ครม. รับทราบรายงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปี 2565 ช่วยเด็ก เยาวชน ประชาชนด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาแล้ว 1.4 ล้านคน

ครม. รับทราบรายงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปี 2565 ช่วยเด็ก เยาวชน ประชาชนด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาแล้ว 1.4 ล้านคน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (6 มิถุนายน 2566) รับทราบรายงาน ประจำปี 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในภาพรวม สามารถช่วยเหลือเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา รวม 1,396,208 คน โดยมีการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วน : ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยระดมเงินบริจาคจากภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ นักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ป.6 และ ม. 3 จำนวน 103,987 คน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา จำนวน 302 คน ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ขอนแก่น ยะลา และกรุงเทพมหานคร

2. การดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่


2.1 กลุ่มเด็กปฐมวัย (ระดับการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.1-ม. 3)
– โครงการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ทุนเสมอภาค) เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน และป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง ม. 3 ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการศึกษา ด้วยการอุดหนุนงบประมาณโดยตรงให้กับผู้เรียน ในสถานศึกษา 5 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 1,307,152 คน


2.2 กลุ่มเยาวชน ในระดับการศึกษา สูงกว่าภาคบังคับ
โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และสำเร็จการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับ ปวช. หรือเทียบเท่า ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและส่งเสริมให้ได้งานทำ เมื่อสำเร็จการศึกษา จำนวน 4 รุ่น รวม 6,599 คน


– โครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ (ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ กลุ่มเยาวชนในระดับชั้น ปวช. หรือ ปวส. ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ผลการเรียนดีในระดับประเทศได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษา ในระดับอุดมศึกษา (ป.ตรี-โท-เอก) จำนวน 4 รุ่น รวม 123 คน


2.3 กลุ่มเยาวชน นอกระบบการศึกษา และประชากร วัยแรงงาน
-โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชน และแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส โดยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา รูปแบบการจัดการศึกษาโดยชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการ ของกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความจำเป็น ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ระดับตำบล จำนวน 110 แห่ง ในพื้นที่ 56 จังหวัด


2.4 กลุ่มครู โรงเรียน และหน่วยจัดการเรียนรู้
-โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน (ครูรัก(ษ์)ถิ่น) เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจน หรือด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่มีผลการเรียนดีและมีจิตวิญญาณความเป็นครูได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์และได้รับการบรรจุเป็นครูในโรงเรียนท้องถิ่นของตนเอง จำนวน 3 รุ่น รวม 863 คน


-โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง) เพื่อพัฒนาโรงเรียน ครู และบุคลากร ทางการศึกษาทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นต้นแบบในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการและการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ จำนวน 13,281 คน และนักเรียนจำนวน 174,364 คน ได้รับการพัฒนาแล้ว


-ดำเนินโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อมุ่งพัฒนาสมรรถนะครู จำนวน 685 คน (ครอบคลุมโรงเรียนที่มีอยู่ 68 แห่ง ใน 22 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ) ให้สามารถจัดการเรียนรู้ เสริมทักษะทางวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตรวมทั้งส่งเสริมอาชีพของนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ

-โครงการต้นแบบการพัฒนาสมรรถนะครูนอกระบบการศึกษา จำนวน 210 คน ส่งผลให้เกิดต้นแบบกลุ่มครูประจำการ ต้นแบบกลุ่มครูนักพัฒนา และต้นแบบกลุ่มครูจิตอาสา


-โครงการขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้โดยเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 315 คน ซึ่งเป็นการสร้าง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญร่วมกัน และการร่วมคิดค้นเครื่องมือหรือกลไกที่สามารถนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

3. การดำเนินงานเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการทำงานระดับพื้นที่และการประเมิน เพื่อการพัฒนา โดยคาดหวัง ให้เกิด “แผนบูรณาการระดับจังหวัด” ครอบคลุม 12 จังหวัด ทั่วประเทศ เช่น จ. แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา พิษณุโลก และสุโขทัย

4. การวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษา : พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวม 24 ชิ้นงาน ครอบคลุม งานวิจัยด้านนวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และงานวิจัยด้านการประเมินผล

สำหรับรายงานการเงินของกองทุนฯ ณ สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2565 รวมสินทรัพย์สูงกว่ารวมหนี้สิน รวม 2,854.31 ล้านบาท