กสศ. จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศแสดงความยินดี ‘นศ.ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 2,154 คน’
สำเร็จการศึกษา การันตีคุณภาพ 50% ได้งานทำทันที 30% เรียนต่อ 13% เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

กสศ. จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศแสดงความยินดี ‘นศ.ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 2,154 คน’

เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” พร้อมกัน 8 พื้นที่ผ่านรูปแบบ Onsite และ Online จากเวทีกลาง ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เวทีจังหวัดเชียงใหม่ เวทีจังหวัดนครราชสีมา เวทีจังหวัดชลบุรี เวทีจังหวัดสงขลา เวทีจังหวัดอุบลราชธานี เวทีจังหวัดขอนแก่น และเวทีจังหวัดพิษณุโลก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่สำเร็จการศึกษาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของครู อาจารย์ ผู้บริหารจากสถานศึกษาสายอาชีพ ตัวแทนว่าที่นายจ้างจากสถานประกอบการต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ กสศ. ร่วมกันพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมโอกาสการมีงานทำให้กับนักศึกษาทุนหลังสำเร็จการศึกษา

กิจกรรมปัจฉิมนิเทศปีนี้ มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 2,154 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพ 62 แห่งใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นนักศึกษาทุนในภาคเหนือ 488 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 850 คน ภาคกลาง 324 คน ภาคตะวันออก 190 คน และภาคใต้ 302 คน เป็นปีแรกของนักศึกษาที่ได้รับทุน 5 ปี รุ่นที่ 1 สำเร็จการศึกษา

ผู้สำเร็จการศึกษาปีนี้ การันตีคุณภาพการศึกษา 50% ได้งานทำในตลาดสายอาชีพทันที ขณะที่ 30% เลือกศึกษาต่อ และ 13% เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นับเป็นความสำเร็จในการส่งเสริมให้เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับโอกาสทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่ได้เรียนจบสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ สู่การมีอาชีพพาครอบครัวหลุดพ้นความยากจน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษา และขอบคุณผู้บริหาร ครู และอาจารย์สถานศึกษาสายอาชีพทั้ง 62 แห่ง ที่ทุ่มเทในการบ่มเพาะดูแล พัฒนาทักษะผ่านการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขาสายอาชีพที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) สาขาที่มีความต้องการในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่สถาบันการศึกษาตั้งอยู่ และสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM)

“น้อง ๆ คือรุ่นแรกของครัวเรือนที่ไปไกลกว่าการศึกษาภาคบังคับ สิ่งที่เกิดขึ้นกับน้อง ๆ ถือเป็นหลักกิโลเมตรสำคัญของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหากับดักความยากจนข้ามรุ่น น้อง ๆ คือกลุ่มคนที่มีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและไม่ต้องส่งต่อสถานะดังกล่าวนี้ไปยังรุ่นลูกอีกต่อไป วันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการช่วยประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

“สิ่งที่อยากจะฝากเพิ่มเติมก็คือ ในฐานะที่แต่ละคนเคยผ่านเส้นทางความยากจน ผ่านความท้าทายในชีวิตมาแล้ว ปัจจุบันยังมีเด็กเยาวชนไทยอีกนับแสนนับล้านคนที่ยังอยู่ในภาวะความไม่แน่นอนทางโอกาสและอนาคต หากมีโอกาสอย่าลืมให้โอกาสกับคนรุ่นต่อไป ขอให้คืนโอกาสเหล่านี้กลับแก่สังคมด้วย”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงทำงานอย่างใกล้ชิดกับโครงการหนุนเสริมจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพราะ กสศ. เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทีมหนุนเสริมจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้อง ๆ มีความรู้นอกเหนือจากที่ได้รับจากห้องเรียน และสิ่งที่ได้เรียนรู้จะช่วยให้มีงานทำเร็วขึ้น เป็นหัวใจหลักของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“ท้ายที่สุด ขอให้ทุกคนไม่ยุติการเรียนรู้ การศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่สิ้นสุดไปกับการสอบวิชาสุดท้าย ไม่ได้สิ้นสุดกับการรับปริญญาหรือไม่สิ้นสุดไปกับงานปัจฉิมนิเทศ ทุกคนจะต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก การมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ การมีเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติอย่างเช่นออโตเมชั่นต่าง ๆ คือความท้าทายการปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงอยากฝากว่าอย่าหยุดการพัฒนาตัวเอง การมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่อยู่คู่ตัวเองตลอดไปคือภูมิคุ้มกันที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะช่วยให้มีการงานที่ดีและประสบความสำเร็จในการทำงานในอนาคต”

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

กิจกรรมปัจฉิมนิเทศ “สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ปีนี้ได้รับเกียรติจาก นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง “ไอ้เพ้ง: จากลูกจับกัง สู่รัฐมนตรี” มาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนชีวิตและส่งแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ คือการตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคซึ่งอาจจะพบเจออีกมากมายในวันข้างหน้า อยากให้ทุกคนพยายามเรียนรู้ทุกอย่างที่จำเป็นต่ออาชีพการงาน และเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ความรู้คือสิ่งสำคัญและจะอยู่ติดตัวเราตลอดชีวิต บางทีเราอาจจะต้องยอมทำงานหนัก เพื่อหาความรู้และสร้างเครดิตจากสังคมที่อยู่แวดล้อมตัวเรา และต้องไม่ลืมว่าความซื่อสัตย์จะทำให้เรามีต้นทุนชีวิตในด้านความไว้เนื้อเชื่อใจ ในการทำงานอย่ากลัวว่าตัวเองไม่มีต้นทุน ทุกอย่างเริ่มต้นจากพลังความคิดที่เราแต่ละคนมีอยู่และสร้างขึ้นได้ ให้ตระหนักว่าเราสามารถที่จะใช้ความรู้ที่มีและกำลังจะพบเจอจากการทำงานในวันข้างหน้ามาสร้างอนาคต และพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไขสร้างสิ่งที่ดีกว่าอยู่ตลอดเวลา เพราะนี่คือกุญแจของความสำเร็จในยุคนี้ และสุดท้ายอยากฝากคำคมของสตีฟ จ็อบส์ ที่บอกว่าจงกระหายและทำตัวให้โง่ตลอดเวลา เพราะเมื่อใดที่คุณคิดว่าคุณเก่งแล้ว คุณจะหยุดพัฒนาตนเอง” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

สรชา ธีระกุลพิศุทธิ์

สรชา ธีระกุลพิศุทธิ์ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 ภาควิชาดนตรีไทย จากโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า  หลังจากเรียนจบจะนำความรู้ความสามารถด้านดนตรีไทยและบทบาทในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ กสศ. ไปถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไป และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของไทย โดยหลังจากเรียนจบในระดับ ปวส. ก็มีโอกาสได้รับจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำหรับเดินทางไปเรียนไวโอลีนไฟฟ้าที่ประเทศจีน

นูรกัสมี สะมะแอ

นูรกัสมี สะมะแอ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 2 ภาควิชาระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า เพราะแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาต่อจึงเคยคิดที่จะหยุดเรียนเพื่อไปหางานทำและเก็บเงินเพื่อเรียนต่อ แต่เมื่อมีโอกาสได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง แม้จะไม่เคยได้เรียนสายอาชีพมาก่อน ก็ใช้โอกาสในการทุ่มเทการเรียนรู้อย่างเต็มที่

“หนูรู้สึกว่าต้องมีความตั้งใจแล้วก็มีความพยายามมากขึ้น จึงใช้เวลาว่างในการทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ เพราะคิดว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่ามาก ทำให้หนูต้องตั้งใจเรียน ขอขอบคุณทาง กสศ. ที่ทำให้มีโอกาสได้พัฒนาตัวเอง ทำให้รู้ว่าหนูไม่ได้สู้อยู่ตัวคนเดียว ยังมีครอบครัว อาจารย์ เพื่อน ๆ และพี่ ๆ กสศ. ทุกคนที่กำลังรอดูความสำเร็จของหนูอยู่ หนูหวังว่าความรู้ที่ได้จากการเรียน ความพยายามและความตั้งใจที่มี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ได้รับ คือสิ่งที่อยากส่งต่อให้กับน้อง ๆ ที่สมควรที่จะได้รับโอกาสนี้บ้าง”

ปิยวัตร เปี่ยมผล

ปิยวัตร เปี่ยมผล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่ 4 สาขาระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ก่อนที่จะได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ไม่เคยมองออกเลยว่าในอนาคตจะทำอาชีพอะไรเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว แต่เมื่อได้รับทุนก็เริ่มมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และเริ่มนำความสามารถด้านอื่น ๆ ที่มีมาปรับใช้กับชีวิต

“ตอนเด็ก ๆ ผมเคยเรียนภาษาจีนกับอาม่า และพูดภาษาจีนจนคล่อง จนถึงตอนนี้ ผมกล้าที่จะใช้ความสามารถที่มีมาต่อยอดสร้างโอกาสในชีวิต จนได้รับทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศถึง 3 เดือน และทำให้มีความสามารถด้านภาษาจีนเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาด้านอาชีพการงานในอนาคตอีกด้วย ผมมั่นใจว่า ความสามารถที่ได้รับจากโอกาสที่ได้เรียนสูงขึ้นจนจบ จะถูกนำไปช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งกองทุนที่หากต้องการความช่วยเหลือจากความสามารถด้านภาษาที่มีผมก็ยินดี”  เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่สำเร็จการศึกษาปีนี้