ปตท. ร่วมสร้างกลไกช่วยเหลือเด็กวิกฤต สมทบเงิน 20 ล้าน เข้าศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา
กสศ. ป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ผ่านกลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือสู่ยั่งยืน

ปตท. ร่วมสร้างกลไกช่วยเหลือเด็กวิกฤต สมทบเงิน 20 ล้าน เข้าศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมพิธีรับมอบเงินสนับสนุนในโครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง”  จาก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อจัดตั้งกองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา จำนวน 20 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางสังคมให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในปี 2565 อีกทั้งที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนช่วงชั้นรอยต่อ ได้แก่ เด็กที่เรียนจบชั้น ป.6 กำลังขึ้นชั้น ม.1 และเด็กที่เรียนจบชั้น ม.3 กำลังขึ้นชั้น ม.4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจกว่า 60,000 คน จาก 17,432 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รวมสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชนภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ไปแล้วทั้งสิ้นรวม 171 ล้านบาท

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า โครงการลมหายใจเพื่อน้องจะช่วยรักษาให้นักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อยังคงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ ที่สำคัญทุนสนับสนุนเหล่านี้คือการต่อลมหายใจให้กับเด็กและเยาวชนของเราทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคนที่มาร่วมยกระดับเด็กยากจนด้อยโอกาสในวิกฤตทางการศึกษาคือพลังสำคัญที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ใครมีกำลังในด้านใดก็สามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันได้ เหมือนเช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนสิ่งดีๆเพื่อเด็กของเราทุกคน  เพราะเยาวชนจะเป็นพลังขับเคลื่อนเรื่องราวดีๆต่อไปในอนาคต 

“ปัจจุบันศูนย์วิกฤตทางการศึกษาดำเนินการนำร่องช่วยเหลือเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก ราชบุรี ขอนแก่น ยะลา และกรุงเทพมหานคร ในแต่ละจังหวัดพื้นที่จะมีคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีภาวะวิกฤตทางการศึกษา เพื่อเข้าไปจัดสรรความช่วยเหลือที่ตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหา และเหนี่ยวนำความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ  ตั้งแต่ระดับจังหวัด ท้องถิ่น เอกชน เข้ามาบูรณากลไกการทำงานครอบคลุมทุกมิติปัญหา อันนำไปสู่รากฐานการทำงานระยะยาวอย่างยั่งยืน” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว