ช่วยเด็กจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้บ้านเป็น Comfort Zone ประสบการณ์จาก “ราชบุรีโมเดล” ปกป้องเด็กหลุดระบบการศึกษา

ช่วยเด็กจากความรุนแรงในครอบครัว ทำให้บ้านเป็น Comfort Zone ประสบการณ์จาก “ราชบุรีโมเดล” ปกป้องเด็กหลุดระบบการศึกษา

ในห้องเช่าแคบ ๆ แห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานครมีแรงงานพม่านอนเบียดเสียดอยู่ 3-4 คน และหนึ่งในนั้นมีเด็กชายวัย 15 ปีคนหนึ่งที่หนีจากครอบครัวใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มาหลบซ่อนอยู่ เขามารับจ้างทำงานร้านอาหาร แต่เมื่อเสร็จงานแต่ละวันเด็กชายไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตนอกห้องสี่เหลี่ยมนี้ได้อย่างอิสระ เพราะแรงงานผิดกฎหมายอย่างเขามีโอกาสถูกจับกุมได้ทุกเมื่อ

ไม่ใช่เด็กชายเพียงคนเดียวที่หวั่นใจ ในอีกมุมหนึ่ง ‘ครูรุ่ง นาคอ้าย’ ครูประจำชั้นนักเรียน ป.5 โรงเรียนสินแร่สยาม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ก็ร้อนใจไม่ต่างกัน เพราะผู้ปกครองของเด็กชายคนหนึ่งในชั้นเรียน ระล่ำระลักมาขอความช่วยเหลือถึงโรงเรียนว่าลูกของเขาเก็บเสื้อผ้าหนีออกจากบ้านไปแล้ว

“ถ้าลูกผมไม่กลับมา ผมอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ครับ” ผู้เป็นพ่อบอกครูรุ่ง

เด็กชายคนนั้นชื่อ ต้น (นามสมมติ) แม้เรียนช้ากว่าเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนเดียวกัน จนทำให้เด็กชายวัย 15 ปีคนนี้เป็นพี่ใหญ่ของชั้น ป.5 ที่คอยดูแลน้อง ๆ และรับอาสาช่วยเหลืองานโรงเรียนจนเป็นที่รักของทุกคน แต่ความรักความห่วงใยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้าน

เพราะบ้านไม่ใช่ Comfort Zone เสมอไป

“พ่อจะบังคับให้เขาอยู่ในสิ่งที่พ่ออยากให้เป็นแบบเด็กผู้ชาย แต่น้องจะแสดงออกคล้ายเด็กหญิง มันก็ค้านกับสภาพจิตใจของเด็ก และเด็กก็ต่อต้านมาตลอด ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองจนต้องพยายามปกปิด แอบทำสิ่งที่เป็นตัวของตัวเองอยู่คนเดียว อยากจะแต่งหน้าก็ทำอยู่ในมุมของเขา” ครูรุ่งเล่าย้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจากการพยายามค้นหาคำตอบว่าทำไมเด็กชายอย่างน้องต้นหนีออกจากบ้าน

ครูรุ่งเล่าว่า เมื่อบ้านไม่ใช่สถานที่แสดงความเป็นตัวตนได้อย่างวางใจ น้องต้นจึงคบหากับเพื่อนนอกโรงเรียนที่อยู่ในวัยเดียวกัน และแสดงการประชดชีวิต เริ่มลองอบายมุขพร้อม ๆ กับเพื่อนในกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ในที่สุดน้องต้นกับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งหนีออกจากบ้าน โดยติดต่อนายหน้าจัดหาแรงงานในเมืองราชบุรี เดินทางเข้าไปหางานทำในกรุงเทพมหานคร โดยที่ไม่รู้ว่ต้องเจอกับอะไร แต่ที่แน่ๆ บ้านไม่ใช่ที่ๆ เขาจะหันหลังกลับไป

ครูรุ่ง นาคอ้าย ครูประจำชั้นนักเรียน ป.5
โรงเรียนสินแร่สยาม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

“เด็กคนนี้ยังอยู่ในระบบการศึกษา ยังเรียนไม่จบ ทางคุณเอาเด็กไปถือว่าผิด” ครูรุ่งโทรศัพท์ไปขู่นายหน้าจัดหาแรงงานผู้นั้น

“ถ้าคุณไม่นำตัวเด็กคนนี้กลับมา เราจะดำเนินคดีกับคุณด้วย”

พ่อตามหาลูกแทบพลิกแผ่นดิน ครั้นเจอตัวนายหน้าแต่ก็ไม่ยอมให้ความช่วยเหลือเพราะพ่อเป็นแรงงานพม่า ครูรุ่งรับพูดคุยให้ก็ยังไม่เป็นผล จนเมื่อติดต่อน้องต้นได้ ตัวเด็กก็ปฏิเสธที่จะกลับบ้านเช่นกัน

“คุณครูรู้ไหมครับว่าคุณพ่อทำรุนแรงกับผมเยอะ” น้องต้นพูดด้วยเสียงสั่นเครือ ก่อนวางสายโทรศัพท์

ข้อมูลจากมูลนิธิกระจกเงาระบุว่า ในห้วง10 ปีที่ผ่านมามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เกือบ 3,000 คนหายออกจากบ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ช่วงอายุ 10-15 ปี ที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว น้องต้นคือหนึ่งในนั้น จะมีหนทางใดที่จะพาเด็กคนนี้กลับบ้าน

เปิดหัวใจ นำทางกลับบ้าน

จะมีความหมายอะไรถ้าน้องต้นยอมกลับบ้าน ในเมื่อมันยังไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเขาอยู่ดี

“ครูทำข้อตกลงขอให้คุณพ่อปรับทัศนคติ ขอให้พยายามเปิดใจยอมรับพฤติกรรมของลูกตัวเอง ซึ่งจากการพูดคุยผู้ปกครองก็เข้าใจและตกลงว่าถ้าลูกเขากลับมาเขาจะไม่ทำแบบนี้แล้ว เขาจะไม่บังคับแบบนี้แล้ว คุณครูก็ย้ำอีกว่าขอให้เป็นความจริงอย่าแอบไปทำแบบนี้กับลูกอีก เพราะว่าถ้าเกิดขึ้นอีกลูกอาจจะหนีไปแล้วไม่ยอมกลับมา” ครูรุ่งเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ต้องทำ คือเป็นคนกลางเชื่อมให้พ่อลูกได้พูดคุยกัน เกลี้ยกล่อมทั้งพ่อให้เปิดใจ และเด็กให้เชื่อมั่น

“คุณครูก็โทรหาเด็กอีกวันหนึ่ง เด็กก็ยังร้องไห้และยืนยันว่าจะไม่กลับไปอีกแล้ว เขายังเชื่อว่าพ่อก็ต้องทำร้ายเขาเหมือนเดิม แต่ครูก็ย้ำให้เด็กเชื่อมั่นว่าคุณพ่อจะไม่ทำร้ายแล้ว คุณพ่อก็ต่อสายไปอีกแต่เด็กด้วยความกลัวเขาก็ไม่กล้าที่จะพูดกับผู้ปกครองมากเกินไป แต่พอผู้ปกครองย้ำว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมอีก ทีนี้เด็กเริ่มจะอ่อนลง” ครูรุ่งเล่าถึงบทสนทนาขณะประชุมสายโทรศัพท์เพื่อให้มีการพูดคุยระหว่างพ่อและลูก รวมทั้งครูรุ่งและครูด้านจิตวิทยาอีกคนร่วมพูดคุยด้วย

โอกาสสุดท้าย สร้างบ้านให้เข้มแข็ง

วันนั้น พ่อไปรอลูกกลับบ้านในเมืองราชบุรีแต่เช้า น้องกลับมาสู่อ้อมอกของครอบครัวอีกครั้ง นี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะสร้างบ้านให้เป็นที่พึ่งในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ทั้งครอบครัวและโรงเรียนจะต้องร่วมมือกัน ครูรุ่งยังคงติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ พยายามสอบถามเด็กว่ายังคงมีการทำร้ายร่างกายอยู่หรือไม่ รวมทั้งคอยให้คำแนะนำพ่อในการปรับตัวเข้าหาลูกให้มากขึ้น จนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของครอบครัว

“อย่างน้อยก็ได้ทำให้กับครอบครัวของเขา จากที่ได้ฟังความรู้สึกของคุณพ่อเขา เราดีใจที่เด็กได้กลับเข้ามาสู่ครอบครัวและเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไป เราภูมิใจว่าเด็กสามารถประคับประคองตัวเองได้ และท้ายที่สุดครอบครัวก็เข้าใจและให้ความอบอุ่นกับเด็กเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะไม่เต็มร้อยเหมือนกับสิ่งที่เขาเคยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับแม่ที่เมียนมาร์แต่เด็กก็มีความสบายใจมากขึ้น จนเด็กก็สามารถเรียนหนังสือจนจบการศึกษาออกไป”

“ราชบุรีโมเดล” กลไกป้องกันเด็กออกนอกระบบ

ภานุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม  สะท้อนว่าการแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ก็ต้องย้อนไปจัดการที่ต้นทาง ซึ่งเรื่องสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาคือหนึ่งในเหตุผลหลัก ซึ่งครูโรงเรียนสินแร่สยามได้ติดตามเด็กถึงบ้านเพื่อรับรู้ปัญหา ขณะที่ในช่วงปิดโรงเรียนด้วยสถานการณ์โรคระบาด มีเด็กหลายคนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน พอโรงเรียนเปิดครูก็ต้องไปตามกลับมาเรียน เข้าไปจัดการปัญหาดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก ๆ

“การติดตามใกล้ชิดทำให้เราส่งเด็กข้ามช่วงชั้นไปเรียนมัธยมได้ แม้ทางบ้านเขาจะส่งไม่ไหว ซึ่งสำหรับเราแล้วขอแค่เด็กมีใจอยากเรียน เราก็จะหาทางจัดการให้จนได้” ผ.อ.ภาณุพงศ์กล่าว

ภานุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม

นอกจากนี้โรงเรียนสินแร่สยามยังร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ อาทิ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ และโรงเรียนสวนผึ้งวิทยาในการส่งต่อเด็ก โดยหาโรงเรียนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่มเพื่อให้เรียนต่อจนจบโดยไม่หลุดออกมากลางคัน เพราะเด็กบางคนต้องการโรงเรียนที่เปิดพื้นที่ให้ค้นหาความสนใจและความถนัดในตนเองมากกว่าคร่ำเคร่งกับวิชาการ ไม่ว่าจะทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ คุณธรรม วินัย หรือศักยภาพความดีงามในตัวต่าง ๆ อีกทั้งโรงเรียนรุจิรพัฒน์ได้ทำ MOU กับสถาบันอาชีวะหลายแห่ง ซึ่งพร้อมรับเด็กเข้าเรียนต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และช่วยปูทางให้ไปต่อได้ในการทำงานสายอาชีพที่ตอบโจทย์กับเด็กกลุ่มนี้มากที่สุด

กลไกนี้ได้ส่งต่อมาเป็นภารกิจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) และ บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ รวมพลังคนทั้งประเทศเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย โดยปักหมุดแรกที่อำเภอสวนผึ้ง ด้วยเป้าหมายลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ กับ ‘ราชบุรีโมเดล’ ที่ใช้แนวทาง Area-based Education ประสานกลไกท้องถิ่น ระดมความร่วมมือค้นหาและช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส นำคนที่หลุดจากระบบการศึกษากลับมาเรียน ประคองกลุ่มเด็กเสี่ยงหลุดให้คงอยู่ในระบบได้ต่อไป

ซึ่งน้องต้นคือหนึ่งในเด็กที่เคยเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และถูกช่วยเหลือประคับประคองจนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ในปัจจุบันทางโรงเรียนสินแร่สยามได้ประสานต่อไปเรียนที่โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา และกำลังมีความสุขกับช่วงเวลาเปิดเทอมใหม่ ดังเช่นเด็กอีกหลายๆ คนที่กำลังตื่นเต้นกับโรงเรียนใหม่ของพวกเขา

“ก็บอกให้เขาตั้งใจเรียนเพราะว่าครูก็อยากมองดูความสำเร็จของเขา ถึงเขาอาจจะไม่ได้เรียนหนังสือเก่งมากแต่เขามีทักษะอาชีพจากการไปทำงานพิเศษระหว่างเรียน ซึ่งดูแลตัวเองได้ แล้วก็ต้องทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าภูมิใจในตัวเราด้วย สิ่งไหนที่มันพลาดพลั้งไปแล้วก็เป็นบทเรียนของเราไปแล้วกัน มีอะไรก็ปรึกษากลับมาหาคุณครูได้ คุณครูก็บอกเขาอย่างนี้ไป” ครูรุ่งกล่าวทิ้งท้ายด้วยความสุขในฐานะเรือลำหนึ่งที่พาน้องต้นข้ามไปอีกฝั่งได้สำเร็จ