สปสช. ร่วมมือ กสศ. นำร่องตรวจวัดตัดแว่นตา เตรียมขยายโมเดลทั่วประเทศแก้อุปสรรคการเรียนรู้

สปสช. ร่วมมือ กสศ. นำร่องตรวจวัดตัดแว่นตา เตรียมขยายโมเดลทั่วประเทศแก้อุปสรรคการเรียนรู้

สปสช. ร่วมกับ กสศ. สร้างหลักประกันสุขภาพสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดโลกการมองเห็นเพิ่มคุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มเปราะบาง นำร่องตรวจวัดการมองเห็นและตัดแว่นสายตาบ้านเด็กราชาวดี เตรียมขยายโมเดลแก้อุปสรรคการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านการชี้เป้าพื้นที่จาก กสศ. 

10 ส.ค. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงพื้นที่ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)  ออกหน่วยให้บริการตรวจวัดการมองเห็นและตัดแว่นสายตาให้กับเด็กในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) จังหวัดนนทบุรี เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้

คุณณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในฐานะผู้แทนกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ที่ผ่านมา กสศ. ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สปสช. เพื่อเดินหน้าแก้ปมปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการช่วยให้เด็กยากจนพิเศษและกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงสวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพควบคู่กับหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

“ตั้งแต่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันจนถึงวันนี้ กสศ. ได้เดินหน้าภารกิจส่งเสริมหลักประกันสุขภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับ สปสช. มาอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้เป็นการลงพื้นที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ มาตรวจวัดสายตาให้กับเด็ก ๆ และให้บริการตัดแว่นตาเพื่อแก้อุปสรรคทางการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ตรวจพบว่ามีปัญหาสายตา”

คุณณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในฐานะผู้แทนกรรมการบริหาร กสศ.

คุณณฐอร กล่าวต่อไปว่า การตรวจคัดกรองสายตาเด็กบ้านราชาวดี (ชาย) ทำให้ได้รับข้อมูลที่สอดคล้องกับการทำงานที่ผ่านมาของ กสศ. ซึ่งพบว่าปัญหาสุขภาพทางสายตาเป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่มีผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ โดยในโครงการวิจัยผลการจัดสรรความช่วยเหลือเพื่อลดปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนนำร่องจังหวัดเชียงราย ของ กสศ. พบว่ากลุ่มเด็กยากจนพิเศษ มีปัญหาสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้จําแนกได้เป็น 8 กลุ่ม คือ 1) การมองเห็น 2) การได้ยิน 3) ช่องปาก 4) ผิวหนัง 5) ทางเดินอาหาร 6) โภชนาการ 7) การเคลื่อนไหว และ 8) สุขอนามัย ซึ่งนักเรียนหนึ่งคนอาจพบปัญหาสุขภาพมากกว่า 1 ปัญหา อย่างเด็ก ๆ บ้านราชาวดี (ชาย) นอกจากจะพบปัญหาความพิการกว่า 500 คน ยังพบว่ากว่า 40 คน มีปัญหาเรื่องการมองเห็นร่วมด้วยส่งผลต่อการเรียนรู้และมองเห็น

“การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หากได้รับการส่งเสริมในมิติคุณภาพการเรียนรู้เข้าไปด้วย จะช่วยให้การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเดินหน้าได้อีกระดับ ครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่จะทำให้เด็กสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) ได้รับแว่นตา เพื่อส่งเสริมให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะช่วยให้สามารถอ่านหนังสือหรือไปเรียนได้ ถือเป็นการหนุนเสริมให้มีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กมีความสามารถในการเรียนหนังสือเพิ่มขึ้น  ในส่วนของสถานคุ้มครองฯ ไม่มีงบประมาณในการซื้อแว่น เราจึงใช้การประสานเครือข่ายความร่วมมือกันจัดบริการทีมแพทย์ เครื่องมือ และงบประมาณเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานี้”

ด้าน ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการทำงานของ สปสช. ว่า มีภารกิจในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐาน โดยปีงบประมาณ 2565 สปสช. มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงสิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กตั้งแต่ 3 – 12 ขวบ ที่มีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติให้สามารถเข้าถึงบริการแว่นสายตา

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช.

การลงพื้นที่ออกหน่วยให้บริการตรวจคัดกรองสายตาเด็กบ้านราชาวดี (ชาย) จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่ไม่สะดวกเดินทางไปรับบริการตามสถานพยาบาลได้ สปสช. จึงประสานงานกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ซึ่งมีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาเด็กเข้ามาให้บริการ การออกหน่วยบริการในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ สปสช. กับ กสศ. และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จะขยายโมเดลการให้บริการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ให้เด็กทุกคนได้รับบริการอย่างทั่วถึงด้วย

“การมีแว่นตาทำให้เด็ก ๆ มองโลกชัดขึ้น อย่างพวกเราเป็นผู้ใหญ่ทำไมต้องใส่แว่น เพราะเรามองไม่ชัด พอมองไม่ชัดเราจะรู้สึกไม่มีความสุข คุณภาพชีวิตเราแย่ไปเลย เชื่อว่าลักษณะนี้เป็นกับเด็กเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเด็กพูดไม่ได้เยอะ ผู้ใหญ่อาจจะส่งเสียงได้ แต่ว่าเด็กเข้าไม่ถึงเลยมองว่าตรงนี้ผู้ใหญ่ควรเข้ามาช่วยทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้โลกกว้าง สายตาที่มองเห็นเขาจะเห็นโลกในแบบต่าง ๆ  และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ รับรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการศึกษา เราเชื่อว่าเด็กทุกคนควรจะเห็นสิ่งแวดล้อมรอบข้างเขา เรียนรู้และปรับตัวไปกับสิ่งแวดล้อม”

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจาก สปสช. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสศ. ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ กสศ. ว่ามีเด็กเข้าไม่ถึงบริการตรวจวัดสายตาและตัดแว่นอยู่ที่ไหนบ้าง มีการจัดกระบวนการแนะแนวคุณครูในการช่วยตรวจคัดกรองสายตาเด็กเบื้องต้น ส่วนในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการขยายโมเดลให้บริการไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดย กสศ. จะเป็นหน่วยงานช่วยชี้เป้าหมายพื้นที่ เช่น โรงเรียนหรือสถานดูแลเด็ก จากนั้น สปสช. เขตพื้นที่จะประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในฝั่งผู้ให้บริการ เพื่อให้เด็กและจักษุแพทย์ได้เจอกัน ซึ่งจะทำงานร่วมกันในลักษณะพื้นที่นำร่องก่อนขยายโมเดลทั่วประเทศต่อไป

ขณะที่ นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ในทางการแพทย์การสร้างเสริมพัฒนาการเด็กควรมีการตรวจวัดสายตาต่อเนื่องทุก 1- 2 ปี ดังนั้น การให้บริการตรวจวัดสายตาและตัดแว่นตาควรเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กำลังพัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจวัดสายตาและได้รับแว่นตาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านการทำงานร่วมกับ สปสช. และ กสศ.

นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ
โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)

“ต่างประเทศมีงานวิจัยศึกษาอย่างชัดเจนว่า การส่งเสริมให้ผู้มีความผิดปกติทางด้านสายตาได้รับบริการแว่นตาโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก จะทำให้สังคมมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในระยะยาว ลดปัญหาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การศึกษา อุบัติเหตุบนท้องถนน ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ยิ่งไปกว่านั้นในเด็กที่สายตาผิดปกติบางคน ถ้าเกิดว่าค่าสายตาสองข้างต่างกันมาก เขาจะเลือกใช้ข้างที่ดีกว่า และอีกข้างหนึ่งจะถูกลดการใช้งานลงเพราะสมองตัดการใช้งานอัตโนมัติ หากเราไม่รีบสังเกตหรือตรวจวัดสายตา ตาข้างที่ไม่ค่อยได้ใช้งานจะมีภาวะที่เรียกตาขี้เกียจ ถ้ามาตรวจพบตอนอายุสิบกว่าขวบแล้ว ถึงตอนนั้นเอาแว่นไปใส่ให้เขาก็แก้ไขไม่ได้แล้ว ตาเขาจะเบลอแบบนี้จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ จะเสียโอกาสไปทั้งชีวิต”