กสศ.-สพฐ. ผนึกพลังครู เดินหน้า ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ดึง 13 ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่น นำการเรียนรู้ถึงเด็ก เปิดเทอมนี้ไม่มีใครหลุดระบบ

กสศ.-สพฐ. ผนึกพลังครู เดินหน้า ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ดึง 13 ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่น นำการเรียนรู้ถึงเด็ก เปิดเทอมนี้ไม่มีใครหลุดระบบ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนโมเดล “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” พร้อมผลักดัน 13 ทางเลือกการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ที่ครูและโรงเรียนทั่วประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามบริบทของพื้นที่และความหลากหลายของผู้เรียน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนต้องหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้น 2 รอบ ระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2568 มีครูและผู้อำนวยการสถานศึกษาจาก 1,146 โรงเรียนสมัครเข้าร่วม พร้อมด้วยผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาและผู้สนใจจากทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการนำแนวนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษา

โมเดล “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ได้รับการประกาศเป็นแนวปฏิบัติสำหรับโรงเรียนทุกแห่งในสังกัด สพฐ. โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและยืดหยุ่น ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 15 เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตจริงของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจมีข้อจำกัดในการเข้าเรียนแบบปกติ

ขณะเดียวกัน สพฐ. และ กสศ. ยังเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout และ OBEC Zero Dropout อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมาตรการสนับสนุนด้านงบประมาณและการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคล เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเรียนอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพและบริบทชีวิตของตนเอง

พัฒนะ พัฒนทวีดล

นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ พร้อมขอบคุณผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่ให้ความร่วมมือในการร่วมพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ซึ่งกำลังขยายผลจากโรงเรียนต้นแบบไปสู่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

รองเลขาธิการ สพฐ. ระบุว่า โมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่นนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และเป็นแนวทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2568

“เป้าหมายของการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่คือการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตของเด็กทุกคน และเหมาะกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวต่อว่า สพฐ. มีนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ซึ่งเปิดทางให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 29,152 แห่งทั่วประเทศ จึงสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความหลากหลายของผู้เรียน ทั้งในด้านเวลาเรียน วิธีการสอน และการวัดประเมินผล เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เต็มที่ตามบริบทชีวิตของตน

ปัจจุบันมีโรงเรียนต้นแบบจำนวน 54 แห่งใน 16 เขตตรวจราชการที่เริ่มดำเนินงานตามโมเดลนี้แล้ว และยังมีโรงเรียนอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการสมัครเข้าร่วม โดย สพฐ. ตั้งเป้าหมายให้ขยายผลครอบคลุม “หนึ่งอำเภอ หนึ่งสถานศึกษาที่ยืดหยุ่น” ให้ได้ในทุกพื้นที่

รองเลขาธิการ สพฐ. ย้ำว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่เปิดพื้นที่ให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาได้แลกเปลี่ยนแนวทาง นำประสบการณ์จากโรงเรียนต้นแบบไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน เพื่อให้การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเกิดขึ้นจริง

“หัวใจสำคัญของ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ คือการจัดการจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความจำเป็น และศักยภาพของแต่ละคน เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่เหมาะสมเต็มตามศักยภาพ”

นอกจากนั้น สพฐ. ยังเดินหน้าผลักดันโครงการ “พาน้องกลับไปเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับชาติ “Thailand Zero Dropout” โดยร่วมมือกับ กสศ. ในการดำเนินงานเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1. ค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. ติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบแบบรายกรณี โดยประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ พัฒนาการ ความเป็นอยู่ และบริบทครอบครัว
3. จัดการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
4. สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านแนวคิด “Learn to Earn” สำหรับเยาวชนอายุ 15-18 ปี โดยเปิดโอกาสให้เรียนรู้ควบคู่กับการฝึกทักษะอาชีพ และสามารถมีรายได้ระหว่างเรียน

รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สพฐ. พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนที่มีความตั้งใจในการร่วมขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมกับชีวิตของตนเองอย่างเสมอภาคและยั่งยืน

“ไม่ว่าเด็ก ๆ จะมีข้อจำกัด ปัญหาชีวิต หรือภาระส่วนตัวอย่างไร นับจากนี้ไม่จำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาอีกต่อไป เพราะระบบการศึกษาไทยได้เปิดโอกาส เปิดทางเลือก ให้กับทุกคนอย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสมเป็นรายบุคคล”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า นโยบายการศึกษาที่ยืดหยุ่นที่ประกาศโดยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นับเป็นก้าวสำคัญที่มีความหมายและคุณค่ายิ่งต่อผู้บริหารสถานศึกษาและคุณครูทั่วประเทศ

“นโยบาย Thailand Zero Dropout ที่นายกรัฐมนตรีประกาศ โดยตั้งเป้าหมายให้จำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเหลือศูนย์นั้น เป็นนโยบายที่มีกฎหมาย มีการกำกับติดตาม และได้รับมติคณะรัฐมนตรีรองรับอย่างเป็นทางการ จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ทั้งจากยูเนสโกและยูนิเซฟ”

ศ.ดร.สมพงษ์ ย้ำว่า ทิศทางการศึกษานี้ไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนจากเบื้องบน แต่เป็น “การเปลี่ยนแปลงที่ระเบิดจากภายใน” โดยคนในแวดวงการศึกษาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กไทย เป็นสิ่งที่ครูและผู้บริหารควรรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วม เพราะเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความพยายามและความมุ่งมั่นในระยะยาว

“การตามเด็กกลับมาเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กที่หลุดจากระบบไปแล้วมักต้องเผชิญชีวิตจริง และกลับเข้าสู่ระบบได้ยาก แต่วันนี้ ครูและผู้บริหารสามารถมั่นใจได้ว่านโยบายใหม่นี้ ตอบโจทย์ชีวิตเด็ก ตอบโจทย์ครู และตอบโจทย์สถานศึกษาได้จริง”

ศ.ดร.สมพงษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น คือการเปลี่ยนมุมมองจากระบบโรงเรียนที่แข็งตัว ไปสู่การออกแบบการเรียนรู้แบบปัจเจก ที่ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดแนวทางการเรียนรู้บนพื้นฐานของความสนใจ ความต้องการ และสภาพปัญหาของแต่ละคน เพื่อพัฒนาเด็กได้เต็มตามศักยภาพ

“สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง หากเรายืนกรานให้พวกเขากลับเข้าสู่ระบบแบบเดิมอย่างเข้มงวด พวกเขาอาจหายไปจากระบบอีกครั้ง การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นจึงต้องเป็นการเรียนแบบประคับประคอง เป็นการดูแลที่เข้าใจชีวิตและความเป็นจริงของเด็กอย่างแท้จริง”

ศ.ดร.สมพงษ์ระบุว่า โมเดล “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ถือเป็น “ร่มใหญ่” ที่สนับสนุนแนวทางนี้ให้เกิดขึ้นจริง และเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมอีก 13 รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนสามารถเลือกใช้ตามบริบทพื้นที่และความเหมาะสมของผู้เรียน

“13 รูปแบบนี้ช่วยให้ครูและผู้บริหารมีความมั่นใจมากขึ้น ว่าการทำงานในแต่ละพื้นที่สามารถเลือกแนวทางที่เหมาะกับเด็กกลุ่มเปราะบางได้จริง และทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและนโยบาย”

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า เปิดเทอมนี้ เด็กหลายคนจะได้รับข้อมูลใหม่จากครูว่า “การเรียน” ไม่ได้หมายถึงแค่การไปโรงเรียนฟรีเท่านั้น หากแต่เด็กที่ไม่มีเงินไปเรียนยังสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินจาก กสศ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลและสลากการกุศล

สำหรับเด็กปฐมวัยที่อยู่นอกระบบ จะได้รับเงินสนับสนุน 2,000 บาทต่อคน เด็กประถม 3,000 บาทต่อคน และมัธยมต้น 4,000 บาทต่อคน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือรับการเรียนรู้อย่างเหมาะสมในพื้นที่ที่พวกเขาอยู่

“เด็กบางคนอาจมีภาระงาน ไม่สามารถมาโรงเรียนได้ทุกวัน โรงเรียนจึงต้องมีแนวทางในการประคับประคองชีวิตให้พวกเขายังอยู่ในระบบการศึกษา เปิดโอกาสให้เรียนรู้ตามความเป็นจริงของชีวิต”

ศ.ดร.สมพงษ์ทิ้งท้ายว่า ช่วงเปิดเทอมปีการศึกษานี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ครูและผู้บริหารต้องร่วมกันเปลี่ยนโอกาสทางการศึกษาของเด็กทั้งประเทศให้เป็นจริง เป็นช่วงเวลาสำคัญที่มีคุณค่าและความหมายอย่างยิ่ง

นรินธรณ์ เซ่งล้ำ

นายนรินธรณ์ เซ่งล้ำ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบและช่องทางทางกฎหมายที่เอื้อต่อการออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคล ซึ่งสามารถปรับให้สอดคล้องกับศักยภาพ ความสามารถ และความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน โดยระบบนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจผู้เรียนในมิติที่หลากหลาย และสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น

“ปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 54 โรงเรียน ใน 16 เขตตรวจราชการที่เป็นโรงเรียนต้นแบบจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ครอบคลุมทุกภูมิภาค และมีโรงเรียนจำนวน 1,146 แห่งที่สมัครพัฒนาโมเดลการศึกษาที่ยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ซึ่งพร้อมที่จะบูรณาการดำเนินงานแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา”

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุเพิ่มเติมว่า ภายใต้กฎหมายการศึกษาในปัจจุบัน โรงเรียนทุกแห่งในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศสามารถดำเนินการตามแนวทาง “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังสามารถนำ 13 ทางเลือกการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ที่ สพฐ. ได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไปปรับใช้กับผู้เรียนแต่ละรายให้เหมาะสมตามสภาพชีวิตและความจำเป็นเฉพาะบุคคล

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวปิดท้ายว่า สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักจะเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมกับความต้องการของโรงเรียน และตอบสนองต่อสถานการณ์ของผู้เรียนให้ได้ดีที่สุดต่อไป