กสศ. – ภาคีเครือข่าย ระดมความเห็น หนุน “เด็กยากจนแม่ฮ่องสอน” เข้าเรียนด้านสาธารณสุขเพื่อเติมบุคลากรคืนท้องถิ่น ชู “หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น” เป็นทางเลือกช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้
ร่วมสร้างภาคีกลุ่ม “สานพลังคนแม่ฮ่องสอน” เพื่อร่วมกันปูทักษะทางอารมณ์และสังคม เสริมความเชื่อมั่น สร้างการศึกษาที่เป็นธรรมแก่เด็กด้อยโอกาส

กสศ. – ภาคีเครือข่าย ระดมความเห็น หนุน “เด็กยากจนแม่ฮ่องสอน” เข้าเรียนด้านสาธารณสุขเพื่อเติมบุคลากรคืนท้องถิ่น ชู “หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น” เป็นทางเลือกช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นได้

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDF) และ สำนักงานประสานนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) จัดเวทีสาธารณะระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนจำนวน 25 คน ในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมนักเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าเรียนสาขาด้านสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนท้องถิ่น หลังพบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่มาอย่างยาวนาน

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.). ได้ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ โดยยกตัวอย่างการทำงานของ กสศ. ในการส่งเสริมการศึกษาผ่านทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 10 แห่ง สนับสนุนให้นักเรียนยากจนด้อยโอกาสเข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น จัดการเรียนการสอนและให้ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนปฎิบัติงานได้ภายใน 1 ปี รวมถึงการทำโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งมีแนวคิดการผลิตครูที่ให้โอกาสนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครูได้เข้าเรียน เพื่อกลับไปเป็นครูในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงการเข้าไปหนุนเสริมด้านการเรียนรู้ภายใต้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP)โดยทำงานกับโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนยากจนด้อยโอกาสหนาแน่นให้มีคุณภาพ

“เชื่อว่าถ้าหากนำแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ ไปปรับใช้ในการทำงานเชิงหนุนเสริมภาคการศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่แม่ฮ่องสอนซึ่งมีบริบทพิเศษ มีเด็กยากจนด้อยโอกาสจำนวนมาก จะสามารถปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้เด็ก ๆ มีโอกาสเข้าถึงความเสมอภาคทางการศึกษาได้ จากนั้นการมุ่งพัฒนาทักษะทางอารมณ์สังคม เช่น แนวคิดเติบโต (Growth Mindset) ความมุ่งมั่น (Aspiration) ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มต่าง ๆ จะทำให้เกิดการยกระดับทุนมนุษย์ของประเทศในภาพรวมด้วย”

สอดคล้องกับความเห็น นางอ่อนศรี ศรีอัมพร อุปนายกสมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กล่าวถึงปัญหาของนักเรียนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวยากจนและกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่าเป็นกลุ่มปัญหาซับซ้อน ทั้งด้านเศรษฐกิจและความไม่พร้อมของโรงเรียนในการส่งเสริมวิชาการ ขาดต้นแบบด้านการเรียน และขาดทรัพยากรในการเข้าถึงองค์ความรู้ หากเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงใหม่ พบว่าผู้ปกครองและนักเรียนมีความตื่นตัวและกระตือรือร้นในการใช้เวลาเรียนพิเศษมากกว่า รวมถึงการขาดแคลนครูแนะแนวที่สามารถให้คำปรึกษาด้านการเรียนและสังคมแก่เด็ก ๆ ขณะที่ นายอรรถสิทธิ แสงจันทร์ สาธารณสุขอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เห็นตรงกันว่าการให้ข้อมูลเรื่องอาชีพในอนาคตและการเตรียมตัว ควรทำตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้นักเรียนค้นหาตัวตนและมีเป้าหมาย ดีกว่าเริ่มเมื่อใกล้เรียนจบ ม.ปลาย

ภายในงานมีการระบุข้อมูลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าเป็นพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขและการศึกษามาอย่างยาวนาน จากอัตราการขอย้ายออกจากพื้นที่หลังได้รับการบรรจุระยะหนึ่ง ในเวทีมีการเสนอแนวคิดสร้างคนท้องถิ่นเข้ามาทำงานเพื่อตัดวงจรการย้ายออกจากพื้นที่ ทำให้การพัฒนางานมีความต่อเนื่อง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวแม่ฮ่องสอนและสร้างความเสมอภาคในสังคม อย่างไรก็ตาม การสร้างระบบดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมและการทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน โรงเรียน สถาบันการศึกษา รวมถึงบทบาทของภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและนโยบายระดับชาติ

แพทย์หญิงทรรวรีก์ พิลัยเลศ กุมารแพทย์โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ กล่าวถึงบทบาทครอบครัวว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียนผ่านประสบการณ์ตนเองซึ่งตัดสินใจให้บุตรเรียนโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้มีโอกาสเลือกโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมองว่าความอบอุ่นใกล้ชิดของครอบครัวในวัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนด้านวิชาการมองว่าปัจจุบันสามารถหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ ได้

ด้าน นายกฤษฎา ประไพพานิช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ท้องถิ่นสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการจ้างงานและสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาได้ แต่ปัจจุบันงบประมาณด้านการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังถือว่ามีไม่มาก สอดคล้องกับความเห็น นายบัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ ประธานหอการค้าแม่ฮ่องสอน ที่เห็นว่าการลงทุนของเมืองสามารถสร้างงานในภาคบริการสาธารณสุขได้ เช่น การสร้างศูนย์สุขภาพ การสนับสนุนอาชีพในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลก

ขณะที่ นายอภิวัฒน์ ทองรุ่ง ครูแนะแนวโรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ เห็นว่าความสำคัญของทักษะด้านอารมณ์และสังคม ทักษะชีวิต ทักษะการคิดวิเคราะห์ การรู้จักตนเอง สำคัญไม่น้อยกว่าทักษะทางวิชาการ เนื่องจากนักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีกลุ่มชาติพันธุ์ หลายคนให้ความนับถือตนเองต่ำ (Low Self-Esteem) ทำให้ไม่มั่นใจในตนเองทั้งที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ ดร.อมราวสี อันพันศิริรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่ เห็นพ้องเรื่องนี้พร้อมยกตัวอย่างกรณีวิทยาลัยพยาบาลฯ สามารถช่วยหนุนเสริมนักศึกษาเมื่อเข้าสู่สถาบัน เช่น การใช้แนวทางพี่สอนน้องทำให้นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นใจในตนเอง หรือการยกตัวอย่างของผู้บริหารและผู้ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพที่มาจากพื้นฐานทางสังคมใกล้เคียงกัน

ช่วงท้ายของเวทีสาธารณะ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวสรุปการระดมความเห็นครั้งนี้ว่า ทุกฝ่ายต้องมีทัศนคติมองว่าการศึกษาสามารถยกระดับชีวิตได้ การออกแบบนโยบายต้องคำนึงถึงบริบทพื้นที่ อาจมีเงื่อนไขพิเศษบางอย่างให้คนพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาแต่ยังรักษามาตรฐานวิชาชีพ โดยมีข้อเสนอจากเวทีที่เห็นตรงกัน เรื่องการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน สานพลังหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่และภาคีเป็นลมใต้ปีกคอยช่วยสนับสนุน เชื่อมโยง 4 เรื่องเข้าด้วยกัน คือ 1. เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน 2. ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ 3. ระบบรับนักศึกษาและการผลิตบัณฑิตด้วยหลักสูตรที่เหมาะสม 4. การเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เพื่อให้ครบวงจรการผลิตทรัพยากรมนุษย์ โดยพิจารณาตามความแตกต่างของท้องถิ่น

ทั้งนี้ ในการเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเหลื่อมล้ำในสังคม ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอนเตรียมจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรออกไปทำงานสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น โดย กสศ. ยินดีสนับสนุนด้านการเตรียมความพร้อมนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน โดยเฉพาะกลุ่มยากจนด้อยโอกาสให้สามารถเข้าเรียนได้ ด้วยแนวคิดยกระดับการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based education) ต่อไป