กสศ. จับมือ 5 หน่วยจัดการศึกษา สนับสนุนทุนเพิ่มเติมให้นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ เดินหน้าระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาไร้รอยต่อ

กสศ. จับมือ 5 หน่วยจัดการศึกษา สนับสนุนทุนเพิ่มเติมให้นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ เดินหน้าระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาไร้รอยต่อ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับหน่วยจัดการศึกษา 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ดำเนินการจัดสรรทุนเพิ่มเติมให้กับนักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) สำหรับแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนจากครัวยากจนพิเศษ โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการไม่ศึกษาต่อมากที่สุด ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น 

การดำเนินงานดังกล่าว เป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน ส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และมีพัฒนาการสอดคล้องตามความถนัดและความต้องการตามศักยภาพเป็นรายบุคคล

นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กล่าวว่า จากการดําเนินงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนได้รับการจัดสรรทุนเสมอภาคทั้งสิ้น 1,301,366 คน พบว่าร้อยละ 95.45 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา ขณะที่ร้อยละ 4.55 ไม่พบว่ามีการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยในกลุ่มที่ไม่พบการศึกษาต่อส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 4.04 เป็นนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อระดับอนุบาล 3, ป.6 และ ม.3 และจากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปีการศึกษา 2565 โดย กสศ. พบว่าครัวเรือนของนักเรียนทุนเสมอภาคมีรายได้เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 1,044 บาท/เดือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ และโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการ
สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

“การดําเนินงานระยะที่ผ่านมา กสศ. ได้สนับสนุนข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคที่ไม่พบรายงานการศึกษาต่อ และนักเรียนกลุ่มเสี่ยงให้หน่วยงานจัดการศึกษาต้นสังกัด เพื่อตรวจสอบสถานะการคงอยู่ในระบบการศึกษา และดำเนินการค้นหา ติดตาม ช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา โดยการดําเนินงานดังกล่าวมีกระทรวงศึกษาธิการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และประกาศเป็นนโยบายผ่านโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ‘พาน้องกลับมาเรียน’ พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 14 หน่วยงานในเดือนมกราคม 2565 ด้วยเป้าหมายลดจำนวนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์”

นางสาวกนิษฐา กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กสศ. ได้จัดสรรทุนเสมอภาคเพิ่มเติมในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ตามแนวทางการบันทึกข้อมูลแนวโน้มการศึกษาต่อของนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ ผ่านระบบสารสนเทศการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค หรือ CCT (Conditional Cash Transfer) เพื่อสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

“นักเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อที่ได้รับทุนเสมอภาคเพิ่มเติมมี 4 ระดับชั้น คืออนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 ใน 5 สังกัด และนักเรียนทุนเสมอภาคชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เฉพาะในสังกัด บช.ตชด. โดยจัดสรรทุนเพิ่มในอัตรา 800 บาทต่อคน เพื่อสนับสนุนค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายทางการศึกษา โดยสถานศึกษามีบทบาทในการช่วยสร้างความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง อาทิ เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมศึกษาต่อ ค่าสมัครเรียน และค่าเดินทางในการสมัครเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ และสนับสนุนให้สามารถไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นในปีการศึกษา 2566”

ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการความร่วมมือในการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มชั้นรอยต่อ กสศ. ได้ส่งต่อข้อมูลแนวโน้มการศึกษาต่อเบื้องต้นไปยังหน่วยงานต้นสังกัดภายใต้ความร่วมมือโครงการพาน้องกับมาเรียน เพื่อให้สถานศึกษามีฐานข้อมูลสำหรับติดตามแนวโน้มการศึกษาต่อภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 และช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อเพิ่มเติมได้ทันเวลา ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยเฝ้าระวังความเสี่ยงการหลุดออกจากระบบการศึกษาของกลุ่มชั้นรอยต่อแบบมีส่วนร่วม และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป