5 หน่วยงานจับมือ กสศ. ขยาย “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สู่ต้นแบบการศึกษาสำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมระดับจังหวัด ส่งเสริมศักยภาพสู่การเป็นกำลังคนคุณภาพ

5 หน่วยงานจับมือ กสศ. ขยาย “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” สู่ต้นแบบการศึกษาสำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมระดับจังหวัด ส่งเสริมศักยภาพสู่การเป็นกำลังคนคุณภาพ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 5 หน่วยงานภาคีในจังหวัดพังงา เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพสำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระดับจังหวัด โดยมีหน่วยงานร่วมลงนาม ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงา, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงา (ตะกั่วป่า), ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนพังงา, สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพังงา และวิทยาลัยเทคนิคพังงา พิธีลงนามจัดขึ้น ณ วิทยาลัยเทคนิคพังงา โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และคณะทำงานจากทุกหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมรับฟังที่มาและเป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้

ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการติดตามเยาวชนในความดูแลของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งมีกรณีตัวอย่างของเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนพังงา ที่ได้รับทุนการศึกษา “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และวิทยาลัยเทคนิคพังงา โดยเยาวชนคนดังกล่าวสามารถจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และศึกษาต่อเนื่องในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขานวัตกรรมการจัดการท่องเที่ยวสุขภาพและความงาม ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ปีที่ 2

กรณีตัวอย่างนี้นำไปสู่การถอดบทเรียนและวิเคราะห์ร่วมกันในระดับคณะทำงานศาลเยาวชนฯ ซึ่งเห็นถึงโอกาสในการขยายผลความร่วมมือเชิงระบบระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกับหน่วยงานด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เคยหลุดจากระบบการศึกษา แต่มีความพร้อมและตั้งใจ ได้เข้ารับการพัฒนาทักษะในระบบการศึกษาสายอาชีพ อันเป็นก้าวสำคัญในการคืนโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมเยาวชนให้เติบโตเป็นกำลังคนคุณภาพของสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี   

คุณธราดล พินิจสัจจธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงา กล่าวว่า จากผลการสำรวจการดูแลเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พบว่าเยาวชนจำนวนไม่น้อยยังขาดโอกาสทางการศึกษา และไม่ได้รับแรงสนับสนุนที่เพียงพอจากครอบครัวและชุมชน ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ ขาดทักษะในการประกอบอาชีพ และไม่สามารถมีงานที่มั่นคงได้ในระยะยาว

ขณะเดียวกัน การติดตามผลลัพธ์จากการฟื้นฟูและดูแลเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ทำให้พบกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษา โดยเยาวชนรายหนึ่งจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนพังงา ได้รับโอกาสทางการศึกษาใน “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และวิทยาลัยเทคนิคพังงา จนสามารถจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และก้าวต่อไปสู่การศึกษาระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมั่นคง

กรณีศึกษานี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นร่วมกันว่า หากมีความร่วมมือระหว่างภาคีในหลากหลายมิติ ก็สามารถขยายผลแนวทางเดียวกันนี้ออกไปในวงกว้างได้อย่างเป็นรูปธรรม การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโมเดลสร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาทักษะชีวิต และการฟื้นฟูศักยภาพของเยาวชนที่เคยก้าวพลาด ให้สามารถกลับคืนสู่การเป็นพลเมืองคุณภาพของสังคม

ธราดล พินิจสัจจธรรม

“ภาคีทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่า การศึกษาไม่ควรถูกจำกัดขอบเขตอยู่เพียงภายในห้องเรียน แต่ต้องหมายรวมถึงการสร้างโอกาสที่ยืดหยุ่น การมอบทางเลือกที่เหมาะสม และส่งต่อความเชื่อมั่นและความหวังให้กับเยาวชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง

“ข้อตกลงความร่วมมือที่ภาคีทุกฝ่ายร่วมลงนามในวันนี้ จึงเป็นคำมั่นว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันสร้างทางเลือกใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของเยาวชนคนหนึ่ง ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต เพราะเด็กและเยาวชนทุกคนในวันนี้ คือทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่ออนาคตของประเทศ” 

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุงกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพสำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระดับจังหวัดนี้ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของศาลฯ ในการส่งเสริมมาตรการฟื้นฟูและสร้างโอกาสให้เยาวชนสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงของการกระทำผิดซ้ำ และนำไปสู่ทางเลือกในการมีชีวิตใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเมื่อเยาวชนกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ ครอบครัว ชุมชน และสังคม จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.  มีประเด็นสำคัญ 3 ประการที่อยากชวนทุกฝ่ายพิจารณา ประการแรก ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลลัพธ์ที่ต่อยอดจาก “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ซึ่งริเริ่มขึ้นภายใต้แนวคิดในการดูแลเด็กและเยาวชนที่ต้องการโอกาสทางการศึกษา แต่เผชิญอุปสรรคหลากหลาย ทั้งจากสภาพแวดล้อม ครอบครัว หรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ โดย กสศ. มีความเชื่อว่า “การเรียนรู้ไม่ควรไม่ควรมีข้อจำกัด” จึงได้เริ่มต้นดำเนินโครงการนี้ ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาและสถานประกอบการ เพื่อช่วยกันทลายข้อจำกัด และพาเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสเข้าสู่ระบบการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้สร้างตัวอย่างความสำเร็จของนักศึกษาหลายรุ่นที่จบการศึกษา และสามารถพัฒนาตนเองจนกลายเป็นกำลังคนคุณภาพในสายอาชีพได้จริง

ประการที่สอง คือการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเห็นพ้องร่วมกันว่า โมเดลจากศูนย์ฝึกฯ สามารถต่อยอดให้เกิดระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น สำหรับเยาวชนที่อยู่ในความดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เรามีตัวอย่างของนักศึกษาทุนจากวิทยาลัยเทคนิคพังงา ซึ่งได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากคณะทำงานในกระบวนการยุติธรรม และจากสถาบันอาชีวศึกษา จนเกิดระบบดูแลช่วยเหลือที่นำไปสู่ความสำเร็จของนักศึกษาได้จริง”

ประการสุดท้าย ผู้ช่วยผู้จัดการ กล่าวว่า เมื่อเกิดตัวแบบการทำงานของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงร่วมกับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมขึ้นแล้ว กสศ. มองเห็นโอกาสในการยกระดับงานไปอีกขั้น โดยนำบทเรียนที่ได้ไปหารือร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานด้านนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนขยายรูปแบบการทำงานไปสู่ระดับที่กว้างขึ้น โดยมีความคาดหวังว่า “การศึกษาที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิตและความสนใจ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปิดโอกาสให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทั่วประเทศ สามารถเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนเองได้ในอนาคต”

ประทิน เลี่ยนจำรูญ

อาจารย์ประทิน เลี่ยนจำรูญ หัวหน้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า ความร่วมมือกับ กสศ. ใน “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ได้เปิดโอกาสทางการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ให้แก่เยาวชนที่มีศักยภาพแต่ขาดโอกาส โดยวิทยาลัยเทคนิคพังงาได้ผลิตนักศึกษาในโครงการนี้มาแล้วหลายรุ่น

ต่อมา วิทยาลัยได้ขยายผลโครงการ โดยมุ่งส่งต่อโอกาสการศึกษาไปยังเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีและเห็นผลชัดเจนจากกรณีของนักศึกษาทุนรายหนึ่งที่สามารถเรียนต่อเนื่องจากระดับ ปวช. สู่ ปวส. ได้สำเร็จ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการจัดทำกรอบแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งด้านหลักสูตร ระบบดูแลนักศึกษาทุน อุปกรณ์การเรียน หอพัก ครูที่ปรึกษา รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคี

นอกจากนี้ วิทยาลัยยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม อาทิ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เข้ามาร่วมดูแลทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการคัดกรองความเสี่ยงต่าง ๆ แนวทางนี้เริ่มต้นจากนักศึกษาทุนคนแรกในกลุ่มเยาวชนกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีนักจิตวิทยาจากศูนย์ฝึกฯ ดูแลอย่างใกล้ชิด มีการรับ–ส่งโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมทีมสาธารณสุขติดตามร่วมด้วยทุกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย และแบบแผนการดูแลเช่นนี้ได้กลายเป็น “ต้นแบบ” ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายโอกาสให้เยาวชนกลุ่มเดียวกัน โดยเปิดรับในสาขาวิชาการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) และสาขาวิชานวัตกรรมการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม

อาจารย์ประทินกล่าวถึงหัวใจของการดำเนินงานว่า โครงการนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า หากสามารถพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเยาวชนจำนวนมากให้มีการศึกษา มีอาชีพ และมีอนาคตที่ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับการเปิดโอกาสให้คนคนหนึ่งสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ในระยะยาว อีกทั้งยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนอื่นในสถานการณ์ใกล้เคียง หันกลับมาให้ความสำคัญกับการศึกษาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมี “กุญแจสำคัญ” ที่อาจารย์ประทินเน้นย้ำ คือการ “เติมเต็มสิ่งที่ขาด” ในจิตใจของเด็ก เพื่อให้เขามองเห็นคุณค่าของตนเอง และเชื่อมั่นว่าตนสามารถเรียนรู้และประคองตัวจนจบการศึกษาได้

“สำหรับคณะทำงานทุกฝ่าย เราต้องไม่ลืมว่า เด็กกลุ่มนี้เขาต้องการการดูแลเอาใจใส่ ต้องการคนที่รับฟังและเป็นที่พึ่ง เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาด และนี่คือเรื่องสำคัญก่อนที่จะก้าวไปสู่การเรียนรู้อย่างมั่นใจ ดังนั้นนอกจากการเรียนรู้และการฝึกทักษะอาชีพ เราจำเป็นต้องมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กซึมซับถึงการยอมรับ ได้คุ้นเคยกับการเข้าสังคม แล้วสิ่งเหล่านี้จะช่วยขัดเกลาส่วนเกิน เติมเต็มส่วนขาด และเป็นจุดเปลี่ยนของทัศนคติที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนมีที่เหยียบยืน มีแรงขับ มีเป้าหมายในชีวิต และเชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้”