กสศ. จับมือ ม.พะเยา จัดทำหลักสูตร ‘นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้’ พัฒนาคน พัฒนาเมือง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

กสศ. จับมือ ม.พะเยา จัดทำหลักสูตร ‘นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้’ พัฒนาคน พัฒนาเมือง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา UNESCO และภาคีเครือข่ายอย่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีการเรียนรู้หลักสูตร ‘นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้’ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง โดยมีภาคประชาชนและตัวแทนจาก 13 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ อาทิ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เข้าร่วมเปิดตัวหลักสูตรสร้างนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ให้มีทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และมีทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มเปราะบางที่สุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีหลากหลายมิติ การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการคิดที่รอบด้าน เพราะปัญหาแท้จริงที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่แค่ปัญหาการเงินในครอบครัว แต่อาจเกิดจากปัญหาลึก ๆ อีกหลายด้าน ซึ่งผู้กำหนดนโยบายการช่วยเหลือจากส่วนกลางอาจไม่ทราบข้อมูลที่ลึกลงไปถึงรากของปัญหา จึงจำเป็นต้องผลักดันรูปแบบการทำงานที่มอบบทบาทให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ 

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ.

นายเอ็นนูกล่าวว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือหรือโมเดลในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นจากพลังของท้องถิ่นในการช่วยคิดแก้ปัญหา พร้อมทั้งมีระบบติดตามประเมินการทำงานของตัวเอง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาความรู้ หาวิธีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างทีมหรือเครือข่ายในแต่ละเมือง จนสามารถสร้างทักษะต่าง ๆ ทั้งการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การสร้างและพัฒนาทีมเวิร์ค เพื่อนำมาพัฒนาเมืองอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลง 

เวทีการสร้างนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างน้อย 2 โจทย์ใหญ่ที่อยู่ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 13 คือ หมุดหมายที่ 8 เรื่องเมืองน่าอยู่ และหมุดหมายที่ 12 เรื่องการพัฒนาคน หากประเทศไทยมีนักจัดการเมืองที่เข้าใจบริบทสังคมวัฒนธรรม ก็จะทำให้การพัฒนาบ้านเมืองเป็นไปอย่างมั่นคงและสร้างการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยาได้ศึกษาหลักเกณฑ์เมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแล้วเดินตามทีละข้อ ได้แก่ ข้อที่ 1 การใช้ทุนของชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ข้อที่ 2 การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะคนที่ขาดโอกาสต้องได้เรียน ทั้งคนพิการ คนยากจน คนสูงอายุ เป็นต้น 

ข้อที่ 3 การเรียนต้องก่อให้เกิดรายได้ มหาวิทยาลัยพะเยาจึงออกแบบการเรียนให้ออกมาเป็นโปรดักส์ ซึ่งโปรดักส์ดังกล่าวจะต้องขายได้ สร้างรายได้ระหว่างเรียน และข้อที่ 4 การทำงานบนความร่วมมือของท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยพะเยาทำงานร่วมกับเทศบาลเมืองพะเยา ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภายใต้เป้าหมายร่วมกันคือ การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ 

ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา

ศ.ดร.เสมอ กล่าวว่า กสศ. กับมหาวิทยาลัยพะเยา ได้สร้างความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ สร้างรูปแบบการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย สามารถนำไปออกแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ได้ ยกระดับสู่การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา สร้างโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง นำความรู้ไปประกอบอาชีพ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนในแต่ละพื้นที่ได้

รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนจังหวัดพะเยาเป็น Learning City เริ่มขึ้นจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งส่งผลให้คนจำนวนมากที่เคยทำงานอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ตกงาน ขาดรายได้ จำนวนหนึ่งต้องย้ายกลับมาที่จังหวัดพะเยา แรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่น่าเป็นห่วง มหาวิทยาลัยพะเยาจึงได้สร้างแหล่งเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นในพื้นที่รอบกว้านพะเยา โดยเริ่มจากการทำวิจัยแหล่งเรียนรู้ทันสมัย สร้างอาชีพสร้างรายได้ หนุนเสริมต่อยอดด้วยกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาสินค้าให้สามารถสร้างรายได้ในพื้นที่ ช่วยให้คนกลุ่มเปราะบางมีทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และพยายามสร้างโมเดลวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 

รศ.ดร.ผณินทรา กล่าวว่า จากแนวทางที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้ศึกษา ถูกนำไปขยายผลเพิ่มรูปแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง เริ่มจากชุมชนที่เรียกว่า ชุมชนแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กพิการ ให้เข้ามาเรียนและมีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยมีการวัดประเมินผลทางด้านสุขภาพกายกับสุขภาพใจ ก่อนเรียนและหลังเข้ารับการฝึกกระบวนการเรียนรู้ โดยพบว่า สุขภาพกายด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กของมือที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้นดีขึ้น จนสามารถพัฒนาตัวเองให้มีทักษะด้านอาชีพที่สูงขึ้น ทั้งการฝึกเย็บผ้า ทำร้องเท้าด้วยเศษผ้า ออกแบบลวดลายบนรองเท้า พร้อมทั้งมีการประสานให้วิสาหกิจชุมชมเข้ามาคัดเลือกเด็กไปฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะต่อไปให้เป็นระดับมืออาชีพ

นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงการพะเยา Learning City มีส่วนช่วยให้เด็กกลุ่มเปราะบางในพื้นที่มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จากเดิมจังหวัดพะเยาเคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตสูง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ แต่ปัญหานี้เริ่มลดลง หลังจากใช้หลักสูตร ‘ท่ารำบำบัด’ ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้มาช่วยประเมินด้านสุขภาพจิต พบว่า เด็กถึง 75 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

ทางด้าน นางสุนทรีย์ มหาวงศ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ‘สุนทรียาผ้าปัก’ กล่าวว่า ได้นำความรู้ที่ได้จากโครงการพะเยา Learning City ถ่ายทอดไปสู่คนอื่น ๆ ในชุมชน และขยายแนวทางในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กพิเศษ และผู้สูงอายุ ความสำเร็จของโครงการไม่เพียงทำให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มสมาชิกและเกิดการสร้างรายได้เท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ กลุ่มเด็กพิเศษที่มาฝึกเย็บผ้า ได้เรียนรู้ถึงความวิริยะอุตสาหะ จนสามารถทำได้สำเร็จและนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ เปลี่ยนจากเด็กที่ไม่พูดคุยกับใคร ให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำและมีรอยยิ้มให้กับความสำเร็จที่แต่ละคนมีส่วนสร้างขึ้น

ทั้งนี้ UNESCO ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City มานานกว่าทศวรรษ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ UNESCO Global Network of Learning Cities ขึ้น โดยมีเมืองต่าง ๆ กว่า 290 แห่ง จาก 76 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก ส่วนประเทศไทยมี 7 เมืองที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ จังหวัดพะเยา เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดสุโขทัย เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครเชียงใหม่