ติดตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ มติ ครม.เพิ่มค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน สอดคล้องกับข้อเสนอของ กสศ.

ติดตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ มติ ครม.เพิ่มค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน สอดคล้องกับข้อเสนอของ กสศ.

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านงบประมาณค่าอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการให้นักเรียนได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการ  ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ของเด็กๆ ซึ่งถือเป็น หนึ่งในมาตรการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection in Education System) ที่สำคัญ 

ทั้งนี้ กสศ. ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรี ใน 2 ครั้ง ดังนี้ 

  1. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 กสศ. ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า จากข้อมูลค่าเฉลี่ยต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันที่มีความแตกต่างกันของขนาดโรงเรียน และโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนเฉลี่ยที่สูงกว่าโรงเรียนกลุ่มอื่นมาก จึงเห็นควรให้การบริหารงบประมาณค่าอาหารกลางวันไปยังโรงเรียนควรสอดคล้องตามต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียนประกอบด้วย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรของแต่ละสถานศึกษา
  2. เมื่อวันที่  6 ตุลาคม 2565  กสศ. ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามขนาดของโรงเรียน ตามที่ ศธ. ได้ปรับปรุงข้อเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กสศ. เดิมที่ได้เสนอให้การบริหารงบประมาณค่าอาหารกลางวันไปยังโรงเรียนควรสอดคล้องตามภาวะเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียนประกอบด้วย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรของแต่ละสถานศึกษาในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม กสศ. ยังได้เสนอให้ ศธ. พิจารณาขยายการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนให้ครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นพื้นฐานด้านโภชนาการที่รัฐบาลและโรงเรียนควรจัดสรรให้นักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ อาจพิจารณาระดมความร่วมมือและทรัพยากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันสมทบเพิ่มเติม เช่นเดียวกับรูปแบบของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนประเภทขยายโอกาสทางการศึกษาที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและนักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส  ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับจัดสรรค่าอาหารกลางวันจากรัฐบาล รวมทั้งพิจารณาสนับสนุนค่าอาหารเช้าให้แก่นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จำนวนประมาณราว 1.8 ล้านคน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทุกสังกัดที่ส่วนใหญ่มาเรียนโดยไม่ได้รับประทานอาหารเช้าเนื่องจากครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางการเรียนรู้ที่สมวัย เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา 

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565   ได้มีมติอนุมัติการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ  ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยจะได้รับงบประมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการงบประมาณทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่จะสามารถดำเนินงานภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรได้ โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามความเห็นสำนักงบประมาณ กล่าวคือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวันของนักเรียนปรับมาใช้อัตราดังกล่าวด้วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และบริหารจัดการให้สอดคล้องกับขนาดของโรงเรียนและจำนวนนักเรียนในขั้นตอนการบริหารงบประมาณอย่างเหมาะสมด้วย  

สำหรับมติ ครม. ที่ได้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวัน ได้ปรับอัตราให้ตามขนาดของโรงเรียนต่อคนต่อวัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาท/คน/วัน
  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 27 บาท/คน/วัน
  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 24 บาท/คน/วัน
  • โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 22 บาท/คน/วัน
  • โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นเงิน 3,533,280,000 บาท ซึ่งจะเริ่มใช้ในการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,365,864,000 บาท

เป้าหมายของอัตราค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน จะเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 5 สังกัด ได้แก่ 1) โรงเรียนสังกัด สพฐ. 2) โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) โรงเรียนสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน 4) สถานศึกษาสังกัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 5) สถานศึกษาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ครอบคลุมนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 5,792,119 คน

ทั้งนี้ ครม.ยังมีมติเพิ่มเติมสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำงบประมาณที่มีมาเป็นค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ หากไม่เพียงพอให้ขอรับการสนับสนุนตามระเบียบสำนักงบประมาณ โดย ศธ.จะหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางให้นักเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ โดยเร็วที่สุด