาคเอกชน การดำเนินงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือทั้งหมดนี้
มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัยและวัยเรียน รักษาอัตราการคงอยู่ของนักเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสการศึกษาต่อสูงกว่าภาคบังคับทั้งในและนอกระบบตามศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าว  

นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลนักเรียนสังกัดกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ ในภาคเรียนที่ 2/2564 พบว่ามีนักเรียนออกจากระบบการศึกษา จำนวน  434 คน โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน เกือบจน และจนถาวร ในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 นี้ สำนักการศึกษากรุงเทพฯ ได้ร่วมมือกับ กสศ. ระดมพลังคุณครู พร้อมทำงานร่วมกับสำนักงานเขตและชุมชน ในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คัดกรอง ติดตามข้อมูลนักเรียน 261,160 คน จาก 437 โรงเรียน เพื่อประเมินความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบให้ได้กลับมาเรียนต่ออีกครั้ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ เช่น การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ที่ กสศ. จะเข้ามาสนับสนุนนักเรียนที่มีข้อจำกัดด้านต่างๆ เป็นการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์เด็กมากขึ้น

“สำหรับกรณีวิกฤตเร่งด่วน ได้ร่วมมือกับ กสศ. ดำเนินงานเชิงรุกผ่าน “ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กรุงเทพฯ” บรรเทาปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะวิกฤตทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ปัจจัย หรือสภาวะอื่นใดที่ส่งผลกระทบให้กระบวนการอุปการะทางด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จนอาจเป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
หรือขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและเสมอภาค” นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักการศึกษากรุงเทพฯ กำลังเตรียมพัฒนาความร่วมมือกับ กสศ. ให้ครอบคลุมทุกมิติในการทำงานด้านเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือการพัฒนาสนับสนุนครู และสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพฯ การพัฒนาทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเยาวชนและวัยแรงงานช่วงต้นในพื้นที่บริการของกรุงเทพฯ การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ในบริบทชุมชนต่างๆ   เพื่อให้การศึกษาได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น และยกระดับให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครเมืองหลวงที่มีความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. เชื่อว่าหากไม่มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯเข้าไปช่วยเหลือดูแลกลุ่มครัวเรือนยากจน 8 ด้าน อาจทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน และหากเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก็จะเกิดปัญหาตามมาทั้งเรื่องยาเสพติด และความประพฤติที่ไม่เหมาะสมภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือนที่เด็กหลุดออกไป แต่โรงเรียนในสังกัดกทม. 437 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถมศึกษา กับอนุบาล ขณะที่อีกหลายโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเห็นว่าหากเป็นไปได้ โรงเรียนขนาดเล็กควรสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้สามารถส่งต่อเด็กได้ทันทีแบบไร้รอยต่อระหว่างโรงเรียนในกทม. โดยในส่วนของกสศ. จะเป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษา

นอกจากนี้ยังมองว่าความร่วมมือระหว่างกสศ.และกทม.จะทำให้ครูมีข้อมูลอย่างเป็นระบบ นำไปสู่การให้คำแนะนำที่เหมาะสม สามารถติดตามหาข้อมูลช่วยเหลือเด็กได้อย่างใกล้ชิดและได้ข้อมูลที่แท้จริงกลับมา ซึ่งจะทำให้เด็กอย่างน้อยร้อยละ 80 รอดจากการหลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมเสนอให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯเป็นโรงเรียนอินเตอร์ติดดิน มีครูสอน 3 ภาษา ทำซอล์ฟพาวเวอร์ร่วมกับฝึกอาชีพให้กับเด็ก ให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตนเอง สร้างรายได้ ก้าวพ้นวิกฤตจากความมืด 8 ด้าน และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป

สำหรับประชาชนทั่วไปหากพบกรณีเด็กและเยาวชนที่หลุดนอกระบบการศึกษา และต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถแจ้งเหตุ ได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กรุงเทพฯ   เบอร์โทรศัพท์ 02 079 5475 ต่อ 0 และ 065-5069574 และ 065-5069352 ระหว่างเวลา 09.00 – 18.00 น. ทุกวันทำการ