การสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนชื่อดัง : ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำคุณภาพทางการศึกษา

การสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนชื่อดัง : ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำคุณภาพทางการศึกษา

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน มองผ่านเลนส์การแข่งขันสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพทางการศึกษา

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan)” แสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะต่อสภาพการศึกษาของไทย โดยเฉพาะในช่วงที่นักเรียนสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนชื่อดัง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เห็นว่ามีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจหลายมิติ สมควรนำมาขบคิดพิจารณาไปด้วยกัน

ศ.ดร.กนก  อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการขับเคลื่อนวาระประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ ด้านเศรษฐกิจและการศึกษา จำแนกประเด็นไว้ดังนี้

  1. ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่นักเรียนจากทั่วประเทศเข้าสู่สนามสอบเพื่อหาช่องทางเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงชั้นปีสุดท้าย (มัธยมศึกษาปีที่ 4-6) ก่อนเข้าสู่ระดับของมหาวิทยาลัยภาพข่าวจากการนำเสนอของสื่อสารมวลชนเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ในประเด็นนี้ ที่กล่าวถึงนักเรียนกว่า 12,000 คน ต่อแถวกันอย่างยาวเหยียดและแออัด บริเวณอิมแพคอารีนา เมืองทองธานี เพื่อทำการคัดกรองและลงทะเบียนก่อนแบ่งเข้าไปทำการสอบตามแต่ละห้องที่จัดเตรียมเอาไว้ ในการเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ที่จำกัดเพียง 1,520 คน ใน 8 แผนการเรียนเท่านั้น ทำให้ผมต้องนำเรื่อง “การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียน” มาตกผลึกร่วมกันอีกครั้งแน่นอนว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เสมือนเป็นสถานที่ที่ให้หลักประกันในการเข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และคณะวิชาที่มีชื่อเสียงได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่นักเรียนมากมาย รวมถึงผู้ปกครองของพวกเขา จึงหมายตาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้เป็นอันดับต้นๆและด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ โรงเรียนในลักษณะนี้จะรวมนักเรียนเก่งเอาไว้ การสอบที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเวทีแข่งขันสำหรับนักเรียนเก่งที่อยากมีสถานบ่มเพาะอนาคตที่เหมาะสม ซึ่งทำให้นักเรียนที่มีลักษณะตรงข้าม คือ อาจจะเรียนไม่เก่งนัก หรือเก่งน้อยกว่า ก็ต้องทำใจยอมรับสภาพของการเป็นผู้แพ้ หรือคนที่ไม่ถูกเลือก ส่งผลให้อนาคตสำหรับการเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสอันริบหรี่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ระบบการศึกษาไทยต้องหาทางแก้ไขในทันที
  2. ใช่ครับ ผมกำลังชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน จนส่งผลไปกระทบกับประเด็นต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศดังนั้น การมีโรงเรียนที่มีคุณภาพการเรียนการสอนสูงอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไม่ใช่ปัญหา เพราะในทุกประเทศย่อมจะมีโรงเรียนคุณภาพสูงจำนวนหนึ่ง แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือ โรงเรียนจำนวนมาก (มากกว่าร้อยละ 80 ของโรงเรียนทั้งหมด) อาจมีคุณภาพการเรียนการสอนต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งทำให้เกิด “ความไม่ชอบธรรม” ต่อนักเรียนจำนวนหนึ่ง ที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการศึกษาน้อยกว่านักเรียนอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีจำนวนไม่มากนักส่วนนักเรียนจำนวนมากก็จะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง ให้แสวงหาอนาคตกันตามความสามารถของแต่ละคน และแต่ละครอบครัวพึงจะมี ตรงนี้เองที่ทำให้ระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันก็ขอนำเสนออีกครั้ง เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน ที่ผมได้สื่อสารผ่านบทความไปหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยสรุปแบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่1. ครูที่สอนต้องมีความรู้ในสาระวิชาที่สอน
    2. ครูต้องมีวิธีการสอนสาระวิชานั้น ที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้
    3. ครูต้องมีใจรักที่จะสอน รวมถึงความภาคภูมิใจในการเป็นครู และวิชาชีพครู
  3. สำหรับทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ระบบฝึกหัดครู” ที่หายไปจากประเทศไทย หลังจาก “วิทยาลัยครู” แปรสภาพไปเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ในปัจจุบัน คณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่จึงแทบจะไม่ได้ “สร้างครู” แล้ว แต่เน้นการผลิต “ผู้บริหารการศึกษา” เสียมากกว่าผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคืนนักบริหารการศึกษาให้กลับไปสู่มหาวิทยาลัย และทวงคืน “ครู” ให้กลับมาหน้าชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การแก้ปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนของครูที่บรรจุแล้วในโรงเรียนทั่วประเทศ จึงต้องนำ “ครูประจำการ” เหล่านี้กลับมาเข้ารับการฝึกอบรมเรื่อง “วิธีการสอน” กันใหม่พร้อมทั้งยกเครื่องระบบศึกษานิเทศก์ใหม่ เพื่อให้สามารถ Coaching ครูขณะปฏิบัติหน้าที่การสอนในชั้นเรียนให้มีมาตรฐานที่ต้องการ รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์ชั้นเรียนร่วมกับศึกษานิเทศก์ เพื่อให้เห็นปัญหาการสอนของครู ที่นำไปสู่การแก้ไข และพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเชื่อเถอะครับว่า เมื่อมาตรฐานการเรียนการสอนของทุกโรงเรียนทั่วประเทศเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดอย่างแท้จริง คือ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของนักเรียน ตรงนี้ก็จะส่งผลให้การแข่งขันของนักเรียนในการสอบเข้าเรียนตามโรงเรียนคุณภาพของเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ฯลฯ จะลดลงทำให้นักเรียนสามารถเลือกที่จะเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านได้ โดยที่ยังมีโอกาสเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสูง (ถึงแม้จะไม่เท่ากับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ตาม)ส่วนปัญหาที่ตามมาจากการเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่ เช่น ค่าใช้จ่ายสูง ความเสี่ยงต่อภัยสังคมต่างๆ ก็จะลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม ก็จะค่อยเบาบางไป พร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตของคนไทยที่จะดีขึ้น ต่อยอดไปถึงขีดความสามารถของประเทศไทยในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการแข่งขันกับต่างประเทศก็จะมีศักยภาพอันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมา นี่เป็นห่วงโซ่ของการยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
  4. กระนั้น แม้ว่าการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนจะดีขึ้น และการแก่งแย่งเข้าโรงเรียนชั้นนำจะน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การแข่งขันกันสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะลดลง และโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำจะสูงขึ้น เพราะปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดระบบของโรงเรียน และตัวนักเรียนเป็นอย่างมาก ก็คือ ระบบการคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยดังนั้น ถ้าระบบนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข การพัฒนาคุณภาพของนักเรียนก็ยังมิอาจเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่ เพราะการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนกับการปรับระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีความสอดคล้องกัน และส่งเสริมซึ่งกันและกันในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพแก่นักเรียน ซึ่งในโอกาสหน้า ผมจะมาเติมเต็มในส่วนของระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย อย่างไรจึงจะสร้างคุณภาพของนักเรียนอย่างแท้จริงแต่สำหรับข้อเสนอเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนในบทความนี้ ผมหวังเพียงให้แนวทางที่นักเรียนสามารถจะ “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีพื้นที่ในการตัดสินใจต่ออนาคตของตัวเองที่มากยิ่งขึ้น จะได้ไม่ต้องไปเอาเป็นเอาตายกับการเข้าโรงเรียนยอดนิยมราวกับว่าเป็นตัวตัดสินอนาคตเพียงทางเดียวที่เหลืออยู่ จนอาจส่งผลไปถึงปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาอย่างไม่คาดคิด