‘เติมสีสันสดใส ในพื้นที่แห่งโอกาส’ เนรมิตห้องสมุดใหม่ให้น้อง ๆ อนุบาลสวนผึ้ง ชิ้นส่วนงานเล็ก ๆ จากภารกิจ ‘ราชบุรีโมเดล’

‘เติมสีสันสดใส ในพื้นที่แห่งโอกาส’ เนรมิตห้องสมุดใหม่ให้น้อง ๆ อนุบาลสวนผึ้ง ชิ้นส่วนงานเล็ก ๆ จากภารกิจ ‘ราชบุรีโมเดล’

แสนสิริ กสศ. TOA ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง พร้อมด้วยเทศบาลชุมชนตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ร่วมปรับปรุงห้องสมุดใหม่ต้อนรับปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ที่ กสศ. จับมือกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ปักหมุดดำเนินงานในจังหวัดราชบุรี ตั้งเป้าลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ในเวลา 3 ปี

เปลว ปุริสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง

เปลว ปุริสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้งกล่าวว่า ทางโรงเรียนรู้สึกยินดีที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทแสนสิริ ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย และบริษัท TOA ที่ช่วยเหลือในการนำสี และช่างเทคนิคมาดูแลที่หน้างาน จนแผนการสำเร็จลุล่วง        

“เรือนห้องสมุดหลังเก่าของเราอยู่ในพื้นที่ต่ำ มีน้ำท่วมขัง และทรุดโทรมตามเวลา จนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้งานของเด็ก ๆ เรามีแผนที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยดัดแปลงอาคารไม้ด้านหน้าที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของโรงเรียน ให้เป็นห้องสมุดหลังใหม่ แต่ยังติดที่เรื่องงบประมาณ จนวันนี้ที่แสนสิริ กสศ. และ TOA เข้ามาร่วมสนับสนุนทรัพยากร ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่พนักงานของแสนสิริมาช่วยกันปรับพื้นที่ ลอกผนังเก่าและทาสีใหม่ทับ ทำให้แผนที่วางไว้ลุล่วงไปด้วยดี ทั้งยังมีการนำสมุดหนังสือมาบริจาคให้เด็ก ๆ ด้วย เชื่อว่าเมื่อเปิดเทอมใหม่มาถึง เด็ก ๆ จะตื่นเต้นดีใจกันมากกับห้องสมุดหลังใหม่”

หนุนภารกิจ ‘ราชบุรีโมเดล’
เด็กต้องไม่หลุดกลางคัน มีทางรองรับ และจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อนุบาลสวนผึ้งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส รับนักเรียนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง ชั้น ม.3 ผอ. ระบุว่า แม้จะตั้งอยู่ในเขตตัวอำเภอสวนผึ้ง แต่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ยังมีความด้อยโอกาส มีเด็กชาติพันธุ์หลายกลุ่ม โรงเรียนจึงต้องมีมาตรการติดตามช่วยเหลือให้เด็กไปต่อในการศึกษาได้ ตามความเหมาะสม

“เด็กของเราจบ ป.6 แล้วต่อมัธยมได้ 100% แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ช่วง ม.ต้น หลายคนเริ่มทำงานช่วยเหลือครอบครัว พวกงานรับจ้างในไร่ หรือตามรีสอร์ท เราจึงต้องติดตามเด็กตลอด เพราะบางคนเริ่มมาเรียนบ้างไม่มาบ้าง มีแววเสี่ยงหลุดจากระบบกลางทาง

“เบื้องต้นคือวางแนวทางร่วมกับผู้ปกครองว่าเด็กต้องไม่ทิ้งการเรียน มีการ MOU กับวิทยาลัยสารพัดช่างทำหลักสูตรระยะสั้นฝึกวิชาชีพคู่ขนานกับการเรียนสามัญปกติ ซึ่งพอเขามีพื้นฐานอาชีพ เราจะช่วยให้เด็กได้ทำงานพิเศษในสถานประกอบการ นำรายได้เข้าบ้านอีกทางหนึ่ง พอจบ ม.3 ก็มีอีก MOU กับวิทยาลัยการอาชีพปากท่อ รับเด็กเรียนต่อด้วยทุนเรียนฟรี มีรถรับส่งสัปดาห์ละครั้ง มีหอพัก อาหาร ไปจนถึงจบ ปวช. ก็สนับสนุนต่อ ให้มีงานทำตามความสนใจและความถนัด”

หรือสำหรับคนที่ยังไม่พร้อมไปต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจริง ๆ ทางโรงเรียนก็มี MOU กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหลักสูตรอบรมระยะสั้น 2 เดือน ควบฝึกงานอีก 1 เดือน แล้วส่งต่อเข้าทำงานได้ทันที โดยมีประกาศนียบัตรและสถานประกอบการรองรับ

“มีเด็กคนหนึ่งที่จบ ม.3 ไปแล้วเราพบว่าเขาไม่ได้เรียนต่อ เขาไปลงเรือทำงานรับจ้างอยู่ที่จังหวัดประจวบ ฯ พอติดต่อได้ก็ลองชวนเขากลับมาเรียน กศน. หรือลองฝึกอาชีพ แต่เขาบอกว่ายังไม่พร้อม ถ้ามาเรียนตอนนี้ก็ไม่มีเงินดูแลที่บ้าน เราก็เก็บการติดต่อเอาไว้ก่อน คุยกับเขาเรื่อย ๆ จนพองานซาลง ตอนนี้เขาพร้อมแล้วที่จะมาลองฝึกอาชีพระยะสั้น นี่คือกระบวนการเก็บเด็กไว้ในอีกทางหนึ่ง แล้วถึงเวลาที่เขาต้องการเราก็พากลับมาได้”

น้อง ๆ อีกกลุ่มที่ ผอ. ยืนยันว่าทิ้งไม่ได้เลย คือเด็กที่ต้องการการเรียนรู้พิเศษ หรือบกพร่องทางการเรียนรู้ในทางใดทางหนึ่ง ทางโรงเรียนได้นำกิจกรรมดนตรีและกีฬาเข้ามาเสริม นอกเหนือจากโครงงานพื้นฐานอาชีพและทักษะด้านการเกษตร ที่สนับสนุนต่อเนื่องอยู่แล้ว

“เรามีพื้นที่เสมอสำหรับเด็กที่เรียนรู้ช้า หรืออาจไม่ถนัดเรียนวิชาการเท่าไหร่ อย่างน้อยการให้เขาได้อยู่ในโรงเรียนจนมีวุฒิ ได้รับการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็นเกราะป้องกันได้ส่วนหนึ่ง เมื่อเขาพ้นรั้วโรงเรียนออกไปในวันข้างหน้า”

ความร่วมมือจากภาคเอกชน จะช่วยก่อรากฐานระบบจัดการที่ยั่งยืน

ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง กล่าวถึงความตั้งใจของบริษัทแสนสิริ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ที่วางแผนในการเปลี่ยนจังหวัดราชบุรี ให้เป็นพื้นที่ปลอดเด็กนอกระบบภายใน 3 ปี ว่า การมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องทุน จะช่วยทำให้เกิดระบบการจัดการที่เหมาะสมกับบริบท   

“แต่ละโรงเรียนในพื้นที่ของเรามีรูปแบบปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้ามีหน่วยงานเข้ามาลงพื้นที่ สืบค้นสาเหตุปัญหา ถอดบทเรียน แล้วออกแบบวิธีการดูแลช่วยเหลือเด็ก จะทำให้เรามีโมเดลต้นแบบที่หลากหลาย ให้โรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ สามารถนำไปเลือกปรับใช้ได้ตรงกับความต้องการได้

ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภายนอกจะเป็นการเติมพลังทั้งในด้านทรัพยากร สื่อ วัสดุอุปกรณ์การเรียน และเป็นขวัญกำลังใจที่ดี ให้กับบุคลากรทางการศึกษาตรงหน้างาน ให้ได้รับรู้ว่ายังมีภาคีที่พร้อมเกื้อหนุนการทำงานไปด้วยกันในระยะยาว ไม่ใช่เพียงไฟไหม้ฟางผ่านมาแล้วผ่านไป”

สมัชชา พรหมสิริ Chief of Staff บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน)

สมัชชา พรหมสิริ Chief of Staff บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงกิจกรรมปรับปรุงห้องสมุดให้น้อง ๆ อนุบาลสวนผึ้งว่า “ขอขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้งทุกคน ขอบคุณบริษัท TOA พันธมิตรใจดีที่อนุเคราะสี ทีมช่าง และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการบูรณะห้องสมุดให้น้อง ๆ ในวันนี้ และต้องขอบคุณทีมงานแสนสิริ ที่สละเวลามาช่วยกันทำงานเล็ก ๆ ที่แสดงถึงความร่วมมืออันยิ่งใหญ่ ในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ดีขึ้นไปด้วยกัน

โครงการ ‘Zero Dropout’ คือการช่วยกลุ่มเด็กด้อยโอกาสไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ที่เราทำงานร่วมกับ กสศ. ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ให้คำแนะนำปรึกษา ให้ความรู้เบื้องต้นกับเราว่า วาระสำคัญเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษาของประเทศเรา มีอยู่มากมายกว่าที่เห็นนัก

สิ่งที่เราทำวันนี้ เป็นเรื่องเล็กน้อยที่จะประกอบเป็นภาพใหญ่ อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของโครงการคือการพาเด็ก ๆ คืนสู่ระบบ และไม่มีใครหลุดออกไปอีก หวังว่าวันนี้ทุกท่านจะอิ่มเอมใจไปด้วยกัน และขอให้ติดตามกิจกรรมต่อไปที่แสนสิริจะทำร่วมกับ กสศ. ที่เราเชื่อว่าจะเป็นต้นแบบในการนำความร่วมมือจากภาคเอกชนอื่น ๆ เข้ามาเสริมพลังการทำงานให้แข็งแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไป”