กสศ. ร่วมเวที “สานพลังชุมชนท้องถิ่น” ปี 68 เสนอโมเดลชุมชนร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางการศึกษา หนุนทุกพื้นที่สร้างตาข่ายรองรับเด็กหลุดระบบ

กสศ. ร่วมเวที “สานพลังชุมชนท้องถิ่น” ปี 68 เสนอโมเดลชุมชนร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางการศึกษา หนุนทุกพื้นที่สร้างตาข่ายรองรับเด็กหลุดระบบ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมเวที “สานพลังชุมชนท้องถิ่น” ปี 2568 สร้างฐานรากชุมชนสู่การจัดการสุขภาวะอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดภายใต้หัวข้อ “การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเด็กและเยาวชนโดยชุมชนท้องถิ่น” ในห้องย่อยชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างคุณภาพเด็กเยาวชน ณ ห้องจูปิเตอร์ 6-7 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) กระทรวงสาธารณสุข 2) กระทรวงมหาดไทย 3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 7) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 8) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ 9) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พร้อมด้วยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม กว่า 3,000 คนทั่วประเทศ 

ดร.ไกรยส กล่าวในเวทีว่า กสศ. ให้ความสำคัญกับการทำงานกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยอ้างอิงกรอบคิดสากลจากองค์การยูเนสโกและยูนิเซฟ ซึ่งจัดกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงทั้งในและนอกระบบการศึกษาเป็น 7 มิติ

ข้อมูลจาก กสศ. พบว่า เด็กยากจน-ยากจนพิเศษที่เรียนชั้น ม.3 ในปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 165,585 คน โดยนักเรียน 1 ใน 5 คน จะหลุดจากระบบการศึกษาเมื่อพ้นการศึกษาภาคบังคับ และในรอยต่อสำคัญอีกช่วงหนึ่งคือเมื่อเรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. พบว่า 2 ใน 3 คน จะออกจากระบบเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีเพียง 13.49% เท่านั้นที่เข้าสู่มหาวิทยาลัย

“หากมองว่าการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างอนาคต เด็กเยาวชนเหล่านี้ กำลังสูญเสียโอกาสที่จะมีอนาคตแตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ของเขา และหากยังติดอยู่ในวังวนของการหลุดออกจากระบบการศึกษา ความเสี่ยงที่ตามมาก็คือ มีโอกาสสูงมากว่าพวกเขาจะติดอยู่ในกับดักความยากจนข้ามรุ่น ส่งผลให้เกิดปัญหาภูมิคุ้มกันของชุมชนตามมา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเรื่องท้องในวัยเรียน และปัญหาต่าง ๆ มากมาย” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่าอีกกรณีที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ทำงาน และไม่อยู่ในการฝึกอบรมใด ๆ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม NEETs ซึ่งมีจำนวนอยู่กว่า 1.4 ล้านคน แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพเป็นอนาคตของชุมชนท้องถิ่น แต่กลับขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชนผ่านการศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพ และการมีงานทำ

กสศ. จึงแบ่งกลุ่มเป้าหมายของการทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเป็น 1) เด็กยากจนและด้อยโอกาส หรือมีอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา เช่น เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เด็กที่มีความพิการ 2) ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา หรือไม่ได้อยู่ในระบบในโรงเรียน เช่น ผู้เรียนในศูนย์การเรียน ผู้ที่ต้องการเรียนรู้ทักษะอาชีพ 3) กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็กปฐมวัย นักเรียนทุนต่าง ๆ เช่น ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง, ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ, ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ,ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน รวมถึงล่าสุดคือทุน ODOS ที่มุ่งเน้นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีความสามารถแต่ขาดโอกาส เพื่อให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  และ 4) เด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจหลุดจากระบบการศึกษา หรือไม่เคยได้รับการบันทึกข้อมูลในระบบ

ดร.ไกรยส ชี้ให้เห็นว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ยูเนสโกได้ประเมินว่า หากไทยบรรลุเป้าหมาย Zero Dropout สำเร็จตาม SDG4 จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้นปีละ 1.7% 

ในส่วนของการศึกษายังสัมพันธ์กับรายได้โดยตรง เช่น วัยแรงงานที่ใช้วุฒิการศึกษาระดับ ป.6 จะมีรายได้เฉลี่ยที่ 9,136 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้มีปริญญาตรีมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาทต่อเดือน

“เป้าหมายประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า ที่จะยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชากรไทยเป็น 38,000 บาทต่อเดือนนั้นอาจมีทางลัด หากเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนน้อยลง เมื่อเด็กคนหนึ่งในชุมชนได้รับกลไกการปกป้องจากชุมชนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือผลตอบแทนที่คุ้มค่า”

ดร.ไกรยส ยังชี้ว่า จากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. พบว่าหากสามารถดึงเด็ก ม.3 ที่หลุดระบบในช่วง ม.4 จำนวน 33,547 คนกลับมาเรียนต่อได้ จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 409 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราผลตอบแทน (IRR) ราว 9% ใกล้เคียงกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้า หรือการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาโครงการที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับ 9-12 % ผลตอบแทนดังกล่าวยังไม่นับรวมผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) ในเชิงมหภาคของการศึกษาที่เพิ่มขึ้น เช่น อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ลดลงในช่วงชั้นที่สูงขึ้น จะส่งผลให้คุณภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสุขภาพประชากรจะแข็งแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์นี้อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น นโยบายของรัฐบาล ระบบเศรษฐกิจ และความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของประชากร ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ประชากรมีจำนวนการศึกษาเฉลี่ย 13 ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 240,000 บาท ขณะที่ฮ่องกงมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย 12 ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนประมาณ 143,172 บาท สะท้อนให้เห็นว่า “การศึกษา” และ “ทุนมนุษย์” คือภูมิคุ้มกันสำคัญของทั้งชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อน

“การสร้างทุนมนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเผชิญข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากร เวลา และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคของ AGI (Artificial General Intelligence) หรือซูเปอร์อินเทลลิเจนซ์ภายใน 5–10 ปีข้างหน้า

“ภาพอนาคตของการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยจึงเต็มไปด้วยความท้าทาย คำถามสำคัญคือ เราจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร และชุมชนท้องถิ่นของไทยจะมีบทบาทในการพัฒนาโลกในศตวรรษหน้าได้อย่างไร คำตอบเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันขบคิดและลงมือทำ”

ดร.ไกรยส กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อไม่ให้มีเด็กหรือเยาวชนคนใดถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในชุมชนท้องถิ่น

กสศ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 11 หน่วยงาน และเชื่อมโยงข้อมูลระดับรายบุคคลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ทุกหน่วยงานและทุกชุมชนท้องถิ่นสามารถทราบว่าในพื้นที่ของตนมีเด็กคนใดอยู่นอกระบบการศึกษา ขณะนี้ข้อมูลที่ได้สามารถระบุตัวบุคคลได้ทั้งชื่อ–สกุล และบ้านเลขที่ โดยมีอาสาสมัครในชุมชนช่วยชี้เป้า สนับสนุนการค้นหาและติดตามเด็กนอกระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ไกรยส เน้นว่า หากไม่เร่งขับเคลื่อนเรื่องนี้ เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบราว 900,000 คน ก็จะยังคงถูกทิ้งไว้เช่นเดิม แม้การแก้ปัญหาจะซับซ้อน แต่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดมาตรการ ติดตาม–ช่วยเหลือ–ส่งต่อ–ดูแล พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเหมาะสม โดยต้องอาศัยกลไกชุมชนท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญ

การดำเนินการนี้มีกลไกระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกลไกระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับกลไกระดับตำบลเพื่อค้นหาและพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและการมีงานทำอย่างยั่งยืน

ทีมสหวิชาชีพในชุมชนถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์สาเหตุของการหลุดจากระบบในแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนล่าช้า ความไม่ยืดหยุ่นของระบบ หรือปัจจัยทางครอบครัว 

ดร.ไกรยส ยังชี้ว่า กลไกสำคัญในการป้องกันเด็กหลุดจากระบบไม่ใช่เพียงการให้ทุน แต่คือระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นผ่านกลไกชุมชนและกลไกระดับตำบลที่สามารถออกแบบรูปแบบการช่วยเหลือรายบุคคลได้อย่างตรงจุด 

ที่ผ่านมา กสศ. มีต้นแบบการทำงานหลากหลายเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ในชุมชน 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 พื้นที่เรียนรู้จากฐานอาชีพในชุมชน สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ กลไกพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ต้นแบบต่าง ๆ เหล่านี้คือการพัฒนาตาข่ายทางการศึกษาเพื่อรองรับไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบ และมีทางเลือกอื่นรองรับหากไม่สามารถไปโรงเรียนตามระบบได้

นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญ เช่น แสนสิริที่ออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหา Zero Dropout ที่ จ.ราชบุรี และ KFC ที่ร่วมพัฒนาโมเดลการเรียนรู้ในสถานพินิจ เปลี่ยนเด็กที่เคยพลาดพลั้งให้กลับมามีอนาคตที่มั่นคงผ่านการศึกษาและอาชีพ

สุดท้าย ชุมชนท้องถิ่นทุกแห่งสามารถร่วมกันสร้าง Zero Dropout Area หรือพื้นที่ที่ไม่มีเด็กถูกลืม ไม่มีใครไม่ถูกมองเห็น โดยใช้อำนาจตามเทศบัญญัติในการจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย แม้ไม่ใช่ในโรงเรียนก็สามารถเรียนรู้ได้ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมได้ร่วมกันสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กทุกคนยังมีเส้นทางเดินต่อไปในชีวิต เพราะอนาคตของเด็ก คือ อนาคตของเราทุกคน