กสศ. ชวน 3 เมืองต้นแบบ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์พัฒนา ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ สู่สังคมแห่งความเสมอภาค ด้วยพื้นที่เรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

กสศ. ชวน 3 เมืองต้นแบบ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์พัฒนา ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ สู่สังคมแห่งความเสมอภาค ด้วยพื้นที่เรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และจังหวัดพะเยา ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) จัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ ‘คนสร้างเมือง เมืองสร้างคน ร่วมสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ สู่สังคมแห่งความเสมอภาคและเท่าเทียม’ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้แทนจาก 2 เมืองที่ได้รับรางวัล UNESCO Learning City Award Winner 2021 ได้แก่ เมืองดาเมียตตา (Damietta) ประเทศอียิปต์ และเมืองวินด์แฮม (Wyndham) ประเทศออสเตรเลีย ร่วมด้วยผู้แทนจากจังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก

ทั้งนี้ หัวข้อสัมมนาเรื่องคนสร้างเมือง เมืองสร้างคนฯ เป็นหนึ่งในหลักสูตร ‘นักจัดการเรียนรู้’ ภายใต้โครงการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ.

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. มีกรอบการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงไปยังประเด็นหนึ่งหรือปัญหาหนึ่ง (Issue-Based) อาทิ ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพครู การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา หรือการดูแลเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ในระยะยาว ขณะที่ในกระบวนการทำงานเรื่อง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ นั้น ถือเป็นการขยับการทำงานไปสู่ระดับพื้นที่ (Area-based) เพื่อให้คณะทำงานมองเห็นชีวิตของกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นองค์รวม และสามารถออกแบบการทำงานให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในทุกมิติและทุกช่วงวัย 

การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ยังเป็นการทดสอบและค้นหาว่าในแต่ละพื้นที่ต้องใช้แนวคิด ข้อมูล หรือเครื่องมือใดที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงออกแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมได้อย่างยั่งยืน และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำงานเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ ยังหมายถึงการที่เมืองเมืองหนึ่งจะได้มี ‘เพื่อนคู่คิด’ หรือภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศเดียวกัน จนถึงระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อเป็นต้นแบบ เป็นคู่คิดในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.

นอกจากนี้ กสศ. คาดหวังว่าการได้รับฟังเรื่องราวผ่านบทเรียนการทำงานในพื้นที่หนึ่ง จะเป็นการจุดประกายให้เมืองอื่น ๆ หรือจังหวัดอื่น ๆ สนใจ ตื่นตัว และมีแรงบันดาลใจในการปลุกพลังคนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาเมืองไปด้วยกัน ซึ่งหากเป็นดังนั้น เชื่อว่าคนเล็กคนน้อยในสังคมที่ตกหล่น ที่ไม่ถูกมองเห็น ก็จะได้รับการดูแลโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

“ภาพที่เราเห็นร่วมกันจากต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งดาเมียตตา วินด์แฮม และขอนแก่น ซึ่งแม้จะแตกต่างด้วยขนาด ทรัพยากร สภาพแวดล้อม หรือประเด็นปัญหา แต่จุดร่วมหนึ่งที่ทั้ง 3 เมืองให้ความสำคัญ คือการเอาใจใส่ดูแลคนตัวเล็ก ๆ ในสังคม ทั้งเด็กเยาวชน ผู้ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง คนพื้นเมือง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ จนถึงคนต่างเชื้อชาติต่างภาษา โดยเฉพาะในด้านการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองตลอดชีวิต ซึ่งหมายถึงการให้โอกาสกับคนทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ผ่านการระดมข้อมูลและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน 

“เหล่านี้คือตัวแบบที่ทำให้เราเห็นกระบวนการ เห็นการสร้างเครื่องมือ เห็นความพยายามในการหาทางออกจากปัญหา และแสดงให้เห็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกคนในเมืองได้มีโอกาสแสดงความคิด ร่วมพัฒนา และร่วมออกแบบเมืองในแบบที่แต่ละคนอยากเห็น เมื่อนั้นคือการบ่งบอกได้ถึงความสำเร็จของเมืองเมืองหนึ่ง ว่าสามารถพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนได้จริง”

โคลูด กามาล เอลฮามาดี อิบราฮิม (Kholoud Gamal Elhamady Ibrahim)
จากสำนักผู้ว่าการเมืองดาเมียตตา ประเทศอียิปต์

โคลูด กามาล เอลฮามาดี อิบราฮิม (Kholoud Gamal Elhamady Ibrahim) จากสำนักผู้ว่าการเมืองดาเมียตตา ประเทศอียิปต์ กล่าวว่า ดาเมียตตามีแนวคิดในการพัฒนาเมืองผ่านโครงการ ‘Safe City’ ตั้งแต่ปี 2012 โดยเชิญคนในเมืองมาช่วยกันกำหนดทิศทางจนได้ข้อสรุปร่วมกัน จากนั้นได้สร้างพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ ฝึกอบรม และทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทุกคนในเมืองสามารถเข้ามาด้วยความรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจว่าจะได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นคว้าของเด็กเยาวชน มีกิจกรรมเวิร์กช็อปผู้ปกครอง มีกิจกรรมเฉพาะสำหรับผู้พิการและผู้มีความต้องการพิเศษทุกกลุ่ม มุ่งเน้นเรื่องสันทนาการและเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ นอกจากนี้ดาเมียตตายังทำ MOU กับมหาวิทยาลัยและบริษัทขนาดใหญ่ในเมือง เพื่อระดมทรัพยากรเพิ่มเติมมาสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมระดับท้องถิ่น 

“Safe City คือการกันพื้นที่หนึ่งในเมืองไว้สำหรับการพัฒนาตนเองของผู้คน เป็นพื้นที่ให้ชาวเมืองได้มาแสดงความคิดเห็น มีการจัดการและดูแลที่พิเศษ สำหรับกลุ่มผู้หญิง เด็กเยาวชน ผู้มีความต้องการพิเศษ และเป็นพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในชีวิต อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่จัดขึ้นจะเน้นความหลากหลาย เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ ได้พัฒนาการเรียนรู้ ทักษะชีวิต สามารถปรับตัวเข้าสู่สังคม และค้นพบหนทางที่แต่ละคนจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพร่วมกันได้” 

ชาริน วีทครอฟต์ (Sharyn Wheatcroft)
จาก Learning Community Officer เมืองวินด์แฮม ประเทศออสเตรเลีย

ชาริน วีทครอฟต์ (Sharyn Wheatcroft) จาก Learning Community Officer เมืองวินด์แฮม ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า เมืองวินด์แฮมมีลักษณะเฉพาะคือความผสมผสาน ระหว่างการเป็นมหานครใหญ่กับพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเติบโตเร็ว โดยมีทั้งชาวพื้นเมืองดั้งเดิม (First Nations) และผู้เข้ามาอยู่ใหม่ทั้งจากรัฐอื่นในออสเตรเลีย รวมถึงมีคนอีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากกว่า 162 ประเทศทั่วโลก วินด์แฮมจึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และมีความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

“วินด์แฮมมีเด็กเกิดใหม่สัปดาห์ละ 110 คน มีอัตราส่วนประชากรจำนวนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีการศึกษาสูง มีทักษะการทำงานที่ดี เป็นเมืองที่มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก โดยหลังจากสภาเมืองวินด์แฮมรับแนวคิดจาก UNESCO เรื่องการพัฒนาชุมชนด้วยการสร้างฐานการเรียนรู้ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน หรือ Learning Community Strategy และสร้างภาคีเครือข่ายการทำงานขึ้นจากหลายฝ่าย เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เสมอภาค ทั่วถึง ถ้วนหน้า เนื้อหาสำคัญคือการจัดการศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่ม เหมาะกับความต้องการและระดับความสามารถที่หลากหลาย

“เราพบว่าการลดช่องว่างทางการศึกษาต้องดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อฟังความคิดเห็น ความต้องการ และร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม ตัวอย่างของการทำงานด้านการศึกษาของวินด์แฮม คือการสนับสนุนผู้พิการให้ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง โดยทำงานผ่านการสำรวจความต้องการ แล้วส่งเสริมในสิ่งที่แต่ละคนทำได้ พร้อมเติมเต็มส่วนที่ขาด จากนั้นจึงนำข้อมูลมาออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายภาคีที่มีความถนัด ชำนาญ และมีทรัพยากรเฉพาะทาง” 

ตัวแทนจากเมืองวินด์แฮม กล่าวว่า หลักการในการกระจายการเรียนรู้ให้ทั่วถึง ต้องเน้นไปที่กลุ่มเข้าถึงยากและต้องการความช่วยเหลือเฉพาะทาง โดยต้องมีคณะทำงานที่ลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อพบปะสนทนา เก็บข้อมูลความต้องการ นอกจากนี้การทำโครงการต้องคำนึงถึงปัญหาเฉพาะ เช่น วินด์แฮมเป็นเมืองที่ขยายตัวเร็ว มีคนใหม่ ๆ ย้ายเข้ามามาก จึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมห้องเรียนสองภาษา หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กเกิดใหม่ เช่น การพัฒนาทักษะการดูแลเด็ก โดยโครงการหรือกิจกรรมทั้งหมดจะต้องเกิดจากการฟังเสียงความต้องการของชุมชน มองปัญหา และทางแก้ร่วมกัน พร้อมรับฟังว่าอะไรคือสิ่งที่ชุมชนอยากเห็น ต่อจากนั้นคือการสร้างเครือข่ายให้คนเข้ามามีส่วนร่วมและต้องมีการผลักดันเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง มีโครงการใหม่ ๆ และแผนการรองรับอนาคตอยู่เสมอ

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย จากบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคที) จำกัด กล่าวว่า ‘ขอนแก่นพัฒนาเมือง’ จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน คือ ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน สื่อสารมวลชน และประชาชน มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามแนวทางของจังหวัด ซึ่งเป็นอิสระจากการกำหนดของส่วนกลาง โดยมีแนวคิดเรื่องการแสวงหาทุนจากภายนอก เช่น ธนาคารโลก (World Bank) และทุนจากประเทศอื่น ๆ มีการจัดตั้งกองทุนผู้มีรายได้น้อย และเตรียมผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำกำไรจากตลาดหุ้น อันเป็นการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการใช้ ‘ตลาดทุน’ รวมถึงนำเงินทุนส่วนนี้มาใช้พัฒนาเมืองในอนาคต

“เริ่มจากวันที่มีแผนงาน แต่ขาดงบประมาณ วันนี้ขอนแก่นสามารถระดมทุนได้จากหลายทาง และเตรียมแผนพัฒนาเมืองในอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ สนับสนุนผู้ประกอบการและคนทำงานทุกสาขาอาชีพให้ได้รับการพัฒนา เพราะการจะกำจัดความยากจนให้ถึงราก อย่างแรกคือคนต้องมีความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส ทั้งการศึกษา แหล่งทุน อาหารปลอดภัย การพัฒนาทักษะ โดยประเด็นเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชนด้วยการศึกษา เป็นเรื่องที่จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญที่สุด นำมาสู่ความร่วมมือกับ กสศ. ในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของเด็กเยาวชน” 

สุรเดช กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ได้มีการเก็บข้อมูลเด็กตกหล่นและเสี่ยงหลุดจากระบบ เพื่อวางแผนการดูแลช่วยเหลือเป็นรายกรณี นอกจากนี้ยังได้วางแผนพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยที่เชื่อมต่อโดยตรงกับแผนพัฒนาเมือง 

“เพราะเราตระหนักว่า เด็กเยาวชนคือลูกหลานของเมือง และจะเป็นทรัพยากรสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองในอีก 20 ปีถัดไปจากนี้”